สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รายได้ และ ค่าครองชีพ AEC

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ พร้อมรับAECหรือยัง?

โดย ณกฤช เศวตนันท์ Thai.attorney@hotmail.com

นับตั้งแต่ได้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ประชาชนชาวไทยมากขึ้น ทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเรื่องหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกันก็คือ เรื่องการย้ายเสรีแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน อันเป็นเป้าหมายหนึ่งของการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน และสิ่งที่เป็นข้อพิจารณาสำคัญในการย้ายแรงงาน

นอกจากต้องการประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรายได้อย่างแน่นอน

กลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนในปัจจุบันมีทั้งหมด10 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็มีอัตราค่าแรงงานที่แตกต่างกันออกไป โดยบางประเทศก็มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่บางประเทศก็ไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบันอัตราค่าแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เป็นดังนี้

จากข้อมูลข้างต้นทำให้สามารถแบ่งประเทศอาเซียนออกเป็นกลุ่มตามอัตรารายได้เป็นจำนวน 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ได้แก่ ประเทศบรูไนฯ และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country)และมีอัตราค่าแรงที่สูงกว่าประเทศชาติอาเซียนอื่นมากอย่างเห็นได้ชัด

กล่าวคือ จำนวน 1,800-2,000 บาทต่อคนต่อวัน หรือ 55,000-60,000 บาทต่อเดือน

กลุ่มที่สอง ได้แก่ กลุ่มประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราค่าแรงใกล้เคียงกัน ในช่วง ระหว่าง 230-300 บาทต่อวัน หรือ 7,000-9,000 บาทต่อเดือน

กลุ่มที่สาม ได้แก่ กลุ่มประเทศเมียนมา เวียดนาม ลาว และกัมพูชา หรือกลุ่มประเทศ CLMV (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศมีค่าแรงที่มีอัตราน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ระหว่าง 75-110 บาทต่อวัน หรือ 2,230-3,300 บาทต่อเดือน

 



แต่ การพิจารณาเฉพาะอัตราค่าแรงดังกล่าวข้างต้นเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถบอกได้ว่าค่าแรงที่ได้รับในแต่ละประเทศนั้นมากกว่าหรือน้อยกว่า ค่าแรงที่ได้รับจากการประกอบอาชีพในประเทศไทยหรือไม่เนื่องจากมีองค์ประกอบ อื่น ๆ อีกหลายประการที่ต้องพิจารณาประกอบกัน โดยองค์ประกอบหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า มีความสัมพันธ์กับค่าแรงงานอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และต้องขอกล่าวถึงในที่นี้ คืออัตราค่าครองชีพ (Cost of Living)

จากการสืบค้นข้อมูลจะพบว่า ประเทศอาเซียนที่มีอัตราค่าครองชีพน้อยกว่าประเทศไทย ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยมีอัตราค่าครองชีพน้อยกว่าประเทศไทย คิดเป็นอัตราร้อยละ 17.20, 15.94, 10.87 และ 9.18 ตามลำดับ ส่วนประเทศอาเซียนที่มีอัตราค่าครองชีพมากกว่าประเทศไทย ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ลาว บรูไนฯ กัมพูชา และเมียนมา โดยมีอัตราค่าครองชีพที่สูงกว่าประเทศไทย คิดเป็นอัตราร้อยละ 67.09, 27.25, 9.26, 5.76 และ 4.61 ตามลำดับ

และเมื่อพิจารณาจากอัตราค่าแรงงานประกอบกับอัตราค่าครองชีพแล้วจะเห็นได้ว่า ประเทศที่สามารถให้ค่าตอบแทนแก่แรงงานชาวไทยได้ดีกว่าค่าตอบแทนในประเทศไทยอย่างชัดเจน คือ ประเทศบรูไนฯ เพราะมีค่าแรงสูงและค่าครองชีพไม่ต่างกับประเทศไทยมาก

รองลงมาได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เพราะมีค่าแรงงานที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่มีค่าครองชีพถูกกว่า ขณะเดียวกัน ประเทศสิงคโปร์ แม้ให้ค่าตอบแทนสูง แต่ค่าครองชีพก็สูงตามไปด้วยเช่นกัน ส่วนประเทศอาเซียนชาติอื่นที่เหลือ มีค่าแรงงานที่น้อยกว่าประเทศไทยเห็นได้ชัด และยังมีค่าครองชีพสูงกว่าประเทศไทยเสียด้วยในบางประเทศ

ประเทศใดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูง ย่อมสามารถดึงดูดแรงงานในชาติอื่นให้เข้ามาทำงานในประเทศตนได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อย ย่อมดึงดูดนักลงทุนได้เช่นกัน เพราะทำให้ต้นทุนในการลงทุนต่ำกว่าการลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูง ซึ่งก็เป็นเรื่องในทางนโยบายเรื่องหนึ่งที่รัฐต้องบริหารว่าต้องการให้มีความเคลื่อนไหวทางแรงงานในประเทศของตนอย่างไร


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รายได้ ค่าครองชีพ AEC

view