สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคาน้ำมัน กับเศรษฐกิจโลกปีลิง

จากประชาชาติธุรกิจ

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในเวลานี้ ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง แกว่งตัวอยู่ในระดับระหว่าง 28-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถ้าเทียบกับระดับราคาสูงสุดที่เคยพบเห็นกันเมื่อปี 2014 แล้วละก็เท่ากับลดลงไปราวๆ 70 เปอร์เซ็นต์



ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ราคาน้ำมันดิ่งลงแล้วดิ่งลงอีกตั้งแต่ต้นปีมา ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ผันผวนปั่นป่วนตามอย่างหนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักทรัพย์วอลสตรีต ที่ดัชนีสำคัญอย่าง เอสแอนด์พี 500 ดิ่งลงไปแล้ว 9 เปอร์เซ็นต์ จนถึงระดับที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้ซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 เป็นต้นมา หรือการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเคยเป็นสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดีที่สุด กลับกลายเป็นสัญญาณแสดงถึงปัญหาเศรษฐกิจในระดับโลกไปแล้ว?

นักวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจโลกบางราย อย่างเช่นทีมเศรษฐศาสตร์ของ ซิตีกรุ๊ป ถึงกับขนานนามว่า "ออยมาเก็ดดอน" ด้วยซ้ำไป

แต่ข้อเท็จจริงทางเศรษฐศาสตร์ก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงอยู่วันยังค่ำ นั่นคือ ราคาน้ำมัน "แพง" ต่างหากที่ก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจถดถอย ไม่ใช่น้ำมันราคา "ถูก" อย่างเช่นในเวลานี้ เพราะราคาน้ำมันซึ่งเป็น "สินค้าอุปโภค" ที่จำเป็น ซึ่งลดลงไปนั้น เท่ากับเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในกระเป๋าของผู้บริโภคโดยปริยาย

ตัวอย่างในโลกของความเป็นจริงก็แสดงให้เห็นเช่นนั้น อย่างเช่น ถ้าเราขับรถไปทำงานทุกวัน เมื่อแวะเติมน้ำมันเต็มถัง ราคาน้ำมันที่ลดลงในเวลานี้จะทำให้เราเหลือเงินในกระเป๋าอยู่ไม่น้อยกว่า 200-300 บาท

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เงินที่เหลือในกระเป๋าดังกล่าว ทำให้เราสามารถแวะร้านสะดวกซื้อ เลือกกาแฟและอาหารเช้าเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือไปด้วย ปล่อยให้เงินค่ากาแฟและของกินเหล่านั้นหมุนวนเพิ่มมูลค่าของมันต่อไปในระบบ เศรษฐกิจ ดังนั้นความคิดที่ว่า "น้ำมันราคาถูก" เป็นสัญญาณส่อเค้าถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตอันใกล้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลก หรือที่เรียกกันว่าอุปสงค์น้ำมันนั้นหดตัวลง จึงไม่น่าจะถูกต้อง

และในข้อเท็จจริงก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น เพราะตัวเลขล่าสุดของ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ระบุว่าปริมาณการบริโภคน้ำมันทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นถึงวันละ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง 2 ปีจนกระทั่งถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2015

ตัวเลขดังกล่าวเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า ราคาน้ำมันถูก ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความต้องการน้ำมันลดน้อยลง แต่เป็นเพราะปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตออกมา ซึ่งเรียกกันว่า อุปทานน้ำมัน นั้นเพิ่มขึ้นสูงกว่าอุปสงค์น้ำมัน

ไออีเอระบุว่า ในช่วงเดียวกันกับที่ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นนั้น ผู้ผลิตทั้งหลายผลิตน้ำมันออกมาเกินกว่าความต้องการถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหมายความว่า ในเวลานี้น้ำมันดิบนั้นอยู่ในสภาพ "ล้นตลาด" และเป็นเหตุผลที่ทำให้ไอเออีระบุเอาไว้ว่า "ด้วยเหตุที่ตลาดในเวลานี้ท่วมท้นไปด้วยปริมาณน้ำมัน ทำให้ยากมากที่จะคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใน ระยะเวลาสั้นๆ"

แล้วก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไม แม้เมื่อประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่าง ซาอุดีอาระเบีย กับ รัสเซีย จับมือกันทำความตกลงไม่ผลิตน้ำมัน "เพิ่ม" เช่นเดียวกับเวเนซุเอลา ราคาน้ำมันแทนที่จะถีบตัวสูงขึ้นกลับดิ่งลงไปอีกเล็กน้อยด้วยซ้ำไป

ทีนี้ก็ถึงคำถามสำคัญว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมตลาดหุ้นทั่วโลกถึงได้ผันผวนในทางลบ ดิ่งลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกับราคาน้ำมัน แทนที่จะเป็นตรงกันข้าม?

ภาวะผันผวนของตลาดหลักทรัพย์สำคัญๆ ทั่วโลกเข้าไปเกี่ยวพันกับทิศทางของราคาน้ำมัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เราจะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นขนาดใหญ่บางแห่งมีปัญหาเป็นของตัวเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีนี้คือตลาดหุ้นของจีน ซึ่งเกิดจากการระเบิดของปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและข้อบกพร่องในข้อ กำหนดกฎเกณฑ์ของตลาดเอง ก่อนถูกซ้ำเติมด้วยสภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อตลาดหุ้นอื่นๆ ไม่มากก็น้อยโดยปริยาย ในเวลาเดียวกันกับที่สร้างสภาวะเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนทั้งหลายให้คาดหวัง ถึงภาวะ "ทรงกับทรุด" ของเศรษฐกิจโลกหรืออาจหนักข้อไปถึงระดับ วิกฤตเศรษฐกิจโลก ในอนาคต ที่ทำให้เกิดการเทขายต่อเนื่องเป็นระยะๆ มาตลอดทั้งเดือนมกราคมของปีนี้

แต่ในกรณีการทรุดตัวของตลาดหุ้นวอลสตรีต กลับเป็นผลกระทบทางตรงของปัญหาราคาน้ำมัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกิจการน้ำมันทั้งน้อยใหญ่ในสหรัฐอเมริกาตกอยู่ในสภาวะยาก ลำบากกันถ้วนหน้าอันเนื่องจากภาวะราคาน้ำมัน

ตัวอย่างเช่น เอ็กซอนโมบิล อาจเจอกับการถูก "ดาวน์เกรด" เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี โคโนโคฟิลลิปส์ ลดการปันผลหุ้นของบริษัทลงเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี อุตสาหกรรมน้ำมันที่คิดสัดส่วนแล้วสูงถึงราว 1 ใน 3 ของดัชนีเอสแอนด์พี-500 ก็สามารถดึงดัชนีทั้งหมดลงมาอย่างช่วยไม่ได้

ในอีกทางหนึ่ง อุตสาหกรรมน้ำมันที่กำลังประสบปัญหาตลอดช่วงปีเศษที่ผ่านมา ตัดสินใจปรับลดงบประมาณการลงทุนของตนเองลง สตีเฟน โคพิตส์ ประธานบริษัทที่ปรึกษา พรินซ์ตัน เอเนอร์ยี ระบุว่า มีการยกเลิกงบประมาณรายจ่ายในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันลงรวมกันแล้วมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้ง หลาย อาทิ ผู้ผลิตท่อลำเลียงน้ำมัน บริษัทรถยนต์เพื่อการขนถ่ายน้ำมัน เรื่อยไปจนถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ

ในเวลาเดียวกัน ภายใต้มาตรการดอกเบี้ยราคาถูกแสนถูกก่อนหน้านี้ บริษัทขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐอเมริกากู้เงินมาขยายกิจการกันอย่างหนัก แล้วก็เจอปัญหาในการชำระหนี้คืนภายใต้สภาพราคาน้ำมันถูกแสนถูกอย่างเช่นใน เวลานี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาด

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีรายงานข่าวในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เชสซะพีกเอเนอร์ยี ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกาว่าจ้างบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งเพื่อให้จัดการปรับโครงสร้าง ภาระหนี้ 9,800 ล้านดอลลาร์ ตลาดก็ทรุดลงอย่างหนัก แม้ว่าทางบริษัทจะยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะขอความคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้ม ละลายแต่อย่างใดก็ตาม

ผลพวงอีกประการจากภาวะหนี้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน คุกคามต่อ "สุขภาพ" ของธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหลายที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมน้ำมัน ที่อาจไม่ถึงกับล้มแต่อาจส่งผลให้ปรับลดหรือเลิกการปล่อยกู้ให้กับ อุตสาหกรรมอื่นๆ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำนองนี้สร้างความกังวลให้กับหลายๆ คนว่า ผลกระทบอาจแผ่ออกไปเป็นวงกว้างทำนองเดียวกันกับวิกฤตซับไพรม์ก่อนหน้านี้ เพราะมีความเชื่อมโยงที่ "หลายคนไม่รู้" ซุกซ่อนอยู่

ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตลาดหุ้นทั่วโลกในเวลานี้ แสดงให้เห็นถึงความ "น่ากลัว" ของการลงทุนในตลาดทุน ตลาดเงินในยามที่ทุกอย่างเคลื่อนไหวรวดเร็วเหลือหลาย

ปริมาณเงินทุนนับเป็นล้านล้านดอลลาร์ไหลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ใน ช่วงระยะเวลาเพียงกะพริบตา สามารถเข้าและออกจากตลาดได้เพียงแค่กดแป้นคอมพิวเตอร์

นักลงทุนพร้อมที่จะเสี่ยงแล้วก็พร้อมที่จะระงับการลงทุนในทันทีที่ไม่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงพื้นฐานในระยะยาวแต่อย่างใด

บ่อยครั้งในสภาพเช่นนี้ "ความรู้สึก" กลายเป็นตัวควบคุมตลาดมากกว่าข้อเท็จจริงและตัวเลขใดๆ!


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลกปีลิง

view