สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัฒนธรรมองค์กรกับความสามารถในการสร้างนวัตกรรม

วัฒนธรรมองค์กรกับความสามารถในการสร้างนวัตกรรม
โดย : เรวัต ตันตยานนท์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจหนึ่งมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมได้ดีกว่าธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ วัฒนธรรมองค์กร

โดยวัฒนธรรมองค์กรนั้น จะส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรสามารถเชื่อมโยงและมีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่จะช่วยสร้างการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

วัฒนธรรมองค์กรที่จะสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมนี้ จะต้องเป็นวัฒนธรรมองค์กรเชิงกลยุทธ์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่วัฒนธรรมที่สืบทอดกันต่อๆ มา โดยผู้ที่ซึมซับวัฒนธรรมนั้นจำต้องรับไปสืบสานในขั้นตอนและวิธีการทำงาน โดยไม่ทราบว่าทำไม่จึงยึดถือปฏิบัติกันเช่นนั้น

หรือแม้กระทั่งว่า ไม่ทราบว่าเมื่อปฏิบัติไปแล้ว จะเกิดผลอย่างไรต่อองค์กรหรือต่อธุรกิจ เพียงแต่เชื่อมั่นว่า เป็นวิธีที่ปฏิบัติกันมา หากทำต่อไปแล้ว คงไม่ถูกผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าตำหนิ หรือไม่มีใครเห็นว่ากระทำการ “แหกคอก”

วัฒนธรรมเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรหรือธุรกิจที่ต้องการพัฒนามาเป็นองค์กรนวัตกรรมควรจะสร้างให้เกิดขึ้น ได้แก่ ระบบช่องทางการสื่อสาร วิธีการกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับมา และการบริหารจัดการองค์ความรู้ในองค์กร

เรามักจะพบโดยปกติว่า ช่องทางการสื่อสารในองค์กร อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ช่องทางใหญ่ๆ คือช่องทางที่เป็นทางการ เช่น การรายงานของลูกน้องต่อผู้บังคับบัญชา หรือการสื่อสารระหว่างการประชุม ส่วนอีกช่องทางหนึ่งได้แก่ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ เช่น “เมื่อต้องการได้ข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมก็จะโทรไปหา คุณ ก. เพราะผมทราบว่า คุณ ก. เชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยตรง และผมรู้จักคุณ ก เป็นการส่วนตัวด้วย”

ช่องทางเหล่านี้ต่างก็มีความสำคัญต่อความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร เนื่องจากจะทำให้เกิดกระจายความรู้จากหน่วยงานที่มีความชำนาญงาน ไปยังหน่วยงานที่ต้องการได้ข้อมูลมาเพื่อประกอบการสร้างสรรค์นวัตกรรม

เพราะโดยทั่วไปแล้ว มักจะไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในทุกด้านอยู่ในองค์กรหรือในธุรกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต องค์ความรู้ในชิ้นส่วนต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ของบริษัท มักจะกระจัดกระจายกันอยู่ในแผนกต่างๆ ที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ในบริษัทที่ผลิตพัดลมไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด บริษัทอาจจัดตั้ง ทีมพัฒนาใบพัด ทีมพัฒนามอเตอร์ และทีมอื่นๆ ขึ้นมา การสื่อความและประสานงานของทีมงานเหล่านี้จะสะท้อนถึงองค์ความรู้พิเศษของธุรกิจที่จะมีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมพัดลมรุ่นใหม่ๆ ออกมา

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านี้ขึ้นมาในองค์กร เช่น การจัดให้มีการประชุมร่วมเพื่อเป็นเวทีให้เกิดการพบปะพูดคุยข้ามแผนก หรือการกำหนดให้ทีมพัฒนาชิ้นส่วนต่างๆ ต้อง รายงานต่อผู้จัดการคนเดียวกัน ก็จะทำให้สามารถประยุกต์ความเชื่ยวชาญข้ามแผนกให้กลายมาเป็นองค์ความรู้รวมเพื่อการพัฒนานวัตกรรมของธุรกิจได้

เมื่อสามารถสร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างหน่วยงานขึ้นได้ในองค์กรแล้ว วัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญในเรื่องต่อมาก็คือ เรื่องของวิธีการกลั่นกรองข้อมูลที่องค์กรหรือธุรกิจจะนำมาใช้แยกแยะว่า ข้อมูลหรือองค์ความรู้ประเภทใดที่จะมีประโยชน์ต่อการสร้างนวัตกรรมขององค์กรได้

แม้ว่าธุรกิจมักจะต้องเผชิญกับข้อมูลต่างๆ จำนวนมาก แต่เมื่องานชิ้นใหม่ในด้านใดด้านหนึ่งเริ่มจะลงตัวและมีความขัดเจนมากขึ้น ธุรกิจควรจะมีวิธีการกลั่นกรองได้ว่าข้อมูลใดจะเป็นข้อมูลที่มีสำคัญต่อธุรกิจหรือนวัตกรรมที่ต้องการทำให้เกิดความสำเร็จ

ตัวอย่างเช่น หากต้องการพัฒนาให้พัดลมให้มีกำลังสูง ทีมพัฒนานวัตกรรมก็จะต้องมีความสามารถในการกรองข้อมูลเพื่อให้เน้นไปที่กำลังบิดของมอเตอร์ที่จะส่งกำลังไปหมุนใบพัด โดยไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจว่าเปลือกหุ้มมอเตอร์ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการสร้างกำลังบิดจะทำจากวัสดุใด

หรือหากต้องการพัฒนาพัดลมที่มีความเงียบเพิ่มขึ้น ก็จะต้องให้ความสนใจไปที่จุดสัมผัสระหว่างตัวมอเตอร์กับโครงสร้างหรือเปลือกหุ้มภายนอกของตัวพัดลม เป็นต้น

หากทีมพัฒนาไม่มีความสามารถในการกรองข้อมูลที่ไม่ใช่สาระสำคัญออกไป ก็อาจทำให้การพัฒนานวัตกรรมเสียเวลาออกไปโดยไม่จำเป็น

การมีระบบการสื่อสารและกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของธุรกิจ จะทำให้องค์กรมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและตรงวัตถุประสงค์มากขึ้นไม่ต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง

ซึ่งจะสามารถผนวกความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในระหว่างการทำงานประจำวันได้อย่างเป็นธรรมชาติ กลายเป็นองค์ความรู้ฝังแน่นที่จะติดอยู่กับองค์กรตลอดไปและสามารถถ่ายทอดต่อไปยังผู้ปฏิบัติงานในรุ่นต่อไปได้อีกด้วย

วัฒนธรรมองค์กรที่มีต่อศักยภาพและความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเหล่านี้ จะแสดงให้เห็นถึงกลไกที่แตกต่างกันระหว่างธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ต้องการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อการขยายตัวของยอดขาย กับธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพ ที่ต้องการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อความเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ

โดยวิธีคิด กระบวนการในการสร้างนวัตกรรม และผลลัพธ์ที่ได้จากนวัตกรรมจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพจะขาดปัจจัยของช่องทางการสื่อสารและการกลั่นกรองข้อมูลในลักษณะข้ามสายงาน

แต่กลยุทธ์นวัตกรรมต่างๆ ของสตาร์ทอัพ ค่อนข้างที่จะมีลักษณะแบบ “ข้ามาคนเดียว” หรือต้อง “คิดเอง ทำเอง” ล้วนๆ ซึ่งขาดการกลั่นกรองจากองค์ความรู้หรือความคิดที่มาจากแหล่งอื่นๆที่จะเข้ามาเสริมความรอบคอบและเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จได้มากขึ้น


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วัฒนธรรมองค์กร ความสามารถ การสร้างนวัตกรรม

view