สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผัวซ้อมเมีย ...ใครว่าสังคมไม่เกี่ยว?

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

"ผัวซ้อมเมีย"...ใครว่าสังคมไม่เกี่ยว?

ภาพหญิงสาวรายหนึ่งเปลือยท่อนบนโชว์ร่องรอยฟกช้ำดำเขียวทั่วใบหน้า แขนขา และลำตัว ซึ่งถูกระบุว่าเป็นฝีมือของแฟนหนุ่ม กำลังถูกวิจารณ์อย่างครึกโครมในโลกโซเชียล

ส่งผลให้กระแสต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง

"หึงหวง-เมา-ใจอ่อน"บ่อเกิดความรุนแรง

จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ระหว่างปี 2550-2556 มีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรง ต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาลถึง 117,506 ราย เฉลี่ยปีละ 23,501 ราย วันละ 87 ราย หรือก่อเหตุทุก 20 วินาที

ตัวเลขน่าตกใจกว่านั้นคือ 38 % ของผู้หญิงที่เป็นภรรยา ถูกสามีของตัวเองทำร้าย

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เปิดเผยว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความหึงหวง ตามมาด้วยเมาเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และยาเสพติด

" 80 % ของผู้หญิงที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ มาจากความหึงหวงผู้หญิงที่เป็นบุคคลที่สาม  ยกตัวอย่างเช่น สามีภรรยาไปทานข้าวนอกบ้าน จู่ๆมีโทรศัพท์เข้ามาเป็นเสียงผู้หญิง ภรรยาถามว่าเป็นใคร สามีเริ่มหงุดหงิด ไม่ตอบ หลังจากนั้นทั้งคู่กลับมาบ้าน แต่สามีกลับไม่ขึ้นนอน อ้างว่าจะออกไปหาเพื่อน ภรรยาจึงสงสัยซักไซ้ถามว่าจะไปหาผู้หญิงที่โทรศัพท์มาใช่ไหม สามีเลยหงุดหงิด เมื่อโดนรุกเข้าหนักๆก็โมโห กลายเป็นโต้เถียงกัน หนักเข้าก็ลงไม้ลงมือ"

เหล้าและยาเสพติด ก็อาจเป็นตัวเร่งสถานการณ์ให้ลุกลามเลวร้ายยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

"นอกจากนี้ ทัศนคติที่มีต่อผู้หญิง การเลี้ยงดู และประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็กก็มีส่วน บางคนมีความเชื่อผู้ชายต้องเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่าปิตาธิปไตย เคยคุยกับสามีที่ชอบทำร้ายทุบตีภรรยา เขาจะพูดทำนองว่า "เมียมีหน้าที่รับคำสั่ง กูสั่งยังไง มึงต้องทำตาม ห้ามเถียง มึงไม่ใช่แม่กู แม่กูยังไม่กล้าสั่งกูเลย บางคนเป็นลูกโทน ถูกเลี้ยงมาแบบตามใจมาตลอด ใครขัดใจไม่ได้ ต้องโมโห หากแต่งงาน นั่นหมายความว่าผัวคือเจ้านาย เมียต้องทำตาม  ขณะที่บางคน สมัยเด็กเคยถูกทุบตีประจำ เวลาทำไม่ได้ดั่งใจ จึงอาจกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบในเวลาต่อมา"

สุเพ็ญศรี ยกตัวอย่างกรณีศึกษารายหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า

"มีอยู่เคสนึง เวลากินเหล้าเมา ใครพูดอะไรก็ผิดหูไปหมด แต่ผิดหูเฉพาะกับลูกเมียเท่านั้น กับคนอื่นไม่ถือสา ไม่เคยเตะเพื่อน หมายังไม่เคยเตะ แต่กับลูกเมียนี่ทั้งต่อยทั้งเตะ ยิ่งกว่ากระสอบทราย ผู้หญิงหลายคนโดนสามีซ้อมเป็นประจำ ถึงขนาดต้องหอบเสื้อผ้าหนี ฝ่ายสามีตามง้อคืนดีจนกลับมา แต่ท้ายที่สุดก็ลงมือทำร้ายอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีทางออก

ถามว่าผู้หญิง "ใจอ่อน" ขนาดนั้นเชียวหรือ?

"ใช้คำว่า "ใจอ่อน" ไม่ได้หรอก อยากให้เปลี่ยนทัศนคติใหม่"สุเพ็ญศรีพูดเสียงดัง ก่อนเล่าต่อว่า "มีผู้หญิงบางคนถูกซ้อมเป็นประจำแต่ก็ยังไม่เลิกกับสามี เราพบว่าเธอมีความเชื่อว่าเป็นเมียต้องอดทน แต่งงานกันแล้วยิ่งมีลูกเป็นโซ่คล้องใจก็ต้องอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต หย่าถือเป็นบาป ส่วนเจ้าสามีตัวดีก็ล้วนพูดซ้ำๆว่า "แม่จ๋า พ่อขอโอกาส แม่จ๋า ถ้าแม่แจ้งความ ถ้าแม่จากไป ลูกจะเป็นเด็กกำพร้า” เมียที่มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่ จึงต้องก้มหน้ากัดฟันอยู่ต่อไป ภายใต้การทำร้ายตบตี"

ชำแหละวัฒนธรรม"ผัว"เป็นใหญ่

นัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร นักรณรงค์ด้านสิทธิสตรี อธิบายว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศ

"ผู้หญิงที่เป็นเมียจะอยู่ในกรอบแห่งความกลัว และความกังวล แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปที่ยังไม่ได้เป็นเมียใคร ซึ่งเวลาถูกใครทำร้ายตบตีก็จะไม่ยอม สวนกลับทันที เอาเรื่องถึงที่สุด แต่คนเป็นเมีย พอถูกทำร้ายปุ๊บ กลับลังเล คิดแล้วคิดอีกที่จะไปแจ้งความ ขณะเดียวกันตำรวจที่รับแจ้งความก็คิดมากเช่นกันในการรับแจ้งความคดีทะเลาะวิวาทของผัวเมีย กลับมีท่าทีปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ แถมยังตั้งคำถามทำนองว่า คุณไปด่าเขาก่อนรึเปล่า คุณไปทำอะไรเขาเขาถึงได้ตบเอาให้ อย่าว่าแต่ตำรวจเลย เพื่อนบ้าน แม้กระทั่งคนเป็นพ่อแม่เองก็ยังปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ เวลาลูกสาวโดนผัวซ้อม หอบลูกหอบเต้ากลับมา กลับพูดว่าเป็นเมียเขา แต่งงานกันแล้ว ก็ยอมๆไปเถอะ แต่ถ้าคนทำร้ายไม่ใช่ผัว พ่อแม่จะโมโหเป็นฟืนเป็นไฟ ทั้งหมดนี้มาจากแนวคิดว่า การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจากอ้อมอกพ่อแม่ไปอยู่อ้อมอกสามี มันเปลี่ยนสถานะ ความเชื่อ ความศรัทธาของคนๆหนึ่งให้กลายเป็นวัตถุสิ่งของที่อยู่ภายใต้การครอบครองของสามี ภรรยาต้องอยู่ในสภาวะจำยอม นี่คือมรดกทางความคิดอันตกทอดมาจากรุ่นปู่รุ่นย่าที่อยู่ในตัวผู้หญิง"

นัยนา ตั้งคำถามดังๆว่า ทุกคนยอมได้อย่างไรที่ปล่อยให้ผู้หญิงที่เป็นเมียถูกสามีทำร้าย โดยไม่สนใจไยดี

ขณะเดียวกัน เรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงโชคร้ายบางคนคือ โดนซ้อมเจ็บตัว แถมยังถูกข่มขู่คุกคามจากสามี หรือคนรักซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพล พูดง่ายๆว่าหมดหวังจะไปพึ่งใคร

จากการเปิดเผยของ จะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำจากสามีซึ่งเป็นคนใหญ่คนโต มีอำนาจอิทธิพล มักจะมีท่าทีหวาดกลัวมากกว่ากรณีอื่นๆ

"หลายครั้งผู้หญิงที่โทรมาร้องทุกข์จู่ๆก็จะหายเงียบไป ทั้งที่ช่วงแรกๆจะเอาเรื่องเต็มที่ เป็นไปได้ว่าอาจจะกลัวอิทธิพลของสามี กลัวถูกทำร้าย วิธีแก้ไขปัญหาของที่ผู้หญิงกลุ่มนี้จะไม่นิยมแจ้งตำรวจ แต่จะใช้วิธีหาผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมีอิทธิพลพอๆกับอีกฝ่าย หรืออีกฝ่ายให้ความเคารพเกรงใจมาช่วยไกล่เกลี่ย สุดท้ายหมดที่พึ่งจริงๆก็จะฟ้องนักข่าว เมื่อเป็นข่าวปุุ๊บ อีกฝ่ายจะไม่กล้าทำอะไรบุ่มบ่าม เพราะเกรงจะเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ เสื่อมเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล"

นัยนาบอกว่า ผู้หญิงสามารถหยุดยั้งความรุนแรงได้ตั้งแต่ต้น นั่นคือ หลีกเลี่ยงผู้ชายที่มีประวัติชอบให้ความรุนแรง

"ถ้าเรารู้ว่าแฟนเคยมีประวัติใช้ความรุนแรง ก็ต้องบอกตัวเองว่าเรารู้จักผู้ชายคนนี้ดีพอหรือยัง การใช้ความรุนแรงของผู้ชายคนนี้ สถานการณ์ข้อเท็จจริงในขณะนั้นเป็นยังไง ถ้ารักใครสักคน ต้องมั่นใจว่าผู้ชายคนนั้นจะไม่ใช้ความรุนแรงกับเรา ไอ้ความรุนแรงที่มันเกิดขึ้น ตัวผู้หญิงเองก็มีส่วนที่ทำให้ผู้ชายคิดว่าเขาสามารถใช้ความรุนแรงกับเราได้ ดังนั้นวิธีที่จะยับยั้งคือ ต้องไม่ยอมจำนน คุณต้องตั้งหาคำตอบให้ได้ว่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนตัวเอง กลัวน้อยลง กล้าหาญมากขึ้น ต้องทำอย่างไร ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดมรดกทางความคิดที่รับมาจากรุ่นย่ารุ่นยาย แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองซะ"

พอกันทีคำว่า"เรื่องผัวเมีย คนอื่นอย่ายุ่ง"

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีอย่างสุเพ็ญศรี แนะนำภรรยาทั้งหลายว่า หากถูกสามีทำร้าย จนไม่สามารถทนได้อีกต่อไป สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ 2 แนวทาง นั่นคือ แจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีตามพรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 หรือยื่นคำร้องเพื่อขอคุ้มครองสวัสดิภาพต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ในท้องที่ที่เกิดความรุนแรงขึ้น

"ระดับเบาๆ คือแค่ตบตี มีแผลฟกช้ำดำเขียวเล็กน้อย ไม่กี่วันก็หาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 สามารถยอมความได้ ส่วนกรณีถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม อาการสาหัส ต้องหยุดพักรักษาตัวเกินกว่า 20 วัน แขนขาหัก พิการ ตาบอด หรือถึงขั้นเอาน้ำกรดสาด ราดน้ำมันจุดไฟเผา  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 แบบนี้ยอมความไม่ได้"

ทั้งนี้ หากภรรยารายใดโดนคุกคาม ไม่ว่าจะส่งเอสเอ็มเอส ไลน์ เฟซบุ๊ก ขู่ทำร้าย ขู่ฆ่า จนก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตราย ควรยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอคำสั่งห้ามให้สามีเข้าใกล้อย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม สำหรับคู่ที่จดทะเบียนสมรส การฟ้องหย่าไม่ใช่ทางเลือกทางเดียวในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

"มีหลายทางเลือก เริ่มจากแยกกันอยู่ ระหว่างนั้นก็เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพ ซึ่งมีหลายแบบ เช่น ให้ทำเงื่อนไขข้อตกลงกัน โดยหาวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามี ไม่ว่าจะก้าวร้าว ชอบความรุนแรง ติดเหล้า ติดยาก็ให้เข้าโครงการบำบัด ส่วนภรรยา เราก็เอาผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้หญิงที่เคยถูกกระทำมาให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เราใช้วิธีไกล่เกลี่ย ไม่ชี้นำ เมื่อครบกำหนดเวลา หากตกลงกันได้ ก็กลับไปอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม หากไปด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องหย่า เพราะคนไม่รักกันแล้วอยู่ด้วยกันยิ่งมีแต่ทำร้ายกันเปล่าๆ"

สุดท้าย หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ฝากไปยังพลเมืองดีว่า หากพบผู้หญิงทุกทำร้าย ต้องเข้าช่วยเหลือทันที

"โดยส่วนตัว เวลาเจอสามีภรรยาต่อล้อต่อเถียงกัน และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรง จะใช้วิธีไปยืนมองอยู่ข้างๆเลย ให้เขารู้สึกตัวว่ามีสายตาสังคมจับตามองเขาอยู่ บางครั้งเห็นชัดว่าลงไม้ลงมือ การเข้าไปห้ามก็ต้องระมัดระวัง จะเข้าไปหลายคน จะแจ้งตำรวจ แจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือโทรสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ขณะในนั้นด้วย"

ลืมคำว่า "เรื่องของผัวเมีย คนอื่นอย่ายุ่ง" แล้วรีบช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด 


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,##สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผัวซ้อมเมีย ใครว่าสังคมไม่เกี่ยว

view