สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยางพาราไทย...ทำอะไร ๆ ได้ตั้งเยอะ รัฐบาลต้องเป็นหัวหอกสร้างดีมานด์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย รัตนา จีนกลาง

พูดกันมานานนับสิบปีว่า "ยางพารา" สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ นักวิชาการด้านยางพาราและวิทยาศาสตร์ก็ได้ทุ่มเทวิจัย/พัฒนามานาน แต่ในช่วงขาขึ้นที่ราคายางไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 ถึง 120 บาท ก็ไม่มีใครใส่ใจกับเรื่องนี้ เพราะขายแต่น้ำยางสด หรือยางแผ่นก็รวยอู้ฟู่กันแล้ว

แต่เมื่อทุกอย่างพลิกผัน ยางราคาดิ่งเหว4-5 กิโล 100 บาท ความมั่งคั่งของบรรดานายหัว เถ้าแก่ เจ้าของสวนยาง และเกษตรกรรายย่อยกว่า 1.5 ล้านครัวเรือนก็หดหายไปเกือบ 80% กระเป๋าแฟบไปตาม ๆ กัน

เงินทองซึ่งเป็นทุนเก่าจากการขายยางที่ฝากธนาคารไว้ก็ร่อยหรอลงทุกวัน จนมีเสียงโอดโอยมาจากห้าง ร้านค้า ตลาดสด คนขายมือถือ รถยนต์-มอเตอร์ไซค์ว่ายอดขายหดตัวมาก เพราะกำลังซื้อหลักมาจากยางพารา ชาวบ้านก็เริ่มไม่มีเงินส่งลูกหลานเรียน นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

นั่นคือความสำคัญของยางพารา ที่ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรฐานรากอีกต่อไป เพราะมันซึมลึกเป็นโดมิโนไปถึงเศรษฐกิจของประเทศไปด้วย



ดังนั้นแนวทางที่จะทำให้ชาวสวนยางยืนหยัดได้ระยะยาวนอกจากการส่งออกแล้วก็ต้องทำให้เกิดการใช้ยางในประเทศมากขึ้นนั่นก็คือ "การแปรรูปผลิตภัณฑ์" โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ซึ่งเป็นคลังความรู้ด้านยางก็ชี้ชัดแล้วว่า ยางพารา 1 กิโลกรัม เมื่อนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 10 เท่า

แล้ววันนี้ยางพาราของไทยใช้ทำอะไรได้บ้าง นอกจากชิ้นส่วนรถยนต์ ถุงยางอนามัย ถุงมือยาง หรือเครื่องมือแพทย์ที่ทำกันมานานแล้ว

ตอนนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายแห่งได้ลงมือทำแล้ว คือ ถนนยางพารา เช่น อบจ.สงขลา อบจ.ตรัง อบจ.กระบี่ และทหารก็ได้ทำถนนยางพาราใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในท้องถิ่นได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่องถนนยางพารา ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ก็มีการวิจัย/พัฒนาสูตรจนเป็นที่ยอมรับ และประเทศมาเลเซียนำไปใช้แล้ว แต่ในเมืองไทยมีข้อโต้แย้งมากมาย กระทั่งนายกรัฐมนตรีไล่บี้ให้ 8 กระทรวงไปเร่งสำรวจความต้องการใช้ยางมาได้เบื้องต้นในปี 2559 จำนวน 2 หมื่นตัน ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ทำถนน สนามฟุตบอล-ฟุตซอล ลู่หรือลานกีฬา เป็นต้น

ที่สำคัญข่าวดีตอนนี้ก็คือของใช้ในครัวเรือนกำลังมาแรง โดยเฉพาะ "หมอน-ที่นอนยางพารา" เป็นสินค้าฮอตฮิตของนักท่องเที่ยวชาวจีน ญี่ปุ่น ที่แห่ซื้อหอบหิ้วเป็นของที่ระลึกกลับประเทศ ที่เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี สมุทรปราการ ยอดขายถล่มทลาย

นับเป็นธุรกิจที่โตเงียบและมีอนาคตอีกไกลหากไม่เปิดศึกสงครามราคากันเอง เพราะชาวจีนชื่นชอบต้องมีไว้ใช้แทบทุกบ้านด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติแท้ คุ้มค่าในการใช้งานนาน 5-10 ปี

เท่าที่เกาะติดเรื่องนี้มา ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับยางพาราเท่าไหร่แม้ว่าเมืองไทยจะปลูกยางพารามากที่สุดของโลกก็ตาม

เจ้าหน้าที่รัฐหลายแห่งก็เพิ่งจะตื่นตัวหลังถูกท่านนายกฯลุงตู่ สั่งให้ไปหาทางออกเรื่องยางตกต่ำ ตอนนี้นักวิชาการ สหกรณ์ยาง วิสาหกิจชุมชนที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ต้องต้อนรับบรรดาข้าราชการเดินทางไปดูงานไม่ขาดสาย ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้นก็ยังเก่าเก็บไว้บนหิ้ง ผู้ประกอบการ/ชาวบ้านเข้าไม่ถึง ผลงานหลายชิ้นมีลิขสิทธิ์ล็อกไว้หมด ทุนใหญ่เท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าถึงทั้ง ๆ ที่หน่วยงานดังกล่าวก็ใช้เงินภาษีของประชาชนไปทำงานวิจัย

หากจะลุยกันจริง ๆ ก็ต้องลงมือทำในตอนที่เหล็กกำลังร้อนนี่แหละ

ตอนนี้องค์ความรู้ งานวิจัยกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน หลายสถาบันการศึกษา มีด็อกเตอร์เต็มประเทศ มีปราชญ์ชาวบ้านอยู่ทุกจังหวัด เราน่าจะจัดเวทีให้ผู้รู้เหล่านี้มาระดมความรู้กันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อนำมาใช้ในประเทศให้หลากหลาย เพราะตอนนี้ราคายางตกต่ำสุด ๆ แล้ว และแนวโน้มจะยังไม่พุ่งไปถึงโลละ 80-100 บาทในเร็ววันนี้

นั่งคิดเล่น ๆ ว่า ทำไมเราไม่จัดงานรวมพลคนรักผลิตภัณฑ์ยางพารา คัดสรรสินค้า/ของใช้ที่มียางพาราเป็นส่วนผสมมาเปิดตัว มาโชว์ศักยภาพให้เห็นกันจะจะไปเลย โดยภาครัฐจะต้องช่วยโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย สร้างตลาดให้เกิดขึ้น

ใครที่เก่งเรื่องยาง เรื่องการดีไซน์ การส่งออกก็ลงไปเป็นพี่เลี้ยง ไปสนับสนุนให้สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน ทำการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ มาตรฐานคุ้มค่ากับราคาที่ผู้บริโภคจะควักกระเป๋าไปซื้อหามาใช้ซึ่งตอนนี้สินค้าที่ผลิตได้แล้ว เช่น หมอนยางชิ้นส่วนยานยนต์ -รถจักรยานยนต์ กระเบื้องมุงหลังคาบ้าน แผ่นกันลื่น ยางบล็อกปูพื้น ถุงมือยาง รองเท้า กระเป๋า สนามฟุตบอล ฯลฯ

ที่สำคัญรัฐบาลก็ต้องดูแลเรื่องภาษีการนำเข้าเครื่องจักร เพราะตอนนี้เราต้องพึ่งพาเครื่องมือ เครื่องจักรแปรรูปจากต่างประเทศทั้งสิ้น เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงได้อีกทางหนึ่ง

อีกเรื่องที่พูดกันเยอะ และเสนอว่าให้ลดซัพพลายลง โดยให้โค่นต้นยางทิ้ง เลิกปลูกกันไปเลย หากโค่นทิ้งสักครึ่งประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีก็คือ ที่ดินจะโล่งเตียน กลายเป็นภูเขาหัวโล้นกันไปหมด

วันนี้ทำอย่างไรจะอยู่ให้ได้กับสิ่งที่เรามี แต่ประเทศอื่นมีไม่ได้เช่นเรา พลิกจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งกันเถอะ

สถานการณ์จ่อปากเหว โอกาสทางการตลาดมี องค์ความรู้ก็พร้อม มาตรฐานก็มีแล้ว จะรอสิ่งใดอีก หน่วยงานรัฐอย่างน้อย 8 กระทรวงนี่แหละที่จะต้องเป็นทัพหน้าจริง ๆ ในเรื่องนี้

เอกชนที่แข็งแกร่งก็ลุยเต็มที่ไปเลย เพราะยังไงคนไทย และชาวโลกก็ยังต้องอยู่กับยางพาราไปอีกนาน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยางพาราไทย ทำอะไร ได้ตั้งเยอะ รัฐบาล เป็นหัวหอก สร้างดีมานด์

view