สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอกาสในวิกฤต ยางพารา ดิ่งเหว

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ประเสริฐ จารึก

ขณะที่ "รัฐบาลบิ๊กตู่" กำลังมะรุมมะตุ้มแก้ปัญหาราคา "ยางพารา" ตกต่ำ โดยสั่งให้ 8 กระทรวงรับซื้อยางพารามาก่อสร้างสารพัดโครงการ

"กระทรวงคมนาคม" เป็นอีกหนึ่งกระทรวงหนีไม่พ้นจะเป็นฟันเฟืองหลักกู้วิกฤตสถานการณ์ที่กำลังคุกรุ่นในครั้งนี้

ขณะเดียวกันกำลังเป็นที่จับตาภายใต้วิกฤตราคายางพาราที่กำลังจมดิ่งครั้งนี้ จะเป็นโอกาสทองของ "ผู้ผลิตพาราแอสฟัลต์กับผู้รับเหมาก่อสร้าง" จะได้งานพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินที่ "รัฐบาล" อัดฉีดเข้าสู่ระบบการรับซื้อยางพารา

ดูจากแผนของกระทรวงคมนาคม เตรียมนำยางพารามาเป็นส่วนผสมซ่อมผิวถนนสายหลักและสายรอง มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 72,700 กม. อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสองกรมหลักอย่าง "กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท"

ในปี 2559 กระทรวงคมนาคมมีปริมาณการใช้ยางพารารวม 57,713 ตัน คิดเป็นระยะทางการก่อสร้างถนนรวม 10,363 กม. นำเงินจาก 3 แหล่งมารับซื้อ

แหล่งแรกจากงบประมาณปี 2559 ตาม พ.ร.บ.งบประมาณที่ทั้งสองกรมได้บรรจุโครงการไว้แล้ว จำนวน 19,301 ตัน คิดเป็นเงิน 9,528 ล้านบาท แหล่งที่ 2 จากงบประมาณเหลือจ่ายปี 2559 จำนวน 1,386 ตัน วงเงิน 1,350 ล้านบาท

และแหล่งที่ 3 จากงบฯเพิ่มเติม (งบกลาง) ในปี 2559 จำนวน 37,026 ตัน วงเงิน 26,280 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเลื่อนโครงการพร้อมดำเนินการปี 2560 มาดำเนินการก่อน ส่วนใหญ่เป็นโครงการแล้วเสร็จภายใน ก.ย.นี้

ว่ากันว่าวิธีการนี้นอกจากจะช่วยเหลือเกษตร ยังเป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจไปในตัว เพราะเมื่อผู้รับเหมามีงานเพิ่ม ประชาชนรากหญ้าก็มีงานทำ

สำหรับขั้นตอนการนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมบำรุงรักษาทาง ทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทไม่สามารถนำน้ำยางพาราสดตัดจากต้นจากเกษตรกรมาใช้ได้โดยตรง เพราะน้ำยางพาราสดมีเนื้อยาง 35-40% และคุณภาพยังไม่เสถียร

ต้องซื้อผ่านโรงงานผู้ผลิตยางมะตอย ปัจจุบันในตลาดมีอยู่ 8 ราย ยักษ์ใหญ่มีบริษัท ทิปโก้ แอสฟัลต์ เจ้าพ่อยางมะตอย ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ถึง 60% รองลงมาเป็นบริษัท โซล่า แอสฟัลท์ และบริษัทเชลล์

ซึ่งทางโรงงานผู้ผลิตจะไปซื้อมาจากผู้รับ ซื้อหรือโรงงานแปรรูปที่ซื้อน้ำยางพาราสดมาจากเกษตรชมรมและสหรณ์มาแปรรูป เป็นน้ำยางพาราเข้มขึ้นเพื่อนำมาผสมกับยางมะตอยในสัดส่วน 5% เป็น "พาราแอสฟัลต์และพาราสเลอรี่ซีล" ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากทำให้ต้นทุนก่อสร้างถนนสูงขึ้น 25-30% จึงนำมาใช้เฉพาะพื้นที่ เช่น ถนนมีรถบรรทุกวิ่งผ่านจำนวนมาก จุดขึ้นเขา ทางลาดชัน ซึ่งต้องการความยึดเกาะร่องล้อรถ

เพราะคุณสมบัติของการฉาบผิวถนนด้วยพาราแอสฟัลต์ ช่วยเพิ่มความฝืดของถนนได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีข้อจำกัดจะนำมาผสมเกินจาก 5% ก็ไม่ดี ต้องอยู่ในสัดส่วนที่พอดีและพอเหมาะถึงจะลงตัว

แต่เมื่อรัฐบาลสนับสนุนให้นำมาใช้ในปริมาณที่มากขึ้นน่าจะเป็นตัวเร่งให้ "ตลาดพาราแอสฟัลต์" เติบโตได้มากกว่าปีละ 5-10%

เพราะพลันที่ "รัฐบาลประยุทธ์" ประกาศจะรับซื้อยางพารามาทำถนน ทาง "ทิปโก้" เตรียมขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกเท่าตัว จาก 1.8 แสนตัน/ปี เป็น 3.6 แสนตัน/ปีมารองรับ จากปัจจุบันกำลังการผลิตในตลาดอยูที่่ 5-6 หมื่นตัน

วันนี้ปริมาณในตลาดยังไม่มาก หากไม่มีอะไรล่มกลางคัน อนาคตน่าจะสดใส


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โอกาสในวิกฤต ยางพารา ดิ่งเหว

view