สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พรก.ยกเว้นการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร 2558 ยื่นดีไหม

พรก.ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการ เกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ยื่นดีมะ

นิพนธ์ กาญจนพิพัฒน์กุล


        ถึงจะไม่ทันสมัยแต่คงไม่ช้าเกินไป เพราะยังไม่ถึงกำหนดที่เขาให้ยื่น ผมอ่านประกาศฉบับนี้กับบทความต่างๆ ทั้งที่เป็นอินโฟกราฟฟิค ทั้งเนื้อหาใจความ ดีๆทั้งนั้น มีคนเขียนกันเยอะแสดงความคิดเห็นกันก็แยะ  

ทั้งลูกค้า ทั้งเพื่อน โทรคุยกัน ไลน์คุยกันให้วุ่นว่า

ยื่นดีมะ

ผมก็เลยขอคิดเบาๆบ้าง อ่านแล้วคงรู้ว่าผมยุให้ยื่นหรือไม่ให้ยื่น

1.เขาบอกว่าอย่างไร
      1.1.มีรายได้ไม่เกินห้าร้อยล้านบาทที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา
      1.2.มีกำหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558
      1.3. ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559
      1.4.ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
          1.4.1นิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวล รัษฎากรโดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
          1.4.2บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าพนักงาน ประเมิน ตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ดำเนินการก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
          1.4.3บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมหรือเป็นผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกระทำการหลีกเลี่ยงการ เสียภาษีอากร โดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร
          1.4.4บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนชั้นพนักงานอัยการ หรือชั้นศาล


“ราย ได้" ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ ซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏด้วยว่า เจ้าพนักงานประเมินยังไม่ได้เริ่มดำเนินการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร หรือยังไม่ได้ดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้น ๆ
      1.5.กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 4 ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากร ให้เจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากรมีอำนาจทำการตรวจสอบ ภาษีอากรที่ขอคืน หรือออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืน ไต่สวนประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร ทั้งนี้ ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ แล้วแต่กรณี
      1.6.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นตามมาตรา 4 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
          1.6.1 ทำการจดแจ้งต่อกรมสรรพากร
          1.6.2 ยื่นรายการในการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล พร้อมชำระภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่น รายการ ในหรือหลังวันที่ 1 มกราคมพ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
          1.6.3 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วแต่กรณี ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นตามที่ประมวล รัษฎากรบัญญัติไว้ พร้อมชำระภาษี ถ้ามี ทั้งนี้สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการที่ต้องกระทำในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
          1.6.4 ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิด แสตมป์อากร และต้องชำระเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
          1.6.5 มีการจัดทำ บัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
          1.6.6 ไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

2.อ่านแล้วต้องระวังเรื่องข้อกำหนดในประกาศเกี่ยวกับวันที่ เพราะอ่านไม่ระวังจะพลาด ประเภท ต้องกระทำในเดือน /ในหรือหลัง /ตั้งแต่ /ก่อนหรือใน /เริ่มต้นก่อน โดยเฉพาะนิติบุคคลที่รอบระยะเวลาบัญชีที่คร่อมระหว่างปีปฎิทิน ยิ่งต้องดูให้ดีครับ สั้นนิดเดียวแต่อ่านยากชะมัดปรับโหมดกันแทบแย่  555

3.เขาสั่งให้จัดทำ บัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงตั้งแต่รอบระยะเวลา บัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

หากบริษัทไปยื่นแบบแจ้งความจำนงของปี 2558 ไว้ แล้วไปทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในปี 2559 แล้ว คงเจอดีแน่ๆ เพราะเขายกในปี 2558 ให้ เพราะฉะนั้นบัญชีที่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงควรจะทำในปี 2558 ให้ถูกต้องด้วย แล้วมันเกี่ยวอะไรกับปี 2558 ก็ข้อ 6 ตามมาตรา 6 เขาบอกว่าไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับมันปี 2559 ชัดๆ ที่ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ก่อนมันก็ก็รอดซิ ลองคิดดูอีกนิดครับ ภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งปีที่เราเลี่ยงไว้ เราต้องเอามารวมยื่นใน แบบแสดงรายการ ภงด 50 ที่ผมว่าวันนี้เวลานี้ไม่มีใครยื่นซักคนแน่ๆ เพราะฉะนั้นถ้ารายการจ่ายภาษียื่นในปี 2559 โดยใช้ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มเดิมในปี 2558 ก็จ่ายไม่ครบ มันสามารถโยงไปเข้าเรื่องของการเลี่ยงภาษีได้ ก็ผิดเงื่อนไข ซิครับ
มันมีคำถามว่าแล้วกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไปหลบไว้ทั้งปี 2558 จะให้ทำอย่างไร  แหม...ก็ไปยื่นปรับปรุงให้ครบครับ ถามได้

4.อย่าลืมดู มาตรา 7 ครับ ใครเป็นประเภทคิดว่ายื่นๆไปเขายกให้ ก็ต้องคิดดูให้ดี ยื่นไปแล้วไม่ทำอธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งเพิกถอนการได้ ให้ถือว่าบริษัทไม่เคยได้รับยกเว้น และให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการตรวจสอบไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินความผิดอาญา
ประเภทขอที่ยืนในสังคม ไม่รู้กฎหมาย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คงต้องเลิก ก็เขาให้สภาพความผิด สำนึกกลับตัวกลับใจ ไม่ได้นิรโทษกรรม ยกให้ฟรีๆ เหมือนเมื่อก่อน

โอย ..... นี้มันยุค คสช. หรือเปล่า อย่างนี้เขาไม่ได้เรียก ปรับทัศนคติ  เขาเรียก ดัดสันดาน แล้วนะ .. คริ คริ

5.มาตรา 8 ก็ใช่ย่อย  แบงค์ก็ต้องทำตาม เดิมการให้สินเชื่อที่เอาบัญชีชุด 2 ยื่นเพื่อขออนุมัติ ต่อไปธนาคารทำอย่างนั้น แบงค์ชาติคงเล่นงานกันสะดวกเชียว แล้วคนที่ยื่นงบการเงินชุดสองจะเป็นอย่างไร ก็ถูกตรวจซิครับ ทั้งประเมินภาษี เงินเพิ่ม เบี้ยปรับ
ยื่นแบบแสดงรายการต่อสรรพากรเป็นเท็จ ทั้งแพ่ง ทั้งอาญา มาเป็นขบวน

ผมลองคิดดูเล่นๆ ถ้าไปแสดงเจตจำนงแล้วไม่ทำ เงินภาษี 1 เท่า เบี้ยปรับก็คงลดไม่ได้บวกไปอีกเต็มๆ 2 เท่าของเงินภาษี เงินเพิ่มต่างหากนับตามวันที่ต้องยื่นแบบ ค่าปรับทางอาญาอีก ...........ไอ้หยา นี่มันรวมกันแล้วเกือบเท่ารายได้ทั้งจำนวนเลยนี้หว่า ยังไม่รู้ว่าจะมีติดคุกแถมมาด้วยหรือเปล่า

6.เขายกเว้นภาษีนะครับ แล้วตอนนี้ก็รู้แล้วว่าค้าขายเป็นอย่างไร ถ้ารู้ตัวว่าขาดทุนก็อย่าไปยื่น ผมคิดว่าน่าจะมีสำนักงานบัญชีบางแห่ง ให้ยื่นไว้ก่อน แล้วถ้าไม่กำไรก็ไปขอถอนคำร้องหรือทิ้ง  เชื่อเขาก็ระวังครับ วันนี้เรารู้แล้วว่ากิจการทำมาค้าขายเป็นอย่างไร เพราะเขายกเว้นบัญชี ปี 2558 ให้ยื่นระหว่าง 15/1/2559-15/3/2559 มีเวลาครับ ที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ขาดทุนหรือกำไร บัญชีเขาให้ทำทั้งปีครับ ประเภททำบัญชีปีละครั้ง ก็ระวังไว้

7.ท่านอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ปัจจุบันมี SMEs ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท อยู่ประมาณ 3.4 แสนราย ท่านหวังไว้ว่ามีบริษัทเข้าร่วมโครงการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังประมาณ 30% หรือกว่า 1 แสนราย

ถ้าคิดอย่างผม ท่านหวังน้อยไปหรือเปล่าครับ กำหนดเป้ามาอนุรักษ์นิยมมั่กๆ อย่างนี้ใครมารับช่วงต่อก็ไม่หนัก น่ารักซะไม่มี

      7.1บริษัทที่เขาเสียภาษีอย่างถูกต้องผมว่าเข้าทุกบริษัท อย่างนี้เท่ากับว่า บริษัทที่เสียภาษีทำบัญชีถูกต้อง มีไม่ถึง 30 % ท่านว่าเท่าไหร่
      7.2ผมว่าตอนนี้สำนักงานบัญชีหรือนักบัญชี เตรียมตัวอยู่หน้าเส้นสตาร์ทเตรียมวิ่งไปจดแจ้งเจตจำนงค์กันเป็นแถว ท่านคิดว่าคนกลุ่มนี้นะจะซักเท่าไหร่
      7.3ตอนนี้ใครไปจดก็ได้รับยกเว้นการตรวจสอบ กรองไปก่อนชั้นหนึ่ง ส่วนที่เหลือไม่ได้จด ก็ตายซิครับ ท่านเล่นเจ้าหน้าที่เท่าเดิม งานลดลง เวลาเยี่ยมเยอะขึ้น ส่วนใครที่ไปจดเจตจำนงค์ไว้ก็ใช่ย่อย หน่วยงานวิเคราะห์แบบมีอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเล่นงานคนไม่ได้แจ้ง งานวิเคราะห์แบบดูว่าใครที่จดแจ้งไว้มีอะไรผิดปกติ ก็ส่งชื่อให้ฝ่ายตรวจสอบไปเยี่ยม มันเป็นการเจาะจงคนที่มีปัญหาได้ดีกว่าเก่าเยอะนะครับ อีกอย่างเห็นรายงานของกรมสรรพากรมีความพร้อมพอสมควรแล้วโดนเรียกทีมีรายงานยันหน้ายันหลังยันข้างจนกระดิกแทบไม่ออก ทั้งขึ้นทั้งล่องครับ  แต่ก็ยังใจดีที่จัดทางออกให้นิดหนึ่ง ตามมาตรา 6 ข้อ 5 กับ มาตรา 8 ก็อีกละครับ ถ้าทำตามแล้ว มันมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ไปจด นอกเสียจาก อยากลองของ


ทีบอกว่าม.7 ม.8 ว่ากันตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการ เกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 นะครับ อ่านกฎหมายให้ถูกฉบับ ไม่ใช่กฎหมายอื่นครับ เดี๋ยวยุ่งตายห่า 5555



สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พรก.ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการ เกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ยื่นดีมะ

view