สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พลิกโฉมบางซื่อ พลิกโฉมคมนาคมไทยและอาเซียน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เปิดมุมมอง โดย สมพัสตร์ สุวพิศ TEAM GROUP

การเพิ่มขึ้นของประชากรในกรุงเทพ มหานครตลอดหลายปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดความแออัดของเมืองและการจราจรที่ติดขัด อย่างมากจากปริมาณของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับพื้นผิวจราจร ที่มีอยู่อย่างจำกัดภาครัฐจึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดระบบขนส่งทางรางที่ สามารถขนคนได้คราวละมาก ๆ และมีความตรงต่อเวลา ให้เพียงพอต่อความต้องการเดินทางของประชาชน

ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางรางเส้นทางต่าง ๆ เข้าด้วยกันนั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ศูนย์กลางคมนาคมขนาดใหญ่ ที่สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนจำนวนมาก เพื่อรวบรวมและกระจายออกไปสู่ทิศทางต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นและคล่องตัว

ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการก่อสร้าง โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ในบริเวณพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โดยมีแผนที่จะเปิดให้บริการเส้นทางระยะแรกภายในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ไกลออกไปถึง พื้นที่ปริมณฑลด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงเทพฯและในอนาคตหากก่อสร้าง แล้วเสร็จทั้งระบบก็จะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญในการทำหน้าที่เชื่อม โยงกรุงเทพฯและปริมณฑลเข้ากับจังหวัดโดยรอบ



ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทางทิศเหนือ จังหวัดฉะเชิงเทราทางทิศตะวันออก จังหวัดนครปฐมทางทิศตะวันตก และจังหวัดสมุทรสาครทางทิศใต้ ซึ่งจะทำให้การกระจายตัวของเมืองในอนาคตจะมีความคล้ายคลึงกับมหานครในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่อย่างแออัดในเมืองหลวง แต่สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยรอบ ๆ เมืองในจังหวัดใกล้เคียงที่มีพื้นที่กว้างกว่าและราคาไม่สูงมากนัก โดยสามารถเดินทางเข้ามาทำงานในตัวเมืองได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

ขณะเดียวกันการรถไฟแห่งประเทศไทยยังมีเป้าหมายจะพัฒนา สถานีกลางบางซื่อ ให้เป็นสถานีหลักแทนสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถไฟจากทั่วทุกภาคของประเทศเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้สถานีกลางบางซื่อมีบทบาทที่สำคัญในฐานะของ ศูนย์กลางระบบคมนาคมขนส่งทางราง ของประเทศ

นอกจากนี้สถานีกลางบางซื่อยังทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง การคมนาคมทางราง กับ การคมนาคมทางอากาศ ผ่านโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่เชื่อมโยงสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ตลอดจนเชื่อมต่อกับระบบคมนาคมทางรางของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง ทำให้สถานีกลางบางซื่อมีศักยภาพในการเป็น ASEAN Linkage and Business Hub สอดคล้องกับการกำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์ของประเทศให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่จะประกาศใช้ใน พ.ศ. 2560-2564

ศูนย์คมนาคมพหลโยธินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 2,300 ไร่ มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางระบบขนส่งทางราง เนื่องจากมีกลุ่มของกิจกรรมที่หลากหลายรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ได้แก่ กลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ศูนย์พลังงานแห่งชาติ เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ตลาดนัดสวนจตุจักรที่มีชื่อเสียงทั่วโลก กลุ่มกิจกรรมทางสังคม เช่น สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนจตุจักร ซึ่งเป็นพื้นที่ปอดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร

กลุ่ม กิจกรรมภาครัฐ เช่น กรมการขนส่งทางบก กระทรวงพลังงาน โรงเรียนหอวัง ที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มกิจกรรมขนส่งมวลชนซึ่งประกอบไปด้วยรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีเขียวทำหน้าที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟฟ้า เส้นทางอื่นๆที่กำลังจะแล้วเสร็จในระยะเวลาอันใกล้

เมื่อ โครงข่ายระบบขนส่งทางรางในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินแล้วเสร็จคาดว่าจะเป็น การพลิกบทบาทการคมนาคมและการใช้ที่ดินครั้งสำคัญของประเทศไทยกระตุ้นให้เกิด การพัฒนาเมืองตามหลักTransit Oriented Develop-ment (TOD) หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน โดยอาศัยการเข้าถึงที่มีประสิทธิภาพสูงของระบบขนส่งสาธารณะมาเป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนา โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุดตามศักยภาพด้วยการพัฒนาในแนวตั้งในรูปแบบผสมผสาน (Mixed use) เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมความมีชีวิตชีวาของเมือง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยการมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางที่ปลอดมลพิษ เช่น ทางเดินเท้าที่ปลอดภัย และทางสัญจรจักรยานที่เชื่อมโยงทุกส่วนของพื้นที่โครงการเข้าด้วยกัน

ในอนาคตเมื่อประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น ความต้องการในการใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลก็จะลดลง ซึ่งนั่นก็หมายถึงมลภาวะและความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่นการนำเข้าน้ำมัน และมูลค่าเวลาที่สูญเสียไปจากการเดินทางบนท้องถนนก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ใน ขณะเดียวกัน การพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์คมนาคมจะช่วยให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนที่ส่งผล ให้เกิดการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญของ รัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศให้เกิด ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ ภาครัฐในการที่จะชักจูงภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามามีส่วน ร่วมดำเนินการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อในการนี้นั้นภาครัฐจะต้อง ดำเนินนโยบายด้วยความมุ่งมั่นและมีแผนงานที่ชัดเจนในขณะเดียวกันการก้าวเข้า สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีพ.ศ. 2559 นี้ ควรที่รัฐจำเป็นจะต้องเร่งผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะหากล่าช้าออกไป

ไม่เพียงแค่ประเทศไทยจะเสียโอกาสในการพัฒนาเป็นศูนย์กลาง การคมนาคมขนส่งของอาเซียนเท่านั้นแต่ยังเป็นการชะลอโอกาสของทั้งภูมิภาคใน การเชื่อมต่อโครงข่ายระบบการขนส่งทางรางเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ร่วมกัน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พลิกโฉมบางซื่อ พลิกโฉมคมนาคมไทย อาเซียน

view