สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โค้ช คู่คิดนักบริหาร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

เชื่อว่าผู้บริหารหลายคนที่ เป็นแฟนานุแฟนประชาชาติธุรกิจคงน่าจะมีโอกาสใช้บริการโค้ชอยู่บ้าง เพราะโค้ชไม่เพียงเป็นคู่คิดของนักบริหาร หากโค้ชยังเป็นเสมือนผู้แนะนำแนวทางเพื่อให้ผู้บริหารท่านนั้น ๆ ปรับเปลี่ยนจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อสร้างจุดแข็งขึ้นมา

ทั้งยังเป็นโค้ชเพื่อช่วยค้นหาทักษะต่าง ๆ ที่คิดว่าผู้บริหารอาจไม่เคยรู้มาก่อน แต่เมื่อโค้ชมองเห็น พร้อมกับแนะนำ ผู้บริหารท่านนั้นกลับพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ จนนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

หรือบางเรื่องที่ผู้บริหารไม่สามารถพูดกับลูกน้องได้ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียต่อการบริหารองค์กร เขากลับเล่าเรื่องดังกล่าวให้โค้ชฟัง เพราะโค้ชสามารถเก็บความลับได้ ทั้งยังแนะนำให้ได้ด้วยว่าผู้บริหารคนรอง ๆ ลงมาคนไหนน่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงคนต่อไป

แม้กระทั่งการช่วยวางแผนโครงสร้างการบริหารในรุ่นถัดไป

ในสหรัฐอเมริกายุโรปหรือเอเชียบางประเทศวิชาชีพโค้ชได้รับความนิยมอย่างมากเพราะอย่างที่บอกอุปสรรค และปัญหาส่วนใหญ่ของผู้บริหารระดับสูง หรือผู้นำองค์กรคือไม่ค่อยมีความเป็นภาวะผู้นำ


สื่อสารไม่ชัดเจน


ไม่ฟังใคร

หรือฟังแต่เฉพาะกลุ่มก้อนของตัวเอง

ถ้า องค์กรยังไม่เติบโตไม่ค่อยเป็นปัญหาแต่ถ้าวันใดที่องค์กรเติบโตจำเป็นอย่าง ยิ่งที่จะต้องมีหลักการบริหารแบบมืออาชีพเพราะทางหนึ่งผู้บริหารจะต้องขับ เคลื่อนองค์กรให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างคนคุณภาพให้กับองค์กร

เพราะ"คน"เป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจและองค์กรหากผู้บริหารท่านนั้นมองไม่เห็นความสำคัญเหล่านี้ นั่นเท่ากับองค์กรของคุณจะถอยหลังลงคลองทุกวัน ซึ่งในต่างประเทศ ผู้บริหารองค์กรหลายคนจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก

มีการสร้าง Successor อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

มีการวาง Succession Planing อย่างชัดเจน

ทั้งยังมีการสร้างกลุ่ม Talent Pool ขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง

ฉะนั้น เมื่อองค์กรต่าง ๆ มีการวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง มีการวางกลยุทธ์องค์กรชัดเจน ทั้งยังมีกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่มีความรู้ความสามารถอยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า หรือไปลงทุนในต่างประเทศ

เขาจึงใช้การวางแผนในแต่ละส่วนที่กล่าวมาส่ง "คน" ไปประจำการในที่ต่าง ๆ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมี "โค้ช" อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งสิ้น

เขาเสมือนเป็นผู้ปิดทองหลังพระ

สำหรับบ้านเรา วิชาชีพโค้ชอาจถูกรับรู้ไม่กว้างขวางเท่าที่ควร เพราะหลายบริษัทยังบริหารแบบครอบครัว หรือยังบริหารแบบขั้นบันได พูดง่าย ๆ คือยังไม่เป็นมืออาชีพเท่าที่ควร

แต่กระนั้นก็ถือว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี

เพราะเท่าที่คุยกับแหล่งข่าวที่เป็นโค้ชเธอบอกผมว่าโค้ชในปัจจุบันใช้วิธีการโค้ช3รูปแบบด้วยกัน

หนึ่งโค้ชจากภายนอก (External Coach) คือใช้ผู้ที่เป็นโค้ชมืออาชีพเข้ามาโค้ชผู้บริหาร ส่วนใหญ่จะเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง

สอง โค้ชภายในองค์กร (Internal Coach)อาจเป็นผู้ที่ได้รับจ้างเข้ามาพิเศษเพื่อให้ทำหน้าที่โค้ชโดยเฉพาะ หรือริเริ่มโครงการโค้ชต่าง ๆ หรืออาจเป็นคนภายในที่ได้รับมอบหมายพิเศษ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ทั้งด้านเวลา และงบประมาณ

โดยจัดให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการพัฒนาจากหลักสูตรการโค้ชที่ได้มาตรฐาน

สาม สร้างผู้บริหาร และผู้จัดการในองค์กรให้เป็นโค้ช (Leader, Manager as a Coach) ด้วยการอบรมให้ผู้บริหาร และผู้จัดการในทุกระดับมีทักษะการโค้ชที่ถูกต้อง เพื่อโค้ชบุคลากรในทีมของตน

ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มเห็นประโยชน์จากการนำหลักสูตรที่มีมาตรฐาน การเรียนการสอนแบบเจาะเฉพาะเรื่องโค้ชมาใช้ในองค์กรมากขึ้นทั้งยังอยากได้ วิธีการโค้ชไปใช้ได้จริงในองค์กรของตน

นอกจากนั้นแหล่งข่าวผมยังเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่าทั้ง3 ลักษณะของการโค้ช ปรากฏว่าลักษณะการโค้ชแบบที่สามมีการเติบโตมากที่สุดคือ 84% รองลงมาคือแบบที่หนึ่ง 65% และแบบที่สอง 57%

ถามว่าทำไมตัวเลขถึงออกมาเป็นแบบนี้ ?

คำตอบคือคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงเขาถูกโค้ชมาก่อน เขาจึงเชื่อว่าการโค้ชเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการขับเคลื่อนทักษะของตัวเองออกมาจริง ๆ เขาจึงอยากให้พนักงานระดับรอง ๆ ลงมาได้รับการโค้ชบ้าง

เพื่อให้เกิดการสร้างทีมที่ดี

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ตลาดโค้ชบ้านเราได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง แม้เศรษฐกิจของประเทศจะเกิดปัญหา แต่ปรากฏว่าวิชาชีพโค้ชกลับเติบโตสวนกระแส จนทำให้แต่ละคนที่ทำหน้าที่โค้ชแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนเลย

ที่สำคัญค่าตอบแทนยังดีเสียด้วย

น่าอิจฉาจริงๆ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โค้ช คู่คิดนักบริหาร

view