สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตีความกฎหมายคับแคบ ทำร้าย บัตรทอง กองทุนปั่นป่วน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นความปั่นป่วนทันทีหลังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าการดำเนินงานหลายอย่างของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผิดวัตถุประสงค์ตามที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ยื่นให้ตรวจสอบ

ผลกระทบเป็นต้นว่า การจ่ายเงินเพื่อล้างไตทางช่องท้องให้กับผู้ป่วยยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือว่าสามารถทำได้มากน้อยขนาดไหน ไปจนกระทั่งการจัดการระบบสนับสนุนสุขภาพระดับตำบล หรือแม้แต่การจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยดึงเงินจากงบกองทุนฯ ซึ่งจะทำไม่ได้แล้ว

นั่นเพราะกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า โรงพยาบาลจะแยก “เงินบำรุง” จากกองทุนบัตรทองมาใช้จ่ายในกรณีอื่นๆ ไม่ได้ นอกจากใช้เพื่อการรักษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ที่มีการตีความอย่างเคร่งครัดมากขึ้น

เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช.มีมติขออุทธรณ์ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง เนื่องจากหาก สปสช.ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวทั้งหมด จะส่งผลกระทบกับการทำงานของโรงพยาบาล บุคลากร และผู้ป่วยทั่วประเทศอย่างหนัก

สัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการตีความดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยให้เหตุผลว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ภาคประชาชนร่วมกันต่อสู้มา โดยเฉพาะประเด็นการตีความคำว่า “ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสุขภาพ” ที่ให้จำกัดเฉพาะการรักษาโรคเท่านั้น

“เป็นการตีความแบบไม่เข้าใจเรื่องระบบบริการสาธารณสุขหรือมีอคติต่อระบบ เพราะอ้างว่าได้ฟังความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นหมอแล้วในเรื่องเหล่านี้”แถลงการณ์ของภาคีเครือข่าย ระบุ

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ บอกว่า ปัจจุบันการซื้อยาโดยคนกลางสามารถการันตีว่าผู้ป่วยจะได้ยาวันไหนและจะได้รับยาอย่างแน่นอน หากโรงพยาบาลต้องจัดซื้อเองก็อาจมีปัญหา ตั้งแต่การจัดซื้อต้องตั้งกรรมการตรวจรับตามระบบราชการ รวมถึงต้องเสียค่าจัดส่งไปยังโรงพยาบาลเอง

“ประเด็นสำคัญคือกฎหมายตัวนี้ต้องการคุมเงินไม่ให้ใช้เป็นอย่างอื่น คือให้ใช้เฉพาะค่ารักษา ส่งเสริม ฟื้นฟู ซึ่งมันเป็นการดูแลคนที่เจ็บป่วยเฉพาะรายบุคคล ส่วนคนที่ขายบริการอย่างโรงพยาบาลจะเอาเงินไปใช้อะไรก็ควรจะปล่อยเขาไป ไม่ใช่ไปคุมหมดทั้งระบบ”นิมิตร์ ระบุ

นิมิตร์ บอกอีกว่า เรื่องระบบยาถือเป็นประสบการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มายาวนานตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่ง สธ.ก็รู้ดีว่าผู้ซื้อรายใหญ่ย่อมมีอำนาจต่อรองมากกว่า และทำให้ได้ยาราคาถูกลง รวมถึงสามารถควบคุมการคอร์รัปชั่นได้ เพราะการจัดซื้อทำโดย สปสช. ไม่ได้ทำโดยโรงพยาบาลเอง ซึ่งก็น่าสนใจว่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมทำไม

ขณะที่ ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การตีความว่าเมื่อโรงพยาบาลรับเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแล้วไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้เป็นการตีความที่คับแคบ เพราะเงินจำนวนนี้ก่อให้เกิดการบริการสุขภาพ ซึ่งก็ตรงกับเจตนารมณ์ของกองทุนที่ต้องการให้ประชาชนรับการบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

สำหรับงบสร้างเสริมสุขภาพที่ห้ามทำให้เกิดบริการก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะการนำเงินไปจ้างอาสาสมัครสาธารณสุขนั้น ก็คือการสร้างองคาพยพให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และที่ผ่านมาการทำงานแต่ละอย่างก็สามารถประเมินผลได้

นอกจากนี้ เงินทุกบาทที่อนุมัติออกจากกองทุนก็ออกมาด้วยความยากลำบาก โดยต้องผ่านอนุกรรมการการเงินการคลังที่มีตัวแทน ตั้งแต่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และ สธ.พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว การตีความแบบนี้ยิ่งจะสร้างความปั่นป่วนขัดแย้งมากกว่า

“ชัดเจนว่าการที่ยอมให้คนที่ไม่รู้อะไรมาจัดการพวกเรา ตั้งแต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปจนถึง คตร. คือการทำร้ายระบบมากกว่า”ภญ.ยุพดี พูดชัด

ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ยังเชื่อว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข จะรับเรื่องนี้ไปเจรจากับคณะกรรมการกฤษฎีกาได้สำเร็จ เพราะหากปล่อยให้เกิดปัญหานี้เรื้อรังต่อไป คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงเอง

“คิดว่าในช่วงนี้ข้าราชการใน สธ. อาจกำลังดูท่าทีจากรัฐมนตรีหรือท่าทีจากรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ซึ่งผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพมากกว่าจะปล่อยให้มีการตีความการใช้กองทุนแบบผิดๆ หรือหาทางรวบอำนาจกลับไปที่กระทรวงอย่างที่เป็นมา”นพ.สุภัทร ระบุ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตีความกฎหมาย คับแคบ ทำร้าย บัตรทอง กองทุนปั่นป่วน

view