สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำงานไม่ตรงสาย วิบากกรรมสะท้อน ป.ตรีสายสังคมเฟ้อ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

“จบวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่มาทำงานด้านสื่อสารมวลชน” “จบโรงแรม แต่ทำงานโฆษณา” “จบรัฐศาสตร์ แต่ต้องมาทำร้านอาหาร หางานไม่ได้มาหลายปีก็เลยต้องทำใจ” “จบบริหาร แต่ต้องเป็นแม่ครัวโต๊ะจีนในโรงแรม เพราะได้ค่าจ้างสูงกว่างานที่ตรงกว่า ก็เลยไม่คิดอะไรมาก”

เสียงสะท้อนหลากหลายซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป กลายเป็นข้อสังเกตสำคัญในชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยที่บัณฑิตจบใหม่ในบางสาขาวิชาต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่า ปัญหาเรียนจบแล้วทำงานไม่ตรงสายที่เรียนมา เป็นเรื่องที่ยังไม่มีการศึกษาในหลายประเด็น ประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวม ไม่มีตัวเลขผู้เรียนระดับอุดมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้วออกมาทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียน

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยในต่างประเทศที่ศึกษาเรื่องนี้ ระบุว่า โดยปกติทั่วโลกจะมีผู้ที่ต้องทำงานไม่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมากถึง 1 ใน 3 โดยเฉพาะผู้ที่เรียนจบด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ไม่มีรูปแบบวิชาชีพที่ชัดเจน

ขณะที่กรณีของประเทศไทย คาดว่า การทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบน่าจะมีปริมาณสูงกว่าที่งานวิจัยดังกล่าวระบุ เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การเรียนในภาควิชาสายสังคมศาสตร์เติบโตขึ้นมาก จนกล่าวได้ว่ามากกว่าในหลายประเทศ

“รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนเรียนระดับอุดมศึกษา แต่ควรสนับสนุนผู้ที่อยากเรียน หรือต้องการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งไม่น่าเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่าเรียนจบระดับมัธยมแล้วจะทำอะไรต่อ ผู้ที่ยังไม่มีเป้าหมายการเรียนที่ชัดเจนควรเรียนสายอาชีพเพื่อทำงานก่อน แล้วค่อยเรียนต่อในระดับปริญญาตรี หรือระดับที่สูงขึ้นภายหลัง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นโมเดลการเรียนที่ประชากรในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ หรือเยอรมนี ถือปฏิบัติจนเป็นเรื่องปกติ” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าว

เกียรติอนันต์ ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเพื่อแก้ปัญหาการทำงานไม่ตรงสาย คือ ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เหมือนที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศมี ซึ่งมีการระบุชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง แต่ละสาขา เรียนจบแล้วมีอัตราการตกงานแค่ไหน สาขาไหนทำแล้วได้เงินเดือนเท่าไร อาชีพไหนกำลังมีตำแหน่งในตลาดแรงงาน มีแม้กระทั่งระบุว่าเรียนจบแต่ละสาขาใช้เวลาหางานนานแค่ไหน

“จากที่ได้ไปทำงานเรื่องนี้ในหลายพื้นที่ พบว่า เด็กไทยมีความรู้เรื่องการเรียนกับการทำงานน้อยมาก เพราะการผลิตบัณฑิตมากเกินไปในขณะที่งานมีจำกัด มีการแย่งงานกันแน่นอน เมื่อแย่งกันทำก็ทำให้โอกาสที่จะทำให้ได้เงินเดือนสูง ก็ลดลงเพราะนายจ้างมีตัวเลือกเยอะ ในประเทศไทยตอนนี้คนเลือกเรียนเพราะความอยากเรียน แต่ไม่ได้ดูเรื่องความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต” เกียรติอนันต์ กล่าว

อาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สกอ.มีการสำรวจว่าจะมีการเรียนสายไหนที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เตรียมกำลังคนล่วงหน้าในโปรเจกต์ใหญ่ๆ ของรัฐบาล และทิศทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจาก สกอ.ทำได้เพียงเสนอเป็นนโยบาย และมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ต่างผลิตเด็กตามศักยภาพที่แต่ละแห่งมี มาตรการที่ดำเนินการจึงเป็นเพียงการส่งเสริมเรื่องการให้ทุนการศึกษาเพื่อจูงใจผู้เรียนในสาขาที่มีความต้องการในตลาดได้

“เราบังคับมหาวิทยาลัยไม่ได้ หลายแห่งจึงยังผลิตนักศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่ต้องลงทุนด้านต่างๆ มาก เหมือนสาขาวิทยาศาสตร์ ผู้ที่เรียนสายสังคมศาสตร์จึงควรเลือกสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ยอมรับว่าจุดอ่อนของข้อมูลเรื่องนี้ แต่ละปีเราไม่มีตัวเลขการเรียนจบและตกงานที่แต่ละหน่วยงานสำรวจที่ไม่ตรงกันนัก ” เลขาธิการ สกอ. กล่าว

ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า ทุกๆ ปีจะได้รับรายงานว่ามีผู้จบปริญญาตรี ยอมทำงานสายอาชีพและรับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าวุฒิการศึกษา และเพื่อช่วยเหลือบัณฑิตกลุ่มดังกล่าว สอศ.จะเลือกหลักสูตรฝึกฝีมือระยะสั้นช่วยสอนด้านอาชีพ โดยเลือกหลักสูตรที่นำไปประกอบอาชีพได้จริงตามความต้องการของตลาดจาก 600 หลักสูตร


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำงานไม่ตรงสาย วิบากกรรมสะท้อน ป.ตรีสายสังคม เฟ้อ

view