สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จิตวิทยากับหมอแมวน้ำ : จัดการความโกรธ เมื่อเข้าครอบงำจิตใจ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์จิตวิทยา โดย หมอแมวน้ำชะลาล่า พ.ญ. ปรานี ปวีณชนา

ก่อนอื่นป้าขออนุญาตกล่าวทักทายสวัสดีปีใหม่อย่างเป็นทางการก่อน หลังจากหายหน้าหายตาไปเกือบ 2 ปี ป้าชื่อ "ป้าแมวน้ำชะลาล่า" ป้าจะมาพบกับหลานๆเพื่อนั่งคุยกันเรื่องทางด้านจิตใจและอารมณ์ 


โดยหยิบยกเรื่องราวข่าวทั้งหลายมาวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาแบบมีหลักการ (แต่ไม่ได้จริงจังมากจนอ่านยากนะ) หากหลานๆสนใจอยากฟังเรื่องไหน หรือมีสิ่งใดอยากพูดคุย เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร สามารถส่งความคิดเห็นมาได้ที่ sealchalala@gmail.com


ข่าวเปิดประเดิมปี 2559 ที่ดูน่าสนใจและมีประเด็นให้พูดคุยกันมากมาย เห็นจะเป็นเรื่องไหนเสียมิได้ นั่นคือข่าวดีเจหนุ่มถอยรถกระบะไปชนรถสีแดงและข่าวดาราสาวคลิปตบตีหลุดออกมา 


เนื้อหาละเอียดเชิงลึกของข่าวหลานๆสามารถหาอ่านได้ ดังนั้นป้าขอไม่กล่าวซ้ำ เดี๋ยวจะกลายเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน งั้นป้าขอคุยประเด็นที่ป้าว่าน่าสนใจเลยละกัน

สองเรื่องนี้มีประเด็นร่วมกัน คือ การที่มีความโกรธเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ ทำให้นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงและดราม่า(ไม่ขอพูดเรื่องใครถูกใครผิดเพราะมิได้อยู่ในเหตุการณ์) 


อย่างเรื่องดีเจถอยรถชน ก่อนหน้าที่จะถอยรถกระมาชนคันหลังซ้ำถึง 2 ที คงมีเรื่องหมางใจที่นำไปสู้ความเกรี้ยวโกรธ เช่น ปาดเบียดรถ ท้ายที่สุดพอรถชนกันแล้วทั้งสองคันต่างก็เสียหาย แถมคนที่นั่งในรถสีแดงคงจะตกใจน่าดูตอนที่รถข้างหน้าถอยหลังมาชนซ้ำๆ 


ส่วนเรื่องดาราสาวในคลิปตบตี ชนวนของเรื่องมาจากความขัดแย้งเรื่องพ่อหนุ่มน้อยร่วมกับการด่าทอกันไปมา นำไปสู่การต่อสู้ที่ทั้งสองฝ่ายต่างบอบช้ำบาดเจ็บไปตามๆ กัน



จะเห็นได้ว่าพอมีเหตุนำกระตุ้น (Trigger) ที่ทำให้เกิดความโกรธ (Anger) หากควบคุมการแสดงออกของความโกรธไม่ได้ ผลที่ตามมา คือ ความรุนแรง (Aggression) ที่ไม่ได้ทำให้เกิดผลดีกับใครเลย (เชื่อป้าเหอะ..ป้าเรียนมา) 


นอกจากนี้การที่เราโกรธนู่นนั่นนี่บ่อยๆ มันจะส่งผลเสียต่อร่างกาย คือ ทำให้เครียดๆๆ(Stress) เจ้าตัวนี้นี่ล่ะที่มีความร้ายกาจอย่างมากในการบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผลเสียด้านร่างกาย คือ เมื่อเครียดบ่อยๆจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนผิดไปจากภาวะปกติ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย เช่น การทำงานของภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ (Low Immunity), หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ส่วนผลเสียต่อสุขภาพจิตนั้น เช่น คนที่มีความเครียดเรื้อรังนานๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า (Depression)


ในขณะที่ความโกรธที่มากเกินไปส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจได้ ในทางกลับกันการที่มีความผิดปกติทางด้านร่างกายหรือโรคทางจิตเวชเองก็ทำให้ คนคนนั้นมีความสามารถในการควบคุมความโกรธลดลงเช่นคนที่มีอาการปวด เรื้อรัง(Chronicpain)ตามตำแหน่งต่างๆของร่างกาย ส่วนโรคทางจิตเวชที่ส่งผลทำให้คุมความโกรธได้ยาก เช่น โรคระเบิดอารมณ์ชั่วคราว (Intermittent Explosive Disorder), โรคสมาธิสั้น (ADHD), โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder), โรคจิตเภท (Schizophrenia)


โดยปกติเมื่อเราได้ลองฝึกทักษะการบริหารจัดการกับความโกรธ (Anger Management) ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น (หากฝึกบ่อยๆและทำถูกวิธี) แต่หากยังโกรธอยู่บ่อยๆ มีปัญหามากมายที่ตามมาจากการแสดงของความโกรธรู้สึกทุกข์ใจไม่มีความสุขจากความโกรธของตัวเอง ป้าแนะนำว่าให้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านอารมณ์และจิตใจดู เช่น จิตแพทย์, นักจิตวิทยา เพื่อหาวิธีแก้ไขรักษาร่วมกัน ก่อนที่จะออกทะเลไปไกล ป้าว่าเรามาคุยกันเรื่อง “ทักษะการบริหารจัดการกับความโกรธ (Anger Management)” กันก่อนละกัน (ส่วนรายละเอียดเรื่องโรคต่างๆ ไว้มีโอกาสค่อยมาคุยกันอีกที)

 

วิธีการจัดการกับความโกรธที่ดีที่สุด คือ “การทำให้ตัวเองไม่โกรธ”ความคิดนี้เลอค่ามาก เพียงแต่ว่าการที่เรายังเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังละโลภ-โกรธ-หลงไม่ได้ การที่จะไม่โกรธเลยมันเป็นไปได้ยาก เราต้องยอมรับเข้าใจกันก่อน "ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ" แต่ๆๆๆ !!!


สิ่งที่สำคัญ คือ โกรธแล้วจะจัดการการแสดงออกความโกรธอย่างไรให้เหมาะสม ไม่เกิดความความเสียหายตามมา 


ขั้นแรก: สำคัญสุด คือ เราต้องรู้ก่อนว่าตัวเองกำลังโกรธ (Awareness) ยิ่งรู้ตัวเร็ว โอกาสจัดการสำเร็จก็จะสูง เพราะบางคนโกรธจนไปชกอีกคน ยังบอกว่าไม่ได้โกรธ นี่ก็ยากขึ้นมาละ วิธีสังเกตว่าตัวเองกำลังโกรธแบบง่ายๆให้   คือ สังเกตจากอาการทางกาย เช่น ใจเต้นแรง, ปากสั่น, หายใจติดขัด, ร้อนวูบวาบที่หน้า, ชาปลายมือปลายเท้า, มวนท้อง, ปวดหัว ของแบบนี้ต้องหมั่นฝึกสังเกตกันบ่อยๆ พอคล่องแล้วจะจับอารมณ์โกรธได้ไวขึ้น


ขั้นสอง: ลองสังเกตตัวเองดูว่าเรื่องแบบไหน หรือสถานการณ์แบบใดที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้โกรธ (Trigger) ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยง เพราะถ้าเจอตัวกระตุ้นให้ปรี๊ดจริงๆมันจะคุมตัวเองได้ยาก เช่น ไม่ถูกชะตากับน้องกอไก่มากถึงมากที่สุด ดังนั้นถ้ามีคนมาชวนให้เราไปเป็นเพื่อนเพื่อเคลียร์กับน้องคนนี้ ปฏิเสธได้ควรปฏิเสธไป เพราะพอไปถึงเจอกันแบบตัวเป็นๆโอกาสฟิวส์ขาดเข้าร่วมวงตะลุมบอนมีสูง หรือถ้าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ควรคิดเตรียมใจว่าจะเจอกับอะไรบ้าง เพื่อทำใจไปก่อน (Desensitization)หรือคิดแผนสำรองเลี่ยงการปะทะ เช่น ถ้าต้องไปอยู่ใกล้น้องกอไก่ระดับเผาขน ก็ควรจะเตรียมหูฟังพร้อมเพลงที่ชอบ เพื่อเบี่ยงเบนไปฟังเพลงแทนที่จะฟังเธอพูด


ขั้นสาม: หากเลี่ยงการโกรธไม่ได้ เมื่ออารมณ์มันเริ่มมากรุ่นๆ ให้รีบดับให้เร็วที่สุด ก่อนเลยจุดที่จะสามารถดับได้ ถ้าเลี่ยงออกจากตัวกระตุ้นได้ให้รีบออกมา เพื่อไปตั้งหลักสงบจิตสงบใจก่อน เช่น ถูกคู่อริด่าประจานกลางที่ประชุม รู้สึกเสียหน้าและโกรธมาก อาจขอตัวออกไปห้องน้ำก่อน แล้วใช้วิธีผ่อนอารมณ์เข้าช่วย เช่น นับ 1-10 (ถึงร้อยถึงพันก็ได้) แบบช้าๆ อย่างมีสติ, หายใจเข้าออกลึกๆ, เคาะมือ ย่ำเท้าแล้วนับไปด้วย บางคนอาจใช้วิธีเบี่ยงเบนทำกิจกรรมอื่น (Distraction) เช่น ถ้ารถถูกขับปาดแบบไร้มารยาท ควรเปิดเพลงดังๆและร้องระบายอารมณ์ในรถ แทนที่จะไปมีเรื่องใช้กำลังกับอีกฝ่าย


ขั้นสี่: กรณีแรงโกรธเหลือค้างมาก ให้ทำอะไรที่ได้ระบายออกแรงๆ (Drain aggression) โดยที่ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ/ความเดือดร้อนกับตัวเองหรือผู้อื่น และไม่ทำให้ข้าวของเสียหาย เช่น เขียนด่าในกระดาษแล้วฉีกทิ้ง (ให้เศษละเอียดๆหน่อยนะ เดี๋ยวมีคนเก็บมาต่ออ่าน), ทุบหมอนจนสาแก่ใจ **ตรงนี้ต้องระวัง** เพราะบางคนไประบายด่าทาง Social media หรือไปทำอะไรห่ามๆเพื่อความสาแก่ใจ สุดท้ายสิ่งที่ทำกลับทำให้เรื่องยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ดังนั้นตอนโกรธอยู่ พยายามอย่าตัดสินใจทำอะไรลงไปถอยไปตั้งหลักดับลดอารมณ์โกรธก่อน


ขั้นห้าหลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราโกรธทุกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ควรวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น (Root cause analysis) เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้สาเหตุ และนำไปวางแผนป้องกันการระเบิดความโกรธในอนาคต เช่น วันที่เราขับรถถอยไปชนคันอื่นซ้ำๆเพราะรู้สึกอีกคันขับได้แย่มาก ปรากฎว่าคืนก่อนหน้านั้นแทบไม่ได้นอน ซึ่งทำให้ร่างกายเพลียอ่อนล้า ขีดจำกัดความอดทนก็น้อยไปด้วย ดังนั้นถ้าวันไหนนอนน้อยก็อย่าไปขับรถ เพราะการจราจรในกรุงเทพนั้น รถขับแบบน่าโมโหจริงๆ


สรุปบทเรียนในวันนี้ คือ ความโกรธไม่ใช่สิ่งที่ผิเพราะเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ แต่ที่สำคัญสุด คือ เมื่อโกรธแล้วจะจัดการอย่างไรให้เหมาะสม ไม่เกิดผลเสียต่อตนเองและคนอื่น ป้าขอเป็นกำลังใจให้กับหลานๆทุกคนในการต่อสู้กับความโกรธของตัวเองนะจ๊ะ หมั่นฝึกไปเถิดจะเกิดผลดี..จริงๆนะ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จิตวิทยา หมอแมวน้ำ จัดการความโกรธ เข้าครอบงำจิตใจ

view