สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อสังหาฯอยากลงทุนนอก บีโอไอ มีตัวช่วยอะไรได้บ้าง

จากประชาชาติธุรกิจ

เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา กล่าวสำหรับวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังเต็มไปด้วย "ปุจฉา-วิสัชนา" หรือเต็มไปด้วยคำถามที่รอคำตอบ "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจข้อคิดเห็นผู้บริหาร 2 วงการต่างกรรมต่างวาระแต่หัวข้อเดียวกัน ถ้าผู้ประกอบการไทยต้องการเข้าไปลงทุนใน 9 ประเทศอาเซียน ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ "บีโอไอ" จะมีตัวช่วยอะไรได้บ้าง

เปิดประเด็นคำถามจาก "อธิป พีชานนท์" นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ฝากคำถามถึงที่ปรึกษาคนใหม่ของหน่วยงานบีโอไอที่รัฐบาลเพิ่งแต่งตั้งเมื่อปลายปี 2558 โดยเกริ่นขึ้นมาว่า นโยบายสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศยังไม่เห็นชัดเจน ไม่เหมือนกับที่มีสารพัดอย่างในการส่งเสริมต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีทั้งสิทธิประโยชน์ แรงจูงใจ แนวทางวิธีการ มีฐานข้อมูลหรือดาต้าเบส แถมยังมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวหรือวันสต็อปเซอร์วิสให้ด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ต้องการคือ 1.มีหน่วยงานทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลเชิงลึกที่จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนคนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ ข้อมูลไม่ใช่เพียงแค่ระดับพื้นฐาน เช่น มีประชากรกี่คน นับถือศาสนาอะไร หากแต่ต้องการข้อมูลเชิงลึกเป็นรายเซ็กเตอร์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ก็ต้องการรู้กฎระเบียบ ภาษี ข้อบังคับของประเทศที่จะไปลงทุน สิทธิประโยชน์ที่แต่ละประเทศให้กับนักลงทุนต่างชาติ

"เรื่องข้อมูลเชิงลึกสำคัญมาก นักธุรกิจไม่ต้องการรู้ข้อมูลแบบหว่านแห คนทำอสังหาฯ ก็คงไม่อยากรู้เกี่ยวกับธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งรัฐบาลไทยต้องทำตัวเหมือนญี่ปุ่นที่มีหน่วยงานอย่างไจก้า (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น) เจโทร (องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น) เป็นตัวช่วยนักธุรกิจในการหาข้อมูลและเจรจาการลงทุน แต่ของไทยยังต้องให้ผู้ประกอบการลองผิดลองถูกเอง บริษัทที่แข็งแรงอาจไม่มีปัญหา แต่บริษัทไม่แข็งแรงหมดโอกาสเลย"

ที่สำคัญคือคำถามที่ว่า ทำไมไทยปล่อยให้สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน มาลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านก่อนนักลงทุนไทย ตัวอย่างชัดเจนคือ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ในขณะที่ไทยทำการค้าในรูปแบบซื้อมาขายไป ยังไม่เคยไปลงทุนจริงจัง

คำถามที่ 2 คือ สำนักงานบีโอไอ ต้องทำตัวเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจในการไปลงทุนในต่างประเทศ มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาธุรกิจแต่ละด้านแต่ละประเทศ

ย้อนกลับมาที่ "อ.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ตอบคำถามเรื่องนี้ในฐานะที่ปรึกษาบอร์ดบีโอไอคนล่าสุด เปิดมุมมองว่า ตลาดการค้าใน CLMV เป็นโอกาสของประเทศไทย สถิติไทยส่งออก 8-9% ถ้ารวมกับส่งออกมาเลเซีย 6% จะมีขนาดตลาดเท่ากับ 14% สูงไล่เลี่ยการค้ากับอเมริกา, ยุโรป 9% จีน 11% ในขณะที่ไทยได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ เพราะมีแผ่นดินเชื่อมต่อถึงกัน

อย่างไรก็ตาม คำตอบของบีโอไอในการเป็นตัวช่วยคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศนั้น 1.บทบาทเป็นเรื่องข้อมูลและการจัดสัมมนาเป็นหลัก ในเรื่องสนับสนุนนักลงทุนไทยไปทำการค้าขายกับต่างประเทศ มองว่าต้องใช้กลไกธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เป็นหลัก โดยเฉพาะยิ่งเป็นการออกไปเปิดตลาดใหม่ ๆ ยิ่งมีความเสี่ยงทางเครดิต ในขณะที่บีโอไอมีเครื่องมือใหญ่คือ ลดภาษีนำเข้า ลดภาษีนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย

"ถามว่าอำนาจ (บีโอไอ) นี้ต้องอยู่แผ่นดินเรา จะไปอยู่แผ่นดินต่างประเทศได้ยังไง สมมุติเราจะไปลงทุนแอฟริกา ใครจะมีอำนาจลดภาษีนำเข้า ลดภาษีนิติบุคคล ก็ต้องรัฐบาลแอฟริกา..."

2.การเป็นหน่วยงานข้อมูลลงทุนต่างประเทศเชิงลึก แนวคำตอบนักธุรกิจจะต้องไปหากระทรวงพาณิชย์ เพราะขอบเขตอำนาจบีโอไอจะเน้นหนักส่งเสริมลงทุนในประเทศเป็นหลัก

ทิ้งท้ายกับคำถามที่ "อ.ประสาร" ต้องใช้เวลานิ่งคิด เพราะถามเองตอบตัวเองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่บีโอไอจะส่งเสริมบริษัทแม่ในประเทศไทยในการไปลงทุนต่างประเทศ "โยงกันยาก...เพราะเรายังไม่เคยมีนโยบายลดภาษีให้บริษัทแม่"


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อสังหาฯ อยากลงทุนนอก บีโอไอ มีตัวช่วย อะไรได้บ้าง

view