สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราคาน้ำมัน "ขาลงยาว" ซัพพลายล้ำหน้าดีมานด์หลายขุม

จากประชาชาติธุรกิจ

แม้ราคาน้ำมันกระเตื้องช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่า ดีมานด์จะขยับสูงกว่าซัพพลายในปี 2560 ประกอบกับมีความหวังว่า ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกจะบรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิตในเร็ว ๆ นี้ แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า อาจเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป

IEA คาดการณ์ว่า กำลังการผลิตเชลออยล์ในสหรัฐจะลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวันในปีนี้ และลดอีก 200,000 บาร์เรลต่อวันในปีหน้า ทำให้ดีมานด์และซัพพลายค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่ภาวะสมดุลภายในปี 2560

อย่างไรก็ตาม วอลล์สตรีต เจอร์นัล ชี้ถึงหลายปัจจัยที่ส่งสัญญาณว่า ภาพรวมราคาน้ำมันยังคงเป็นขาลง และการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเพียงแสงสว่างวูบเดียว

เศรษฐกิจโลกฉุดดีมานด์

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังไม่สดใส เห็นได้จากที่หลายหน่วยงานทยอยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี นี้ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หั่นจาก 3.6% เหลือ 3.4% ซึ่งสะท้อนว่าความต้องการใช้น้ำมันย่อมชะลอตัวเช่นกัน

ปีที่แล้ว ซัพพลายน้ำมันทั่วโลกอยู่ที่ 98.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ล้ำหน้าดีมานด์กว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังไม่รวมกำลังการผลิตสำรองราว 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่เกิดจากการระงับไปโดยสมัครใจของซาอุดีอาระเบีย และการหยุดผลิตชั่วคราวในประเทศอื่น ๆ จากความวุ่นวายทางการเมืองหรือปัญหาทางเทคนิคยังไม่มีแนวโน้มที่ ความต้องการบริโภคน้ำมันจะเพิ่มขึ้นมากพอที่จะช่วยผลักดันราคา นายลีโอนาร์โด มาเจอรี จากศูนย์วิทยาศาสตร์และการต่างประเทศเบลเฟอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า ดีมานด์ในปีนี้ต้องขยับขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปีหน้าอีกวันละ 2 ล้านบาร์เรล จึงจะช่วยให้ดีมานด์และซัพพลายสมดุลกัน ทว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่ำกว่า 900,000 บาร์เรลต่อวัน

การลงทุนยังไม่ลด

แม้ว่าผู้ผลิตจะสามารถลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับดีมานด์ที่ต่ำลงได้ไม่ยาก แต่ศักยภาพในการผลิตกลับลดลงอย่างเชื่องช้า หมายความว่า ทันทีที่ราคาขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย ผู้ผลิตก็พร้อมปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นในทันที ส่งผลให้ราคาปรับลดลงอีกครั้งอย่างรวดเร็ว โอกาสที่ราคาจะไต่ระดับขึ้นยาว ๆ จึงเป็นไปได้ยาก

ยิ่งไปกว่านั้น การทุ่มลงทุนอย่างหนักช่วงหลายปีก่อนเพื่อขยายกำลังการผลิตจะยังคงสร้างแรง กดดันต่อราคาไปจนถึงปี 2560 เป็นอย่างน้อย ส่วนการประกาศยกเลิกแผนลงทุนของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่หลายแห่ง แทบทั้งหมดเป็นโครงการที่ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนโครงการที่ลงมือไปแล้วยังคงเดินหน้าต่อไป

นายมาเจอรีซึ่งคาด การณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2555 ว่าราคาน้ำมันจะลดฮวบ ระบุว่า "หลายประเทศหรือหลายบริษัทประกาศตัดงบประมาณรายจ่าย แต่โครงการที่เริ่มต้นไปแล้วโดนหางเลขน้อยมาก" พร้อมเสริมว่า เว้นแต่ดีมานด์พุ่งกระฉูด ซึ่งเป็นไปได้น้อยมาก โครงสร้างตลาดพลังงานจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง "แม้จะมีการลดกำลังการผลิตที่นั่นที่นี่ แต่ปริมาณการผลิต ศักยภาพการผลิตและกำลังการผลิตสำรอง ยังสูงเกินว่าดีมานด์จะไล่ตามทัน"

ข้อตกลงที่ยากจะทำตาม

หลายคนตั้งความหวังว่า หากกลุ่มผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือ OPEC กับผู้ผลิตนอกกลุ่มอย่างรัสเซีย สามารถบรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิต จะช่วยกระตุ้นราคาน้ำมันได้ แต่นายมาเจอรีให้ความเห็นว่า สิ่งที่ยากยิ่งกว่าการบรรลุข้อตกลงก็คือ การปฏิบัติตามเงื่อนไข

ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติภายในกลุ่มโอเปกจะพบว่า ประเทศสมาชิกมักจะผลิตน้ำมันเกินโควตาที่ทางกลุ่มกำหนดไว้ ทั้ง ๆ ที่หลายปีก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และสมาชิกมีรายได้เหลือเฟือ แต่ในขณะนี้หลายประเทศขาดแคลนเงิน การลดกำลังการผลิตอาจนำไปสู่การสูญเสียตลาดให้เชลออยล์ ดังนั้นในทางปฏิบัติ จึงยากที่กลุ่มโอเปก หรือรัสเซียจะยอมลดกำลังการผลิต

นอกจากคู่แข่งในอเมริกาเหนือแล้ว ยังมีหอกข้างแคร่อย่างอิหร่าน ที่พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทวงคืนส่วนแบ่งในตลาดโลก หลังชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

อิหร่านส่งสัญญาณชัดว่า จะไม่เข้าร่วมการคงกำลังการผลิตที่ซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียตกลงกัน นายไบจัน ซานเกนเนะห์ รัฐมนตรีน้ำมันอิหร่าน ถึงกับเรียกข้อตกลงคงกำลังการผลิตข้างต้นว่า เป็น "เรื่องตลก" และถ้า 2 ประเทศดังกล่าวจับมือลดกำลังการผลิตในอนาคต อิหร่านจะฉวยโอกาสนี้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างแน่นอน

งานนี้ถ้าประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังคงใช้กลยุทธ์รวมหัวกันกดดันราคา โดยไม่เร่งหาทางออกอื่น ก็รังแต่จะจมลึกลงในทรายดูดมากขึ้นทุกที


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราคาน้ำมัน ขาลงยาว ซัพพลาย ล้ำหน้า ดีมานด์ หลายขุม

view