สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฟินเทค" พลิกโฉมบริการการเงิน

ฟินเทค" พลิกโฉมบริการการเงิน

"ฟินเทค" พลิกโฉมบริการการเงิน

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

นาทีนี้เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคนเรียบร้อยแล้ว ในหลากหลายรูปแบบ และอีกไม่นาน “ฟินเทค” หรือ ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (Financial Technology) จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนไทยมากยิ่งขึ้น

ฟินเทคแบบเบสิกที่สุดที่ทุกคนใช้อยู่คือ เอทีเอ็ม โมบายแบงก์กิ้ง ตู้กดเติมเงินโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างคือการใช้บริการทางการเงินด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมอีกต่อไป อันเป็นจุดประสงค์หลักในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินขึ้นมา

ฟินเทคจึงเป็นการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่การทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงิน เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่เอื้อประโยชน์กัน ทั้งในด้านอำนวยความสะดวกให้แก่การทำธุรกรรมทางการเงิน การเพิ่มกิจกรรมทางการเงินกับการซื้อขายสินค้า เพียงแค่อาศัยระบบการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น

จุดเด่นของฟินเทค คือ ความง่ายในการใช้บริการ ไม่ซับซ้อนและผูกขาด สร้างอิสระในการทำธุรกรรมทางการเงินแก่ผู้บริโภค ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทุกที่ทุกเวลา จึงทำให้ฟินเทคได้รับความนิยมทั่วโลก จนกลายเป็นกระแสและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

มูลค่าการตลาดของฟินเทคทั่วโลกเมื่อปี 2557 อยู่ที่ 2.5-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 หรือเติบโต 130% ขณะที่ในเอเชีย ฟินเทคมีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 หรือเติบโต 3 เท่าจากปัจจุบัน

ฟินเทคมีความหลากหลาย กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) เข้ามาจัดตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาธุรกิจมากมาย ในสหรัฐอเมริกามีสตาร์ทอัพทำฟินเทคเป็นพันบริษัท แต่ในประเทศไทยธุรกรรมนี้เพิ่งเริ่มต้น จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์มีผู้ประกอบการด้านฟินเทคจดทะเบียนประมาณ 40 บริษัท ซึ่งนับว่ายังน้อย แต่ก็มีโอกาสจะเติบโตเร็ว

บริษัท ฟินเทค ที่ได้ยินกันบ่อยๆ เช่น เอ็มเปย์ ทรูมันนี่ เพย์สบาย ที่เป็นบริการชำระเงิน โอนเงิน รวมทั้งมีฟินเทคที่เป็นองค์กรระดมทุนผ่านออนไลน์ (คราวด์ฟันดิ้ง) อย่าง ดรีมเมกเกอร์ มีฟันด์ อาซิโอล่า รวมทั้งฟินเทคที่เกี่ยวกับการลงทุนและการวิเคราะห์หุ้น อย่าง สต็อคเรดาร์ส สต็อคทูมอร์โรว์ เป็นต้น รวมไปถึงบริการทางการเงินของค่ายมือถือ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ (เทลโก้) ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ถือเป็นฟินเทคอีกรูปแบบหนึ่งที่มียอดธุรกรรมเพิ่มขึ้นมากทั้งที่ไม่ได้เป็นธนาคาร เข้ามามีบริการรับชำระเงิน-โอนเงินมากขึ้น รวมทั้งยังมีการพัฒนาเป็นระบบชำระเงินรายย่อย (อี-วอลเลต) ที่โอนเงินหากันโดยไม่จำกัดค่าย ใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ฟินเทคเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาให้บริการรับชำระเงิน โอนเงิน ถึงขนาด เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ยังกล่าวว่า คู่แข่งสำคัญของเจพีมอร์แกนที่สำคัญจากนี้ไปไม่ใช่ธนาคารใหญ่ๆ ในอเมริกาอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเหล่าบริษัทฟินเทค สตาร์ทอัพ ที่กำลังบ่มเพาะกันอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบซิลิคอน วัลเลย์ ในสหรัฐ

ดังนั้น เพียงดิจิทัลแบงก์กิ้งอาจจะไม่เพียงพอแล้ว สำหรับการรองรับการทำธุรกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นได้ว่าทุกธนาคารให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และเริ่มมีการปรับตัวเพื่อให้การให้บริการเท่าทันกับความต้องการของลูกค้า ด้วยการทุ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาในด้านฟินเทคให้มากขึ้น

ธีระชาติ ก่อตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่นสต็อคเรดาร์ส ระบุว่า ฟินเทคเริ่มรุกคืบเข้ามาในตลาดทุน แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่หากเข้ามาเต็มรูปแบบผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือโบรกเกอร์ ความสำคัญของเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน (ไอซี) อาจจะได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะทุกอย่างจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผู้ลงทุนที่จะมีการหาข้อมูลที่จะมาใช้วิเคราะห์เองจากแอพพลิเคชั่นตัวช่วยในการวิเคราะห์การซื้อขาย วิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งใส่คำสั่งซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตเอง

ข้อดีของฟินเทค คือ จะทำให้อุตสาหกรรมเป็นการแข่งขันที่เน้นทางด้านการบริการมากกว่าที่จะไปเน้นทางด้านแข่งขันในด้านราคาหรือการตลาดมากกว่า ซึ่งสต็อคเรดาร์สก็เป็นสตาร์ทอัพที่เป็นฟินเทคที่เน้นเรื่องการบริการข้อมูลไปแข่งขันในตลาดทุน

ที่ผ่านมาอาจจะเห็นว่าหลายโบรกเกอร์หรือคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน ใช้หุ่นยนต์หรือโรบอตในการเฝ้าดูคำสั่งซื้อขายให้ สแกนข้อมูลสถิติ หุ้น ให้ จริงๆ คือการมีซอฟต์แวร์ที่ดีเข้ามาช่วยในระบบ

ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแรกที่ขยับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้วยการปรับโครงสร้างผู้บริหารครั้งใหญ่ พร้อมกับตั้งกลุ่มธุรกิจใหม่ขึ้นมา คือ “กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” (Kasikorn Business-Technology Group : KBTG) พร้อมกับแต่งตั้งให้ ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ดำรงตำแหน่งประธาน KBTG ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา

ธีรนันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันไอทีกลายเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจการเงิน ทั้งเสริมการให้บริการและเป็นตัวสร้างธุรกิจใหม่อย่างฟินเทค เห็นได้ว่าเรื่องไอทีมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต จึงต้องก่อตั้งขึ้นเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของเครือธนาคารกสิกรไทย เพราะบางเรื่องไอทีถือเป็นตัวเบิกทางของธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

สถาบันการเงินหลายแห่งมองฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินเป็นภัยคุกคามที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดของธนาคารพาณิชย์ แต่ธนาคารกสิกรไทยมองอีกด้านว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่อุดมไปด้วยบุคลากรความสามารถสูง และมีจุดแข็งในฐานลูกค้าหลายล้านบัญชี ศักยภาพสูงเช่นนี้สามารถรุกเป็นฟินเทคได้เอง ไม่จำเป็นต้องตั้งรับการแข่งขัน

“การแยกการบริหารเป็นอิสระออกมาจากธนาคาร ทำให้หน่วยธุรกิจนี้มีความยืดหยุ่น ไม่ติดกับกฎระเบียบของธนาคาร สามารถปรับเปลี่ยนรองรับดึงคนไอทีรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการการผูกมัดเข้ามาร่วมงาน จากนั้นเมื่อมีความพร้อม KBTG ก็จะสามารถเป็นเอาต์ซอร์สให้บริษัทภายนอกได้ เช่น Cloud Service ได้” ธีรนันท์ กล่าว

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารสนใจลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคตและมีศักยภาพ โดยหนึ่งในนั้นคือฟินเทค และธุรกิจการเงิน เช่น วีซ่า มาสเตอร์การ์ด รวมถึงธุรกิจที่จะมาเป็นคู่แข่งของธนาคารในอนาคต เช่น กูเกิลเพย์ ซึ่งมีระบบการรับจ่ายเงินผ่านออนไลน์ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นคู่แข่งสำคัญของธนาคาร จึงเห็นว่าควรหาทางเป็นพันธมิตรหรือลงทุนธุรกิจประเภทนี้

นอกจากนี้ บุคลากรด้านฟินเทคจึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ทำให้เกิดการจัดประกวดนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเงินขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารกสิกรไทย เข้าร่วมกับพันธมิตรสนับสนุนการประกวดแนวคิดด้านการพัฒนาระบบชำระเงินและเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) เพื่อเฟ้นหาให้ผู้ที่มีความคิดโดดเด่น ใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเงิน

เมื่อฟินเทคเบ่งบาน การกำกับดูแลธุรกิจฟินเทคในไทยก็ยังมีไม่มากตามไปด้วย อย่าง คราวด์ฟันดิ้ง ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มเข้ามาดู แต่ยังเป็นการสอบถามรูปแบบวัตถุประสงค์ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะกำกับดูแลกลุ่มนี้อย่างจริงจัง

ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน ธปท.จึงอยู่ระหว่างดูหลักเกณฑ์การควบคุมให้เหมาะสม แต่ขณะนี้ยังไม่น่าห่วง เพราะแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น สถาบันการเงินก็มีการซื้อแนวคิดไปให้บริการต่อ ทำให้ ธปท.ยังดูแลได้ แต่ในเรื่องคลาวด์แลนดิ้ง ยอมรับว่ายังไม่มีการควบคุม เพราะไม่ใช่สถาบันการเงิน ถ้าจะคุมต้องออกกฎหมายใหม่หรือกฎหมายพิเศษมาดูแล

ฟินเทค ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของธนาคาร รวมทั้งผู้กำกับดูแลด้วย เพราะเป็นนวัตกรรมที่ใหม่มาก กฎหมายการเงินจะต้องพัฒนาให้เท่าทัน หรือครอบคลุมการเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายต้องไม่ปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย


อุตสาหกรรมฟินเทคเขย่าโลก เอเชียตื่นตัวรับ.

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

กระแสการลงทุนในเทคโนโลยีการเงิน หรือ FinTech นั้น นับเป็นนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่สิ่งใหม่ (Disruptive) ที่น่าจับตามากที่สุดอย่างหนึ่ง

เพราะนอกจากจะทลายธุรกรรมการเงินแบบเดิมที่เคยผูกขาดในมือธนาคารหรือสถาบันการเงิน ให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกและลูกเล่นใหม่ๆ ที่สอดรับกับยุคสมัย ก็ยังเปิดโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ใช้ไอเดียและนวัตกรรม (Startup) ได้เข้ามาร่วมผลักดันยุคสมัยของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย

แม้จะมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 แต่อาจกล่าวได้ว่าฟินเทคเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2008 เนื่องจากเป็นช่วงที่ระบบการเงินในสหรัฐกำลังล่มสลายในวิกฤตการณ์ทางการเงิน การที่ภาคการเงินมัวแต่วุ่นอยู่กับการล้างหนี้เสียและตัวเลขขาดทุนมหาศาล ซ้ำยังเผชิญวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ ทำให้แวดวงซิลิคอน วัลเลย์ มองเห็นโอกาสเปลี่ยนแปลงโลกการเงินใหม่ ซึ่งสอดรับกับยุคที่โลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน

จากตัวเลขการลงทุนในปี 2008 ที่ประมาณ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 33.2 หมื่นล้านบาท) การลงทุนในฟินเทคทั่วโลกได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 6 ปีมานี้จนอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.28 แสนล้านบาท) ในปี 2014 จากการรวบรวมข้อมูลและประเมินโดยบริษัท แอคเซนเจอร์ โดยในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในทวีปยุโรปมากที่สุดถึง 215% ไปอยู่ที่ 1,480 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.28 หมื่นล้านบาท) ขณะที่สหรัฐยังคงเป็นพื้นที่การลงทุนใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมนี้

ผู้บริโภคปันใจจากแบงก์ซบฟินเทค

ปัจจุบันอาจสามารถจำกัดประเภทของธุรกิจฟินเทคแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ ธุรกรรมการโอนเงิน ธุรกรรมชำระเงิน ธุรกิจสินเชื่อแบบ P2P แพลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์ การระดมทุน Equity Funding และประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ทว่าการแบ่งประเภทขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทผู้วิจัย

การเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เห็นได้ชัดมากที่สุดทั่วโลกนั้น อยู่ในธุรกรรมการโอนเงินและชำระเงินเป็นหลัก เนื่องจากได้ปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้มากขึ้น นำไปสู่การแพร่หลายของสมาร์ทโฟนและดีไวซ์ต่างๆ ยิ่งเมื่อฟินเทคที่มีข้อได้เปรียบด้านความคล่องตัวและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงยิ่งเอื้อให้สามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากธนาคารได้มากขึ้น

สแควร์ (Square) ของเจ้าพ่อทวิตเตอร์ แจ็ค ดอว์ซีย์ สร้างจุดเด่นจากบริการอุปกรณ์รูดบัตรเครดิตที่ติดตั้งได้ง่ายๆ กับไอโฟนหรือไอแพด ซึ่งนิยมอย่างมากสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องการความคล่องตัวในการรับชำระเงิน ล่าสุด บริษัทเครดิตการ์ดระดับโลกอย่าง วีซ่า อิงค์ (Visa Inc.) ได้เข้าร่วมลงทุนในสแควร์เพิ่มเป็น 10%

ส่วนธุรกิจสินเชื่อแบบ P2P นั้นถือว่าเติบโตอย่างโดดเด่นมากที่สุดในจีน ซึ่งมีเม็ดเงินมหาศาลถึงราว 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.71 แสนล้านบาท) โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์ในจีนไม่ค่อยนิยมปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย จึงทำให้ธุรกิจปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนที่โดดเด่นที่สุดในสหรัฐนั้นย่อมหนีไม่พ้น เล็นดิ้ง คลับ (Lending Club) ที่ยังคงเป็นแพลตฟอร์ม P2P ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการปล่อยกู้มากกว่า 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.9 แสนล้านบาท)

เอเชียตื่นตัวพร้อมรับฟินเทค

กระแสการลงทุนฟินเทคในเอเชียนับว่ากำลังมาแรงตามฝั่งตะวันตกมาติดๆ นำโดยฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่ถือเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านฟินเทคในภูมิภาคนี้

กองทุนระดับโลกอย่าง เทมาเซก โฮลดิงส์ ร่วมลงทุนกับบริษัทสัญชาติอังกฤษ ฟันด์ดิง เซอร์เคิล ที่เป็นแพลตฟอร์มกลางปล่อยเงินกู้โดยตรงระหว่างผู้กู้และผู้ปล่อยเงินในแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P) ซึ่งระดมเงินทุนรอบใหม่ไปได้ถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5,355 ล้านบาท) เมื่อปีที่ผ่านมา และแม้แต่กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซียอย่าง ลิปโป ก็ยังเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทที่มีแววรุ่งในสหรัฐ ในการระดมทุนรอบล่าสุดที่ซิลิคอน วัลเลย์ มาแล้ว หลังจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพิ่งประกาศแผนเวนเจอร์ แคปิตอลใหม่ ในวงเงินลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

ศักยภาพของอุตสาหกรรมฟินเทคยังอาจวัดได้ส่วนหนึ่งจากการตื่นตัวของธนาคารทั่วโลกที่ตั้งงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อปรับตัวด้านเทคโนโลยี โดยส่วนหนึ่งเป็นการเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อสู้กับคู่แข่ง และอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็น “นักลงทุน” ในรูปแบบของเวนเจอร์ แคปิตอล (Venture Capital) เข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทฟินเทคที่มีศักยภาพ

ธนาคารโอซีบีซี แบงก์ใหญ่สุดรายหนึ่งในสิงคโปร์ เปิดตัวเทคโนโลยี “วันทัช” เมื่อต้นปีก่อน โดยใช้การจดจำ “ลายนิ้วมือ” เป็นกุญแจ ขณะที่ธนาคารรายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ดีบีเอส เร่งลงทุนด้านเทคโนโลยี และมีรายงานว่าได้เข้าไปซื้อหุ้น 10% จากบริษัทฟินเทครายหนึ่งในศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ใช้เทคโนโลยีจดจำเสียง (Voice recognition)

ในปี 2558 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) ยังประกาศสนับสนุนงบประมาณ 225 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 5,715 ล้านบาท) ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมฟินเทคโดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ให้ขยายตัวอย่างเป็นระบบ 

ส่วนในอินโดนีเซีย คณะกรรมการกำกับดูแลการบริการทางการเงิน (เอฟเอสเอ) ปรับตัวร่วมมือทำงานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการออกกฎระเบียบที่ควบคุมดูแล และกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมฟินเทคในอินโดนีเซียออกมาภายในปีนี้ ส่วนในฮ่องกง แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐเร่งปรับตัวเพื่อควบคุมดูแลฟินเทคให้รัดกุมขึ้น ทว่าก็ยังไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงใดๆ

“เอ็มเอเอสเป็นผู้สนับสนุนฟูมฟักภาคดิจิทัลและนวัตกรรมในสิงคโปร์ และหนุนภาคธนาคารด้วย โดยใช้เงินทุนจำนวนนี้ทดสอบเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาเคยไม่เชื่อมั่นก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าสิงคโปร์จะกลายเป็นสมรภูมิของการเปลี่ยนผ่านทางนวัตกรรมที่สำคัญในเอเชีย แข่งกับฮ่องกง จีน และอินเดีย”ไซรัส ดารุวลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซท์ กล่าวกับชาแนลนิวส์เอเชีย


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฟินเทค พลิกโฉม บริการการเงิน

view