สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงเวลาปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์ โดย พงศ์นคร โภชากรณ์ p_pochakorn@hotmail.com

วันนี้ขอนำเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง จำได้ว่าเล่าสู่กันฟังมา 2-3 ครั้งแล้วตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และมีคนพูดมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเดาว่าปีนี้ตลอดทั้งปีจะมีนักวิเคราะห์เศรษฐกิจพูดถึงเรื่องนี้หนาหูมากขึ้น เพราะรัฐบาลได้ออกมาบอกแล้วว่าเราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลมากขึ้น ซึ่งตัวเลขที่ผมจะพูดถึงในวันนี้จะเป็นตัวเลขพื้นฐานที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทุกท่านต้องทราบ รวมถึงท่าน ๆ ที่ชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจจะได้เข้าใจไปด้วยกันครับ

การวัดขนาดของเศรษฐกิจ มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ทุกประเทศในโลกนี้ใช้มาตรวัดเดียวกันคือดูจาก "มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ" หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า GDP นั่นเอง โครงสร้างของ GDP ก็คือโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในด้านอุปสงค์ หรือการใช้จ่ายนั้นมักเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่

1.การบริโภคภาคเอกชน มีสัดส่วน 51% ของ GDP วัดการบริโภคอุปโภคบนสินค้าและบริการ สัดส่วนนี้ค่อนข้างคงที่มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และถือเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกคนในระบบเศรษฐกิจ เพราะทุกคนต้องใช้จ่าย ต้องกินต้องใช้

2.การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน (บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นการลงทุนภาคเอกชน) มีสัดส่วน 24% ของ GDP วัดการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้างในระบบเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐ 5% และการลงทุนภาคเอกชน 19% ของ GDP สัดส่วนนี้เคยอยู่ที่ 51% ของ GDP ในปี 2539 ก่อนจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540-2541 หลังจากนั้นลดลงมาอยู่ในระดับ 20-24% มาตลอดเกือบ 20 ปี รัฐบาลจึงประกาศให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการลงทุน เพื่อให้การลงทุนกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจในอนาคต

3.การอุปโภคภาครัฐ (บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นการอุปโภครวมกับการลงทุนของภาครัฐ) มีสัดส่วน 16% ของ GDP วัดการใช้จ่ายของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง และผลตอบแทน สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง

4.การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (การส่งออกสินค้าและบริการลบด้วยการนำเข้าสินค้าและบริการ) มีสัดส่วนเพียง 7% ของ GDP แต่ถ้าแยกออกเป็นการส่งออกสินค้าและบริการจะมีสัดส่วน 77% ของ GDP ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการจะมีสัดส่วน 70% ของ GDP สัดส่วนซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยในปี 2539 สัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 41% ของ GDP ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 53% ของ GDP สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก เศรษฐกิจเราจึงถูกเหวี่ยงไปพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นอย่างมาก

จากโครงสร้างเศรษฐกิจของเราจะเห็นว่า 1) เราพึ่งเครื่องยนต์ที่เป็นการค้าระหว่างประเทศสูงมาก (การส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการ) จนซึมซับผลกระทบทางลบมากเกินไปในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน แต่ข้อดีคือเราจะเติบโตได้ดีหากเศรษฐกิจโลกกลับมาเฟื่องฟู และ 2) เราพึ่งเครื่องยนต์ภายในประเทศในสัดส่วนที่ต่ำมากเกินไปเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการลงทุนที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริง ๆ ในอนาคต ดังนั้น เราจำเป็นต้องค่อย ๆ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยหันมาพึ่งพาการลงทุนภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อวางรากฐานการเติบโตในอนาคต และเพื่อเป็นชนวนรองรับแรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลก


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถึงเวลา ปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจไทย จริงจัง

view