สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย พิชษฐ์ ณ นคร

หลังผลักดันมานาน 5 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่2 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป เปิดมิติใหม่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอีมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

สาระสำคัญของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นอย่างไร กระทรวงพาณิชย์สรุปรวบรวมรายละเอียดไว้แล้ว ขอนำมาถ่ายทอดต่อพอสังเขป

พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ มีบทบัญญัติทั้งหมดรวม 8 หมวด 91 มาตรา ประกอบด้วย หมวด 1 การก่อให้เกิดสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ 2.การดำเนินการทางทะเบียน 3.สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกัน 4.สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันกับบุคคลภายนอก 5.การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน 6.การบังคับหลักประกันที่เป็นกิจการ 7.ความระงับสิ้นไปแห่งหลักประกัน และหมวด 8.บทกำหนดโทษ

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย ซึ่งจะออกกฎกระทรวงและประกาศตามมารวม 16 ฉบับ

วัตถุประสงค์ในการออก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบในการผลิตสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ มาใช้เป็นหลักประกันในการผู้ยืมเงินได้ จากปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกันไว้ 3 ประเภท 1.การค้ำประกัน หรือประกันด้วยบุคคล 2.การจำนอง เป็นการประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์บางประเภท 3.จำนำ หรือประกันด้วยสังหาริมทรัพย์

แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากทรัพย์สินที่นำมาจำนองได้มีเฉพาะอสังหาฯ และสังหาริมทรัพย์พิเศษบางประเภท ขณะที่ทรัพย์สินที่นำมาจำนำได้คือสังหาริมทรัพย์แต่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ผู้รับจำนำ

ขณะที่สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ สามารถนำทรัพย์สินทุกชนิดเป็นหลักประกันได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน เพื่อให้ภาคธุรกิจใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ ช่วยลดข้อจำกัดด้านหลักประกัน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย กลุ่มเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ เช่น ตัวกิจการ สิทธิเรียกร้อง บัญชีเงินฝาก สินค้าคงคลัง วัตถุดิบในการผลิตสินค้า เครื่องจักร อสังหาฯ ทรัพย์สินทางปัญหา เครื่องหมายการค้า จากเดิมที่ทำไม่ได้

เพียงแต่สัญญาหลักประกันทางธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และต้องดำเนินการตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่และต้องมีรายการตามที่กฎหมายกำหนด

ผลของการจดทะเบียน จะถือว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินหลักประกัน ขณะที่ลูกหนี้มีสิทธิ์ได้รับเงินกู้

การบังคับหลักประกัน กฎหมายกำหนดวิธีบังคับไว้ 2 กรณีคือ 1.บังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน ผู้รับหลักประกันอาจบังคับโดยให้ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหลุดเป็นสิทธิ หรือโดยจำหน่ายทรัพย์สินหลักประกันเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ 2.บังคับหลักประกันที่เป็นกิจการโดยจำหน่ายทรัพย์สินหลักประกันเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อจัดสรรเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

และมีบทกำหนดโทษ 2 กรณีเช่นเดียวกันได้แก่ 1.กระทำความผิดเกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกันซึ่งมีหน้าที่กระทำการแต่ไม่กระทำการ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติแต่ไม่ปฏิบัติ มีโทษปรับ 2.กระทำผิดเกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกันโดยมีเจตนาทุจริต มีโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

ใช้แท็กติก "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" มีสิทธิ์เจอทั้งจำทั้งปรับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน

view