สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก เครือข่ายต่างประเทศ (2)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratt.worldpress.com

กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำธุรกิจค้าปลีกไทยบุกเบิกสร้างเครือข่ายในต่างประเทศโดยเฉพาะที่ยุโรป สะท้อนยุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างตื่นเต้นเร้าใจอย่างมาก ๆ

ธุรกิจห้างสรรพสินค้ากลุ่มเซ็นทรัล เปิดฉากแผนการใหม่แผนการใหญ่ที่ยุโรป เป็นแผนการเชิงรุกทางธุรกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเลยก็ว่าได้ โดยใช้เวลาเพียง 4 ปี กลุ่มเซ็นทรัลสามารถมีเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในเมืองสำคัญกว่า 10 เมือง ใน 3 ประเทศหลัก อิตาลี เยอรมนี และเดนมาร์ก

ปี 2554 เป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มเซ็นทรัลได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคในทวีปยุโรป โดยการเข้าซื้อกิจการกลุ่มห้างสรรพสินค้าชั้นนำในประเทศอิตาลี-La Rinascente ถือเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับแผนการลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่เข้มข้นขึ้น (โปรดอ่านรายละเอียดจากตอนที่แล้ว) ตามมุมมองเชิงบวก ด้วยแผนการเชิงรุกอย่างกระตือรือร้น



กรณี La Rinascente เป็นดีลใหญ่ มีนัยสำคัญต่อแผนการยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล

---La Rinascente เป็นเครือข่ายห้างสรรพสินค้าเก่าแก่อายุมากกว่า 150 ปี มีสาขามากถึง 10 แห่งในเมืองสำคัญของอิตาลี ทั้งที่ Milan Monza Padova Torino Genova Firenze Caglari Palermo Catania และอีก 2 สาขาที่ Rome

---กลุ่มเซ็นทรัลสามารถเข้าถือหุ้น La Rinascente ได้อย่างเบ็ดเสร็จ (100%) มีอำนาจการบริหารอย่างเต็มที่

---ที่สำคัญมิติหนึ่งที่ควรกล่าวถึง ดีลนี้ได้ทีมบริหารที่มีความสามารถมาด้วย นำโดย Vittorio Radice ผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะเข้ากอบกู้กิจการ La Rinascente ที่มีปัญหาในช่วงประมาณ 5 ปีก่อนหน้านั้น และมีส่วนสำคัญให้ดีลนี้เกิด เขาเป็นชาวอิตาเลียนที่พำนักอยู่ในลอนดอน มีประสบการณ์บริหารธุรกิจค้าปลีกมาแล้วประมาณ 20 ปี กับธุรกิจชั้นนำโดยเฉพาะห้างในอังกฤษ รวมทั้ง Habitat Marks and Spencer และ Selfridges ทั้งนี้ Vittorio Radice ซึ่งมีอายุมากกว่าทศ จิราธิวัฒน์ ประมาณ 7 ปี กลายเป็นผู้บริหารคนสำคัญในยุทธศาสตร์ยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัลไปแล้ว

---La Rinascente จึงกลายเป็นฐานของกลุ่มเซ็นทรัลในแผนการใหญ่ ขยายเครือข่ายธุรกิจทั่วยุโรปในขณะนี้

ปี 2556 กลุ่มเซ็นทรัลรุกต่อเข้าสู่ภูมิภาคสแกนดิเนเวีย เข้าซื้อ Illum ห้างสรรพสินค้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศเดนมาร์ก มากกว่า 120 ปี ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงCopenhagen

ในช่วงกลางปี 2558 เพิ่งผ่านมานี้ กลุ่มเซ็นทรัลรุกต่อสู่เยอรมนี ตามแผนธุรกิจที่ปรับใหม่เพื่อลดความเสี่ยง เฉกเช่นเดียวกับการลงทุนใหม่ในภูมิภาคอาเซียน นั่นคือ มุ่งแสวงหาพันธมิตรธุรกิจ กลุ่มเซ็นทรัลได้ลงนามในสัญญาเพื่อเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรธุรกิจ เพื่อเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ใจกลางเมืองใหญ่ในประเทศเยอรมนีถึง 3 แห่ง คือ KaDeWe (Berlin), Oberpollinger (Munich) และ Alsterhaus (Hamburg) โมเดลธุรกิจกิจการร่วมทุน ระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลกับ SIGNA Group (กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในยุโรป ถือครองอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก) ในสัดส่วน 50.1/49.9

กลุ่มเซ็นทรัลใช้เงินลงทุนในยุโรปไปมากทีเดียว เฉพาะที่ La Rinascente ก็มากกว่า 260 ล้านยูโรหรือประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าเครือข่ายในยุโรปจะสร้างรายได้ต่อปี มากถึง 1,200 ล้านยูโรหรือเกือบ ๆ 50,000 ล้านบาท ในขณะที่ภาพใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล แถลงว่ายอดขายรวมทั้งเครือปี 2557 มีมากถึง 2.5 แสนล้านบาท

ความจริงแล้วแผนการยุโรป ควรมีความหมาย เป็นภาพสะท้อน และส่งผลกระทบเชิงซ้อนแก่กลุ่มเซ็นทรัล นอกเหนือไปจากเป้าหมายธุรกิจโดยทั่ว ๆ ไป

ทศ จิราธิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ไว้ตอนหนึ่งสะท้อน "ความหมาย" และ "คุณค่า" ทางธุรกิจในบางมุมอย่างน่าสนใจ "การสร้างเครือข่ายที่ยุโรปเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น กับซัพพลายเออร์หลักในยุโรป" ต้องถือว่าเป็นการต่อยอดประสบการณ์ธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ยุคก่อตั้ง อ้างอิงรสนิยมและวิถีชีวิตสมัยใหม่ผ่านสินค้ายุโรป

"กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมี่ยมและหรูหราในภาคพื้นยุโรปและเอเชียโดยมี Flagship Stores ที่หรูหราและมีเอกลักษณ์ทั้งสิ้น 7 แห่ง (ได้แก่ La Rinascente Milan, La Rinascente Rome, Illum Copenhagen, KaDeWe Berlin, Oberpollinger Munich, Alsterhaus Humburg และเซ็นทรัล ชิดลม เซ็นทรัล เอ็มบาสซี กรุงเทพฯ) ซึ่งทุกแห่งล้วนตั้งอยู่ในอาคารที่เป็นแลนด์มาร์กของแต่ละเมือง" สาระอีกตอนหนึ่งที่สำคัญ (แปล เรียบเรียงและตัดตอนมาจากข่าวแถลงของกลุ่มเซ็นทรัล ในหัวข้อ Central Group acquire three premium depart-ment stores in Germany, Bangkok, June 9, 2015--- http://www.centralgroup.com/) สะท้อนความหมายในหลายมิติ ควรแก่การอรรถาธิบายเพิ่มเติม

การอ้างอิง "เซ็นทรัล ชิดลม" กับ "เซ็นทรัล เอ็มบาสซี" เชื่อมโยงกับสถานการณ์บางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป "เซ็นทรัล ชิดลม" เป็นบทเรียนตกผลึกของธุรกิจครอบครัวตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้นำธุรกิจค้าปลีกได้ก้าวเข้าสู่รุ่นที่สอง ภายใต้การนำของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ (บิดาของทศ จิราธิวัฒน์) รุ่นที่มีบทบาทนำในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ทศวรรษ

"เซ็นทรัล ชิดลม เป็นตำนานความสำเร็จของ "ห้างสรรพสินค้า" ในการตอบสนองวิถีชีวิตสมัยใหม่ ของสังคมกรุงเทพฯ ซึ่งมีแรงกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตลอดยุคสงครามเวียดนาม แม้ว่าอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความยุ่งยากทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งก็ตาม ต่อจากนั้นธุรกิจ "ห้างสรรพสินค้า"(Department Store) กลายเป็นกระแสหลักอันเชี่ยวกรากธุรกิจค้าปลีกไทย" ผมเคยนำเสนอไว้ในตอนต้น ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น "เซ็นทรัล ชิดลม" สะท้อนการแข่งขันทางธุรกิจอันทรงพลังในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ

ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เปิดตัวขึ้นก่อนเซ็นทรัล ชิดลม อยู่ฝั่งตรงข้ามสยามสแควร์ ด้านถนนพระราม 1 ถือกันว่าศูนย์การค้าทันสมัยแห่งแรกของเมืองไทยเป็นอาคารขนาดใหญ่ สูง 4 ชั้น ประกอบด้วยผู้ค้ารายย่อย ๆ ที่พยายามสร้างแบรนด์ท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสยามสแควร์ ขณะที่ห้างเซ็นทรัล ชิดลม มีสินค้าจำนวนมากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแบรนด์ระดับโลก เป็นไปตามรสนิยมคนกรุงเทพฯ เป็นกระแสที่สูงขึ้น ๆ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม ที่หรูหรา ทันสมัย จึงสร้างแรงดึงดูด โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคระดับบนได้มากกว่าศูนย์การค้าในย่านใกล้เคียส่วนกรณีเซ็นทรัล เอ็มบาสซี สะท้อนสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป ด้วยปรากฏโฉมหน้าคู่แข่งสำคัญ

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมครั้งใหญ่ ตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองหลวง หนึ่ง-ต่อขยายโครงข่ายทางด่วนยกระดับซึ่งดำเนินมาก่อนหน้านั้น (2524-2530) ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯมากขึ้น ตามแผน ระบบทางด่วนขั้นที่ 2 หรือที่เรียกว่า ทางพิเศษศรีรัช เปิดบริการได้ในช่วงปี 2536-2539 การเดินทางโดยรถยนต์ของผู้คน จากชุมชนชานเมืองที่เติบโตขึ้นมาก เข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯจึงสะดวกขึ้น สอง-การเกิดขึ้นของระบบขนส่งมวลชนระบบรางครั้งแรกในกรุงเทพฯ-บีทีเอส ดำเนินการโดยบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือชื่อเดิม-ธนายง ในช่วงตลาดหุ้นบูมตั้งแต่ปี 2531 และในปี 2533 สร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้าลอยฟ้า

การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมเป็นแรงผลักดันสำคัญ สร้างภูมิศาสตร์เศรษฐกิจกรุงเทพฯใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และธุรกิจได้เคลื่อนย้าย จากย่านสำนักงานธุรกิจถนนสีลม มายังศูนย์กลางจับจ่ายใช้สอยอาณาบริเวณหัวถนนพระราม 1 ตัดกับสี่แยกปทุมวัน

กลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน เข้ามาปักธงยึดตำแหน่งที่ดีที่สุด ศูนย์กลางจับจ่ายใช้สอยใจกลางกรุงเทพฯไปอย่างคาดไม่ถึง ไม่เพียงเซ็นทรัล ชิดลม ได้เคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งที่ดีที่เคยเป็นเซ็นทรัล เอ็มบาสซี สะท้อนความพยายามใหม่ เข้ายึดพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่สำเร็จ

แต่แล้วเซ็นทรัลได้ก้าวข้ามเกมเดิม สู่เดิมพันใหม่ ใหญ่กว่า และมองการณ์ไกล


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก เครือข่ายต่างประเทศ (2)

view