สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙ !!!

        ชาวต่างชาติหลายรายที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทย แล้วเกิดความประทับใจจนยึดเอาประเทศไทยเป็นเรือนตาย รายหนึ่งถูกส่งมาทำงานในสถานกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ เคยรับหน้าที่ถึง “รักษาการแทนกงสุล” แต่เกิดขัดใจกับกงสุลตัวจริง จึงลาออกกลับไปบ้าน แล้วกลับเข้ามาขอรับราชการไทย มีความรู้ความสามารถหลายด้าน จนเป็นคนโปรดสมเด็จพระปิยมหาราช สร้างผลงานไว้หลายอย่าง และสืบเชื้อสายเป็นตระกูลดังของเมืองไทย หลานปู่เป็นองคมนตรีในรัชกาลปัจจุบัน
       
       ชาวอังกฤษต้นตระกูลไทยรายนี้ ก็คือ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ ซึ่งเดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขณะที่มีอายุเพียง ๒๐ ปีเศษ โดยรัฐบาลอังกฤษสมัยควีนวิคตอเรียส่งเข้ามาเรียนภาษาไทย เพื่อจะให้กลับไปเป็นล่ามสำหรับทางราชการอังกฤษ ก่อนหน้านั้นนายอาลาบาสเตอร์ก็ร่ำเรียนวิชามาหลายแขนง ทั้งด้านอักษรศาสตร์ กฎหมายระหว่างประเทศ วิศวกรรมศาสตร์ วิชาแผนที่ วิชาก่อสร้าง และพฤกษศาสตร์ เมื่อรู้ภาษาไทยใช้ได้แล้วก็เข้าประจำอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ เพื่อฝึกภาษาให้คล่อง แต่นายอาลาบาสเตอร์เป็นคนที่มีน้ำใจเข้าช่วยเหลือราชการไทยหลายอย่าง เช่น การสำรวจแนวตัดถนนเจริญกรุง เป็นต้น
       
       ในคราวตามเสด็จพระราชดำเนินไปดูสุริยุปราคาที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๑๑ นายอาลาบาสเตอร์ดูจะมีความประทับใจเป็นพิเศษ ตอนนั้นรับหน้าที่รักษาการกงสุลอังกฤษแทนนายโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ ซึ่งกลับไปเยี่ยมบ้าน คณะของเขาได้รับเชิญให้เดินทางไปด้วยเรือรบหลวงที่ดีที่สุดของไทย และทรงต้อนรับโดยการยิงสลุตด้วยพระองค์เอง ซึ่งทำให้นายอาลาบาสเตอร์ถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างใหญ่หลวงที่พระราชทานให้ ทั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีกลาโหม ยังต้อนรับคณะของเขาเหมือนเครือญาติ ให้ร่วมพักในที่พักของท่าน
       
       แต่หลังจากนั้นไม่นาน นายอาลาบาสเตอร์มีเรื่องขัดแย้งกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในด้านงาน จนถึงนายอาลาบาสเตอร์ซึ่งยังรักษาการกงสุลอยู่ได้สั่งลดธงที่หน้าสถานกงสุล อังกฤษลง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ “ในความทรงจำ” ว่า
       
       “เรื่องกงสุลอังกฤษลดธงนั้น ตัวกงสุลเยเนอราลอังกฤษชื่อน๊อกซ์ เวลานั้นไปยุโรปกลับมายังไม่ถึงกรุงเทพฯ ผู้รักษาการแทนชื่ออาลบาสเตอร์ ที่เป็นผู้ตั้งวิวาท เกิดเหตุด้วยพวกเจ้าภาษีฝิ่น ซึ่งขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ไปจับฝิ่นเถื่อนที่โรงก๊วนพวกงิ้ว อยู่ริมวัดสัมพันธวงศ์ เกิดต่อสู้กันไฟไหม้โรงก๊วน แล้วลุกลามไปไหม้ตึกที่พวกแขกในบังคับอังกฤษตั้งร้านขายของ ทรัพย์สินเสียไปเป็นอันมาก กงสุลอังกฤษหาว่าความเสียหายเกิดเพราะพวกเจ้าภาษีเผาโรงก๊วน จะให้ลงโทษและเรียกค่าเสียหายทดแทนให้พวกแขก ฝ่ายเจ้าภาษีฝิ่นแก้ว่า ไฟไหม้เพราะพวกงิ้วจุดเผาโรงก๊วนเมื่อจะหนีออกทางหลังโรง เจ้าภาษีหาได้เผาโรงก๊วนไม่ กงสุลไม่เชื่อจะให้รัฐบาลตั้งข้าหลวงไต่สวนด้วยกันกับกงสุลตามข้อสัญญาว่า ด้วยคนในบังคับ ๒ ฝ่ายวิวาทกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่ยอม ว่ากรณีไม่ตรงกับข้อสัญญา เพราะเจ้าภาษีฝิ่นมิได้วิวาทกับแขกในบังคับอังกฤษ รับแต่จะให้เงินทดแทนพวกแขกเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่ไฟไหม้ กงสุลไม่ยอม จึงเกิดวิวาทกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รู้ว่านายน๊อกซ์กับนายอาลบาสเตอร์ไม่ชอบกันในส่วนตัว โต้แย้งถ่วงเวลาไว้จนนายน๊อกซ์กลับมาถึงแล้วพูดจากันฉันมิตร ให้เห็นว่าที่เอากรณีเล็กน้อยเพียงเท่านั้นเป็นเหตุให้เกิดวิวาท เฉพาะในเวลาบ้านเมืองกำลังฉุกเฉินด้วยเปลี่ยนรัชกาล จะเสียประโยชน์ของรัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่าย นายน๊อกซ์เห็นชอบด้วยยอมถอนคดีนั้น ส่วนเรื่องลดธง นายอาลบาสเตอร์ชึ้แจงว่าที่จริงนั้นเป็นด้วยเชือกชักธงขาด จึงมิได้ชักธงในวันที่เตรียมการต่อเชือก หาได้ลดธงในทางการเมืองไม่ แต่เมื่อแพ้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ นายอาลบาสเตอร์ก็ลาออกจากตำแหน่ง กลับไปยุโรป...”
       
       ต่อมาในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๑๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ก็กลับเข้ามาเมืองไทยอีกเป็นการส่วนตัว ทางการไทยไม่ได้สนใจเรื่องที่เคยขัดแย้งกับนายอาลาบาสเตอร์ และไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีก ต่อมานายอาลาบาสเตอร์ขอเข้ารับราชการไทย ซึ่งความรู้หลายแขนงของเขาได้ช่วยพัฒนาเมืองไทยในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ ปรับตัวเข้ารับอารยธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้อย่างมาก ทั้งการสำรวจตัดถนนสายปากน้ำ การก่อสร้างต่างๆ การจัดสวนพระราชอุทยานสราญรมย์และปทุมวัน ค้นคว้ารวบรวมกฎหมาย รวมทั้งงานอื่นๆอีกหลายแขนง โดยพบพระราชหัตถเลขาสั่งการเกี่ยวกับนายอาลาบาสเตอร์ไว้มาก อาทิเช่น
       
       ถึง มิสเตอร์อาลบาสเตอร์
       ด้วยเราอยากจะทราบราคาเรือเหล็กเป็นป้อมดังรูปที่ส่งมาด้วย กว้างสัก ๑๒๐ ฟิตถึง ๑๓๐ ฟิต ให้กินน้ำเมื่อบรรทุกของพร้อมเพียง ๘ ฟิต ให้มีอาวุธปืน ๓๘ ตัน ๒ บอก ปืนแกตลิงกัน ๔ บอก แต่ให้มีฝีท้าวสัก ๑๒ นอด ดังนี้จะเป็นราคาทั้งลำประมาณสักเท่าใด ขอให้ถามดูที่เมซันให้ทราบ
       จดหมายมา ณ วัน ๗ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลูนพศก ๑๒๓๙
       (พระบรมนามาภิไธย) Chulalonkorn R.S.
       
       รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งแรกขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๑๕ ที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง งานนี้ก็เป็นภาระของนายเฮนรีอีกเช่นกัน เพื่อเตรียมต้อนรับนายพลแกรนท์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะมาเยี่ยมเมืองไทยโดยทางเรือเมล์ ทรงมีพระราชหัตถเลขาสั่งการว่า
       
       ร. ที่ ๑๓ /๔๐
       ให้มิสเตอร์อาลบาสเตอร์กับจมื่นสราภัยแลทหารกำปนีอินชะเนีย ช่วยกันจัดการในมิวเซียมให้เยเนอราลแกรนต์ดู เมื่อจะต้องการของสิ่งใดมาตั้ง ก็ให้เรียกเอาแต่เจ้าพนักงานนั้นๆ ตามพนักงาน ให้เจ้าพนักงานส่งสิ่งของนั้นมาตั้งตามเคยเหมือนอย่างแต่ก่อน
       สั่งมา ณ วัน ๕ แรม ๔ ค่ำ ปีเถาะ ยังเป็นสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐
       ( พระบรมนามาภิไธย) Chulalonkorn R.S.
       
       งานเริ่มต้นการไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กับเจ้าหมื่นเสมอใจราช เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็ต้องถึงนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์อีกเช่นกัน ดังพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ตอนหนึ่งว่า
       
       “ถึงท่านเล็ก ด้วยเธอจดหมายส่งหนังสือมีไป แลมิสเตอร์อาลบาสเตอร์มีมา เรื่องที่จะชวนให้มาช่วยการในกรมไปรษณีย์นั้น ได้ทราบแล้ว
       ซึ่งมิสเตอร์อาลบาสเตอร์จะรับไปช่วยการวันละสองชั่วโมงนั้น เห็นว่าพอจะได้การมากอยู่แล้ว เธอต้องคิดวางผู้คนที่จะทำการให้เป็นได้ทำการจริงแล้ว การก็คงจะตลอดไปได้”
       
       นายอาลาบาสเตอร์คงต้องแบกงานไว้มาก จึงจัดเวลาไปช่วยวางรากฐานการไปรษณีย์ไทยได้เพียงวันละ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น
       
       ไม่แต่นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์จะทำให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยเท่านั้น แหม่มอาลาบาสเตอร์ก็เช่นกัน ดังได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึง มีความว่า
       
       ถึง แหม่มอาลบาสเตอร์
       ด้วยพระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ได้นำรูปเขียน รูปลำคลองลัดซึ่งเป็นของแหม่มเขียนเองมาให้ ฉันได้รับแล้ว แลรูปเขียนนี้เมื่อก่อนฉันได้เห็นก็นึกชอบใจมาก ด้วยเป็นรูปถิ่นฐานบ้านเมืองของเรา แลฝีมือเขียนต้นไม้แลลำน้ำงามนัก แล้วพระองค์กาพย์ได้นำรูปที่แหม่มเขียนที่ต่างๆมาให้ดู ฉันชอบใจรูปอ่างศิลาแลเกาะสีชังเห็นว่าเขียนงามแลเหมือนที่นั้นจำได้ถนัดที เดียว พระองค์กาพย์บอกว่าแหม่มจะให้อีก ฉันต้องขอตอบขอบใจแหม่มมาก แลรูปที่ให้มานั้นคงจะเป็นสิ่งของที่รักษาสืบไป แลยังไว้ใจว่ารูปเกาะบางปะอินซึ่งแหม่มจะเขียนต่อไปนั้น คงจะยิ่งดีขึ้นไป จดหมายมา ณ วัน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด อัฐศก ๑๒๓๘
       (พระบรมนามาภิไธย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.
       
       พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ได้เขียนไว้ในเรื่อง“มูลเหตุจัดการกรม ไปรษณีย์โทรเลข พ.ศ. ๒๔๔๒” กล่าวถึงมิสเตอร์เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ไว้ว่า
       
       “ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ปรากฏว่ามีฝรั่งชาวอังกฤษ ชื่อมิสเตอร์เฮนรี อาละบาสเตอร์ ผู้หนึ่ง ซึ่งเคยรับราชการอังกฤษตำแหน่งราชทูตในราชสำนักไทยแล้วลาออกมารับราชการไทย มาถึงสมัยข้าพเจ้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้เคยเป็นครูข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้จักดีตลอดทั้งครอบครัว แลบุตรของเขาได้รับราชการกระทรวงมหาดไทยถึงเป็นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลก็มี มิสเตอร์อาละบาสเตอร์นั้นเป็นคนอังกฤษแท้ รูปร่างสันทัด ตาเหล่เล็กน้อย เป็นผู้มีวิชาความรู้ดี เมื่อมีพระราชกิจในรัชกาลที่ ๕ อย่างไร ข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีรับสั่งให้หาเขาเข้าไปเฝ้าเนืองๆ เขาชำนาญการกฎหมายนานาประเทศ การเมืองต่างประเทศ โบราณวัตถุ เมื่อเวลาข้าพเจ้ารู้จักเขานั้น ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่หน้าประตูพิมานไชยศรี ตรงที่ศาลาสหทัยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บัดนี้เรียกกันว่ามิวเซียม และเข้าใจกันว่าเป็นมิวเซียมแรกในเมืองไทยเรา ตั้งสำนักงานของเขาที่นั้น ข้าพเจ้าสังเกตดู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดและทรงนับถือมิสเตอร์อาละบาสเตอร์มาก ข้าพเจ้าเคยเห็นในเวลาเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปถึงหน้าสำนักงานของเขา เช่นเวลาเสด็จประพาสวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มิสเตอร์อาละบาสเตอร์ลงไปเฝ้าถวายความเคารพ เป็นหยุดกระบวนเสด็จ หยุดพระราชยาน รับสั่งทักทายปราศรัยมิสเตอร์อาละบาสเตอร์ทุกครั้ง เป็นเกียรติยศซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระราชทานแก่ผู้ใด”
       
       นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์รับราชการไทยได้เพียง ๑๐ ปีเศษ ก็เกิดป่วยเป็นอัมพาตอย่างกะทันหัน ขากรรไกรแข็งพูดไม่ได้ เพียง ๒ วันก็สิ้นใจในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสียพระทัยมาก มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ตอนหนึ่งมีความว่า
       
       “ด้วยมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ป่วยเป็นลมอำมพาธอย่างแรงที่สุด แต่คืนนี้เวลา ๑๐ ทุ่มไม่มีสติเลย มาจนเวลาวันนี้สองทุ่มตาย เป็นการขาดทุนยิ่งใหญ่ของเรา การทั้งปวงยังอะร้าอร่ามอยู่มาก มิสเตอร์อาลบาสเตอร์ได้รับราชการมาถึงสิบสามสิบสี่ปี ทำการใดซื่อตรงจงรักภักดีต่อไทยจริงๆ การใหญ่ๆ ก็ได้ปลุกมามาก จะหาคนนอกใช้ให้เสมอเหมือนยากนัก จะว่าโดยความชอบก็มีมากให้กินพานทองได้ทีเดียว....”
       
       ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงแม่หม้าย มิสซิสอาลาบาสเตอร์ สำแดงพระทัยโศกเศร้า และพระราชทานเบี้ยเลี้ยงชีพตลอดเวลาที่ยังเป็นหม้ายอยู่ปีละ ๓๐๐ ปอนด์ คือสามสิบชั่ง หรือ ๒,๔๐๐ บาท กับพระราชทานให้เป็นส่วนเลี้ยงบุตรอีกปีละ ๒๐๐ ปอนด์ ทั้งยังมีพระบรมราชโองการให้จัดมณฑปแบบโบสถ์ฝรั่งให้ตั้ง ณ ที่ฝังศพ และปั้นรูปนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ด้วยหินปูน ตั้งไว้ในมณฑปนั้นด้วย จัดพิธีศพระดับพระยาพานทอง
       
       นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์มีภรรยา ๒ คน คนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ ได้กลับบ้านไปเมื่อนายอาลาบาสเตอร์เสียชีวิต ส่วนอีกคนเป็นคนไทย มีหน้าที่ถวายนมพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ พระองค์หนึ่งด้วย มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อ ทองคำ และ ทองย้อย เมื่อบิดาเสียชีวิตมารดาจึงนำบุตรทั้ง ๒ ไปเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง
       
       บุตรชายทั้ง ๒ ที่เกิดจากแม่ไทยไม่ได้ถือศาสนาคริสต์ตามบิดา แต่ได้ถือศาสนาพุทธตามมารดา บวชเรียนเป็นเณร เมื่อโตขึ้นก็เข้ารับราชการทั้ง ๒ คน ต่างสร้างผลงานไว้ดีเด่นไม่แพ้บิดา นายทองคำได้เป็น พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ส่วนนายทองย้อยได้เป็น พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง
       
       ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล บุตรชายทั้ง ๒ ของนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ได้ขอพระราชทานนามสกุล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้ว่า “เศวตศิลา” ซึ่งตรงกับความหมายของ “อาลาบาสเตอร์”ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง “หินสีขาว”
       
       ที่สุสานโปรเตสแตนท์ ถนนตก สถานที่ฝังร่างของชาวตะวันตกหลายคนที่เข้ามายึดเมืองไทยเป็นเรือนตาย เมื่อมองเข้าไปด้านในใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นมณฑปรูปโบสถ์ฝรั่งสีขาวเด่นสะดุดตา ภายในยังมีรูปปั้นด้วยหินสีขาว เป็นรูปเหมือนของผู้ที่ทอดร่างอย่างสงบอยู่ใต้มณฑปนั้น ซึ่งทั้ง ๒ สิ่งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานเป็นที่ระลึกถึงความดีความชอบของ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์และได้รับการบูรณะอย่างสวยงามอยู่ในขณะนี้โดยพลอากาศเอก สิทธิ์ เศวตศิลา องคมนตรี ผู้เป็นบุตรของพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ และเป็นหลานปู่ของนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์

ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙ !!!

มณฑปพระราชทานของนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์

ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕ หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙ !!!

รูปปั้นนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ ภายในมณฑปสุสาน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ราชทูตอังกฤษ ลาออก รับราชการไทย คนโปรด ร.๕ หลานปู่ องคมนตรี ร.๙

view