สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจาะลึก ถนนยางพารา ทนนาน12ปี ไม่มีซ่อม

จากประชาชาติธุรกิจ

กระแสบูมการแปรรูปหนุนใช้ยางพาราในรูปแบบต่างๆให้เกิด การใช้งานในประเทศ ในห้วงภาวะราคายางพาราตกต่ำสุดเป็นรประวัติการณ์ นับตั้งแต่ราคายางเริ่มดิ่งตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว (2558) โดยช่วงนั้นทีมข่าวภูมิภาคประชาชาติธุรกิจได้นำเสนอรายงานพิเศษถึงการสร้าง ถนนยางพารา เพื่อนำผลผลิตมาพัฒนาและแปรรูปให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยขณะนี้กระแสการแปรรูปในแบบต่างๆของยางพารากลับมาอีกครั้ง หลายคนสนใจในประเด็น "ถนนยางพารา" ประชาชาติฯของพากลับไปอ่านรายงานพิเศษชิ้นนี้อีกครั้ง

ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีการวิจัยอย่างจริงจัง ในการนำยางพารามาผสมกับยางมะตอยเพื่อราดถนนก็คือ "ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา" ซึ่งมีการทดสอบมานานนับ 10 ปีแล้ว




นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ผู้ที่ขลุกอยู่กับงานวิจัยเรื่องถนนยางแอสฟัลต์ผสมยางธรรมชาติ หรือถนนยางมะตอยผสมยางพารานับสิบปี ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การราดถนนผสมยางพาราทำครั้งแรกตั้งแต่ปี 2500 แต่ในยุคนั้นไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนว่าคุณสมบัติมันดีขึ้นอย่างไร รู้แต่ว่ามันเหนียวขึ้น แข็งแรงขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลเป็นตัวเลขเชิงวิทยาศาสตร์

กระทั่งปี 2542 ยางราคาตก จึงมีการรื้อฟื้นเรื่องนี้ เป็นที่มาของการทำวิจัยเชิงลึก ซึ่งเริ่มแรกเป็นงานวิจัยในห้องแล็บ เพื่อหาเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสมของยางพารา กระทั่งได้ตัวเลขที่ลงตัวคือ 5-6% โดยคุณสมบัติที่ได้คือ แข็งแรงมากขึ้น ทนต่อความร้อนมากขึ้น มีจุดหลอมตัวสูงขึ้นจาก 50 องศาเป็น 60 องศา และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีการคืนตัวกลับดีขึ้น



สำหรับศูนย์กลางการทดลองงานวิจัยอยู่ที่ "ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา" อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการสร้างเครื่องผสมยางพารากับยางมะตอยเป็นไพลอตโปรเจ็กต์ 2 แบบคือ เครื่องผสมยางแห้ง และเครื่องผสมน้ำยางข้น โดยผสมได้ครั้งละ 5 ตัน จึงเป็นที่มาว่าพื้นที่หลายจุดภายในศูนย์วิจัย ราดถนนด้วยยางมะตอยผสมยางพาราตามสเป็กของสถาบันวิจัยยาง


เครื่องผสมยางพารากับยางมะตอย

ต่อมาในปี 2545 กรมทางหลวงได้ร่วมกับศูนย์วิจัย ราดถนนสาธารณะที่ด้านหน้าศูนย์วิจัย ระยะทางประมาณ 300 เมตร จากนั้นได้เก็บตัวอย่างถนนที่เสร็จแล้ว 2 แบบ ไปทดสอบในห้องแล็บ ทดสอบใช้ล้อเหล็กวิ่งทับจำนวน 2 หมื่นรอบ ผลปรากฏว่า ถนนที่ตัดมาจากผสมยางพารายุบน้อยกว่าที่ไม่ผสม ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2.9 เท่า แต่เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีเครื่องผสมในเชิงพาณิชย์ เพราะปกติการทำถนนแต่ละครั้งต้องผสมเป็นร้อยตัน จึงได้ทดลองทำถนนในหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรทั่วทุกภาครวมแล้วประมาณ 50 แห่ง



"กรมทางหลวงยอมรับผลว่าดีกว่า ทนกว่าจริง ซึ่งถนนหน้าศูนย์วิจัยนี้ใช้มา 12 ปีแล้ว ไม่ต้องซ่อมเลย ธรรมดา 5 ปีก็มีงบฯซ่อม แต่มองว่าแค่ให้ทนกว่าเท่าเดียวก็คุ้มแล้ว ส่วนตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ ตอนนี้กำลังจะจ้างคนที่ชำนาญมาคิดมูลค่าเพื่อยืนยันอีกครั้ง"

ทั้งนี้ล่าสุด ปี 2556 กรมทางหลวงได้ออกสเป็กถนนแอสฟัลติกที่ราดด้วยยางมะตอยผสมยางพาราแล้ว ปี 2557 สำนักงบประมาณก็ออกราคากลางมาเป็นราคากลางเฉพาะผิวทางมาตรฐาน 5 เซนติเมตร ในราคาตารางเมตรละ 380 บาท ขณะที่แบบเดิมตารางเมตรละ 320 บาท แต่ถ้าคิดทั้งถนนรวมโครงสร้างด้วย ราคาจะขึ้นมาแค่ 5% ของราคาถนนทั้งหมด เช่น สร้างถนน 1,000 ล้านบาท ถ้าใช้แบบผสมก็เพิ่มขึ้นมาอีก 5% เท่านั้น คือ 50 ล้านบาท ถามว่าถ้ามันทนกว่า 1 เท่าจะคุ้มหรือไม่

ผอ.ณพรัตน์บอกว่า ประเทศมาเลเซียสนใจงานวิจัยนี้มาก เมื่อปลายปี 2557 คณะรัฐมนตรีมาเลเซียเดินทางมาดูงานเรื่องถนนโดยเฉพาะ หลังจากนั้นได้ส่งคนจาก Malaysian Rubber Board-MRB และกรมทางหลวงมาศึกษารายละเอียด

"เดือนพฤศจิกายน 2557 ไปประชุมเรื่องมาตรฐานยางที่แอฟริกาใต้ MRB ก็มานั่งประกบทุกวัน ซักละเอียดยิบ เราก็นั่งอธิบาย ก็คิดว่าเราทำงานวิจัยมา 10 กว่าปีไปบอกเขาหมดเลย พูดไปก็ช้ำใจไป แต่คิดว่าอยู่ตรงนี้ก็ไม่มีอะไร อย่างน้อยที่อื่นทำก็ยังได้ประโยชน์ หลังจากนั้นไม่นานมีโทรศัพท์มาบอกว่าจะราดถนนแล้ว"

สำหรับปี 2558 นี้ ผอ.ณพรัตน์กล่าวว่า จะทำวิจัยต่อยอดหาค่า BreakingResistance เกี่ยวกับการลื่นไถล ซึ่งปกติจะทำในล้อรถ แต่เราจะดัดแปลงมาทำในถนน เมื่อได้ค่าพวกนี้แล้วจะนำไปเสนอต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือจีน หากได้รับความสนใจ ผลที่ได้คือจะมีการใช้ยางมากขึ้น

"สำหรับเมืองไทยตอนนี้ทำได้ทันที เพราะว่ามีสเป็กแล้ว มีราคากลางแล้ว เอกชนตอนนี้ก็มีคนทำผสมแล้ว เช่น ทิปโก้ ที่สำคัญที่สุดรัฐต้องมีนโยบายจริงจัง ไม่ได้หมายความว่ายางทั้งหมดจะมาทำสิ่งนี้ แต่ถ้าทำได้ยางส่วนหนึ่งจะหายไปจริงๆ"


นั่นคือ งานวิจัยชิ้นโบแดงของคนไทยที่ชี้ชัดว่าถนนยางพาราทำได้จริง และคุ้มค่าจริง



3 จังหวัดใต้-อบจ.สงขลา-เขื่อนแม่กวง...นำร่อง



ฏิบัติการเยียวยา ซับน้ำตาชาวสวนยางตอนนี้ หลายฝ่ายเร่งหาข้อสรุปว่าจะใช้วิธีการใด โดยที่ประชุมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ได้ข้อสรุปว่า มีทางเดียวคือใช้ยางพาราผสมราดถนน แม้ว่าค่าก่อสร้างจะสูงกว่าปกติก็ต้องทำ

โดยอบจ.สงขลาอาสาทำเป็นแห่งแรก ที่จะนำร่องราดถนนสายบ้านเกาะหมี อ.หาดใหญ่ ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร พร้อมคูระบายน้ำใช้งบประมาณ 27 ล้านบาท จะดำเนินการในต้นปี 2558 นี้

ขณะเดียวกันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กองทัพบกก็กำลังจะเริ่มบิ๊กโปรเจ็กต์ทำถนนยางพารา ภายใต้งบประมาณกว่า 820 ล้านบาท

"พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์" โฆษกกองอำนวยการความมั่นคงภายในภาค 4 บอกว่า ขณะนี้ได้เริ่มแผนงานซ่อมแซมถนน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 37 เส้นทาง รวมระยะทาง 164 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 826 ล้านบาท

ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และในพื้นที่ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ได้แก่ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี และจะนะ โดยจะใช้น้ำยางพาราที่รับซื้อจากเกษตรกรมาใช้ซ่อมถนน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพกว่าถนนที่ราดยางมะตอย 2.9 เท่า อายุการใช้งานมากกว่า 2 เท่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการบำรุงรักษาถนนในระยะยาวได้ แม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการใช้ยางมะตอยถึง 15-20% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558

ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง "บริษัท พีซีเอ็นแอสฟัลต์ จำกัด" เป็นผู้รับเหมานำร่องราดถนนผสมยางพาราโปรเจ็กต์ใหญ่ 6.6 กิโลเมตร ภายในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณ 26 ล้านบาท




ถนนราดยางพาราผสมที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา

"ธนกร รสเข้ม" ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท พีซีเอ็น แอสฟัลต์ จำกัด กล่าวว่าบริษัทได้รับงานปรับปรุงถนนขนาด 2 ช่องจราจร กว้าง 6 เมตร ระยะทางรวมประมาณ 6.6 กิโลเมตร โดยใช้ยางพารา

มาผสมกับยางมะตอย ซึ่งระหว่างดำเนินการได้เชิญทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยยางมาร่วมด้วย โดยเพิ่งทำเสร็จในเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีโครงการเล็ก ๆ อีก 5-6 โครงการ

ธนกรยังบอกอีกว่า ขั้นตอนการก่อสร้างเหมือนกับการทำถนนทั่วไปทุกอย่าง แต่จะยุ่งยากในขั้นตอนการผลิตที่ต้องนำหัวเชื้อที่เรียกว่า Para Ac 60/70 ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างยางพารากับยางมะตอยมากวนผสมให้เข้ากับยางมะตอย ซึ่งต้นทุนก่อสร้างจะแพงกว่าปกติประมาณ 30% แต่คิดว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะมีคุณสมบัติที่แข็งแรงกว่าเดิม

แต่ตอนนี้ผู้ผลิต Para Ac 60/70 ซึ่งจะต้องนำมาผสมกับยางมะตอยอีกครั้งมีทิปโก้บริษัทเดียวที่ผลิตได้

แต่หากมีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจนคิดว่าต่อไปจะมีทุกบริษัท

(หมายเหตุ รายงานพิเศษตีพิมพ์ในนสพ.ประชาชาติธุรกิจ และนำเสนอบนเว็บไซต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2558)


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจาะลึก ถนนยางพารา ทนนาน12ปี ไม่มีซ่อม

view