สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

งานแต่งในฝัน ...สร้างครอบครัวหรือสร้างหนี้?

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด


“ผมรักคุณนะ.. คนดีของผม”

ประโยคสุดโรแมนติกของเจ้าบ่าวในชุดสูทสุดเนี๊ยบที่เอ่ยกับเจ้าสาวในชุดขาวบริสุทธิ์  เรียกรอยยิ้มและเสียงปรบมือจากแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน ทุกคนต่างภาวนาให้ความรักของทั้งคู่อยู่ยงคงกระพันไม่มีวันเสื่อมคลาย

แต่ใครจะรู้ว่า ก่อนจะออกมาเป็นภาพงานวิวาห์สุดโรแมนติก คู่รักจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาล โดยเฉพาะเรื่อง “ค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่ง” งานสำคัญที่ว่ากันว่ามีเพียงครั้งเดียวในชีวิต เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และแรงเงินสุดความสามารถ เพื่อให้ทุกคนประทับใจ

จากอดีตที่เน้นความเรียบง่าย วันนี้งานวิวาห์เปรียบเสมือนค่านิยมที่ทุกอย่างล้วนมีราคา (แพง)

ย้อนปูม "พิธีแต่งงาน" ในอดีต

วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนไป รวมทั้งประเพณีแต่งงานของคนไทยด้วย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า  ในสังคมโบราณ ก่อนที่ฝ่ายชายจะได้รับการยอมรับจากครอบครัวฝ่ายหญิง ต้องเข้าไปเป็น “บ่าว” หรือคนใช้ที่เรือนเขาก่อน เนื่องจากในอดีตเป็นสังคมเกษตร การมีแรงงานเพิ่มนับเป็นเรื่องดี  ดังนั้นก่อนจะเป็นนายจึงต้องไปเป็นคนใช้เขาก่อน ลักษณะดังกล่าวพบเห็นได้ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น ขุนช้างขุนแผน คนไทยถึงเรียกผู้ชายว่า "เจ้าบ่าว" แปลว่าคนใช้ พ่อแม่เขาพอใจเมื่อไหร่ ถึงจะยอมยกลูกสาวให้

พิธีแต่งงานสมัยโบราณนั้นเรียบง่าย เริ่มจากยกขันหมากไปขอขมาพ่อแม่ ทำพิธีกราบไหว้ผีและบรรพบุรุษ ต่อด้วยพิธีสงฆ์ ก่อนจะกินเลี้ยงเหมือนงานบุญทั่วไปเป็นอันจบสิ้นพิธี กระทั่งต่อมาเกิดเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศทั้งจากจีน ฝรั่ง และอินเดีย

“ในครอบครัวที่มีความเป็นจีนก็จะเพิ่มการจัดเลี้ยงเข้ามามากขึ้น อย่างโต๊ะจีนที่เราเห็น หรือรูปแบบการแต่งกายที่ได้รับมาจากวัฒนธรรมของฝรั่ง ซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเริ่มแต่งในหมู่ชนชั้นสูงก่อนและแพร่มาสู่คนทั่วไป จากนั้นพัฒนามาเรื่อยตามวัฒนธรรมที่เปิดรับเข้ามา ทั้งพิธีรดน้ำสังข์ การเจิม การคล้องมาลัยมงคลจากอินเดีย เรียกว่าทั้งหมดในปัจจุบันเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมต่างๆเข้าด้วยกัน”

คมกฤช กล่าวต่อว่า  หลังแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง แต่ด้วยอิทธิพลของจีนจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายชายแทน โดยเริ่มมีการใช้นามสกุลฝ่ายชาย และตราเป็นกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนเรื่องเงินสินสอดนั้นคาดว่ามีมาตั้งแต่ในอดีต เพียงแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด ดังที่ปรากฎใน วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนหนึ่งว่า ‘พร้าขัดหลังเล่มเดียว’ก็ยกให้

“ถ้าคุณขยันขันแข็ง พร้าขัดหลังเล่มเดียวเขาก็ยกลูกสาวให้ แต่ผมเข้าใจว่า ภายหลังที่สินสอดมีความสำคัญ เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคม บวกกับวัฒนธรรมผสมผสานของจีนและอินเดียปรากฎความสำคัญ เมื่อคุณไม่ได้ใช้วิถีชีวิตที่ผู้ชายต้องไปทำงานให้บ้านผู้หญิงแล้ว เลยต้องมีการแลกเปลี่ยนหรือเป็นข้อตกลง เมื่อผู้หญิงเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายชายแทน”

อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร สรุปภาพรวมการแต่งงานในยุคปัจจุบันว่า  เป็นลักษณะของการผสมผสานวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามา  และเริ่มไม่โฟกัสกับพิธีกรรม แต่เปลี่ยนไปโฟกัสกับการจัดเลี้ยงหรือ ภาพพรีเวดดิ้ง และเสื้อผ้าซึ่งกลายเป็นสาระสำคัญไป ทั้งที่ในอดีตเป็นแค่ส่วนเล็กๆของงานเท่านั้น

"งานแต่งยุคใหม่" ไม่ใช่ฟุ่มเฟือย แต่เป็นความพึงพอใจ

โจ้-ชยวัสส์ ปัญจภักดี ออร์แกไนเซอร์ชื่อดัง เจ้าของ Rainforest the Wedding  มองว่า ปัจจัยเช่นเทคโนโลยี การสื่อสาร และทัศนคติคนรุ่นใหม่ มีผลอย่างมากทำให้พิธีแต่งงานพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

“มันเป็นความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ทุกวันนี้พอมีคนจัดงานหนึ่ง ถ้าจัดออกมาได้ดี คนอื่นที่กำลังจะแต่งหรืออยากแต่งก็อยากได้แบบนั้นบ้าง ยิ่งสำหรับคนที่มีฐานะใกล้เคียงกันก็อยากจะทำให้งานตัวเองดีกว่างานที่เคยเจอมา งานแต่งงานเลยมีการพัฒนาการของมันตัวเองอยู่ตลอด”

การแต่งงานรุ่นพ่อแม่มักจัดกันที่บ้านและให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารมาก เพราะถือเป็นตัวสร้างความประทับใจให้แก่แขกผู้มาร่วมงาน แต่ปัจจุบันสถานที่จัดงานเปลี่ยนไปเป็นโรงแรม ทำให้ความสำคัญของอาหารถูกลดลงไป

“สมัยยุคพ่อแม่เราจัดกันที่บ้าน และให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารมากเพื่อให้แขกประทับใจในเรื่องรสชาติ แต่ทุกวันนี้สถานที่จัดงานเปลี่ยนไป ธุรกิจโรงแรมครอบคลุมในเรื่องการจัดเลี้ยงจนกลายเป็นที่นิยมของคนยุคใหม่ เพราะเห็นว่าสะดวกสบายกว่าบ้านซึ่งไม่ได้ออกแบบมาให้พร้อมจัดงานกันได้ทุกหลัง  อย่างไรก็ตามโรงแรมทำให้แขกรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกมากนักในเรื่องอาหาร บางแห่งนำเข้าได้ บางแห่งไม่ได้  เจ้าภาพและแขกรู้สึกว่าอาหารไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกแล้ว งานแต่งงานจะดีไม่ดี น่าประทับใจหรือไม่นั้นกลายเป็นขึ้นอยู่กับการตกแต่งและรูปแบบของงานมากกว่า”

คำถามคลาสสิกมีอยู่ว่าพ.ศ.นี้งานแต่งงานนับเป็นความฟุ่มเฟือยหรือไม่ ออร์แกไนเซอร์คนดังตอบทันทีว่า ไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นเรื่องของความพึงพอใจ  แล้วแต่ว่าใครจะให้คุณค่ากับงานแต่งงานมากน้อยแค่ไหน

“บางคนมองว่ามันก็แค่งาน 2-3 ชั่วโมงก็รื้อทิ้งแล้ว จะเอาไรมาก แต่มองอีกมุม งานดีๆมันเป็นความทรงจำที่งดงาม ตราตรึงอยู่ในภาพถ่ายและความทรงจำไปตลอดชีวิต ฉะนั้นอยู่ที่แต่ละคนจะให้ความสำคัญ บางคนไม่ให้ความสำคัญเลย แค่จดทะเบียนสมรสก็มีความสุขแล้ว หรือบางคู่ไม่ต้องทำอะไรแค่อยู่ด้วยกันก็มีความสุขแล้ว ขึ้นอยู่กับปรัชญาและทัศนคติการดำเนินชิวิตส่วนบุคคลมากกว่าที่จะมองว่าแต่งงานเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยหรือไม่”

งบน้อยก็มีคุณภาพได้

การจัดงานแต่งสมัยนี้ใช่ว่าจะต้องแพงเสมอไป งบน้อยแต่ก็สามารถเนรมิตงานให้ออกมามีคุณภาพได้

ชยวัสส์ เจ้าของเวดดิ้งสตูดิโอชื่อดัง แนะนำว่า คู่รักที่กำลังคิดจะแต่งงานควรตั้งหลักให้ดีว่าจะให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุดในงานของคุณ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป งานดีๆไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่การสร้างสมดุลและความใส่ใจ  หากรู้ความต้องการของตัวเอง งานเล็กๆก็สามารถออกมามีคุณภาพและน่าประทับใจได้

“งานแต่งบางงานใหญ่โตมโหฬาร แต่อาหารไม่เพียงพอ เพราะเจ้าภาพเอาเงินไปลงกับการตกแต่ง บางงานจ้างช่างภาพในราคาสูงลิ่วมากกว่าค่าตกแต่งอีก บางคนเลือกใช้การ์ดเชิญใบละ 2,000 บาท ขณะที่บางคนมองว่าใช้การ์ดถูกๆ 10-20 บาทก็พอแล้ว  ฉะนั้นจะหามาตราฐานของแต่ละคนนั้นทำได้ยาก อยู่ที่ว่าพอใจและเลือกให้ความสำคัญกับอะไร ทุกคนมีลิมิต และมีข้อจำกัดที่จะจ่ายเงินกับบางสิ่งบางอย่างอยู่แล้ว

ที่ผ่านมา งานแต่งเล็กๆหลายงาน ทุกอย่างออกมาดูลงตัวไปหมด เนื่องจากมีการเก็บรายละเอียดที่ดีและสมดุล  ถ้าคุณมีเงินน้อย แต่อยากได้แขกมาก แล้วเลือกจัดที่โรงแรม แบบนั้นมันออกมาไม่ดีอยู่แล้ว แขกต้องสมน้ำสมเนื้อกับงบประมาณด้วย หรือคนรวยมากๆบางคนจัดงานแค่สองร้อยคน เพราะเขาบอกว่ามีแค่นี้แหละที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตเขา งานมันก็จะออกมา Quality เพราะทุกอย่างลงตัว ผิดกับบางงานแขกเยอะจนไม่ได้ถ่ายรูปกับคู่บ่าวสาว อาหารเยอะ อลังการแต่ไม่ได้กิน เพราะไม่มีที่ยืน แบบนั้นคงไม่น่าประทับใจ”

ออร์แกไนเซอร์ผู้ออกแบบงานแต่งงานของดาราชื่อดังอย่างชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เกต แนะนำว่า แก่นแท้ของชีวิตคู่ คือการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันของคนสองคน ขอให้เลือกบริหารงบประมาณอย่างสมเหตุสมผล ให้น้ำหนักกับจุดสำคัญที่เหมาะกับงานตัวเอง สุดท้ายคือความพอดี

"ถ้าเป็นหนี้นั่นแสดงว่าคุณไม่ได้ดูตัวเองหรือว่าประมาณการณ์อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งโทษใครไม่ได้"

กางค่าใช้จ่ายงานแต่งพ.ศ.นี้ 

ค่าใช้จ่ายต่างๆในงานแต่งงานขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าบ่าวเจ้าสาว สถานะทางการเงิน  ตลอดจนสถาพภาพทางสังคมของทั้งคู่ บรรทัดต่อไปนี้ขอนำเสนอค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับการจัดงานแต่งงานอันเป็นที่นิยมในยุคนี้  

เริ่มที่ สินสอด  เรื่องเงินเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับการตกลงและฐานะพื้นฐานของแต่ละครอบครัว โดยราคาทอง ปัจจุบันมูลค่าประมาณ 19,000 – 21,000 บาท  ขณะที่เเหวนเพชร ขนาด 1 กะรัต ราคาอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาทขึ้นไป

หลายคู่ก่อนถึงพิธีแต่งงานมักนิยมถ่ายภาพ  Pre-Wedding  ด้วย ราคาอยู่ที่ 15,000 บาทขึ้นไปจนถึงหลักแสน

พิธีช่วงเช้า รวมทั้งสิ้นประมาณ 80,000 บาท ประกอบด้วยดังนี้

- ชุดไทยเจ้าบ่าวเจ้าสาว 15,000 บาท หากจัดงานที่บ้านก็ตัดค่าสถานที่ออกไป แต่หากเป็นโรงแรมก็ขึ้นอยู่กับ ระดับของโรงแรม มีตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน

- ค่าแต่งหน้าทำผม 1,000 บาท

- เลี้ยงพระ  9  รูป  ค่าใช้จ่ายได้แก่ ใส่ซองทำบุญ ค่ารถตู้ไปรับ ซองมรรคนายก ถังสังฆทาน อาหารเพลเลี้ยงพระ อุปกรณ์อื่นๆรวม 15,000 บาท

- แห่ขันหมาก ของประกอบขบวน เช่น พานสินสอด พานขันหมาก พานธูปเทียนแพ ขนมมงคล รวมประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป

- พิธีรดน้ำ ฉากรดน้ำ ชุดตั่งรดน้ำสังข์ มาลัยคู่ มงคล พานรับน้ำ คิดเป็นแพ็คเกจค่าเช่าประมาณ 2,000 บาท

- อาหารเลี้ยงแขกผู้ร่วมงาน ขึ้นอยู่กับจำนวน ช่วงเช้ามักมีเพียงแขกคนสนิท หากคิดราคาต่อหัว ตกรายละประมาณ 500 บาท         

- พิธีส่งตัว ประกอบด้วย เครื่องนอนชุดใหม่ มูลค่าประมาณ  2,000 บาท                                       

- การ์ดเชิญ และของชำร่วย ประมาณ 2,000 บาท                                                                

- ของไหว้ผู้ใหญ่  เช่น เครื่องชามเบญจรงค์ ผ้าแพร ผ้าขนหนู ประมาณ 5,000 บาท

- ถ้วยจาน ส่วนใหญ่หลายคนยืมวัด ค่าบริจาค 1,000 บาท                                                      

- เงินซองประตูเงินประตูทอง ประมาณ 6,000 บาท

สำหรับพิธีช่วงเย็น มูลค่าประมาณ 400,000 บาท

- ชุดแต่งงานของเจ้าสาวราคาอยู่ที่ 5,000 - 30,000 บาท เจ้าบ่าวอยู่ที่ 2,000 – 10,000 บาท ค่าแต่งหน้าทำผมจะอยู่ที่ 1,000-3,000 บาท

- การ์ดเชิญ และของชำร่วย  4,000 บาท

- ค่าอุปกรณ์สถานที่และจัดเลี้ยง ประมาณ 400,000 บาท ตามแต่เเพ็คเกจของแต่ละโรงแรม  ซึ่งครอบคลุม ค่าจัดเลี้ยง รูปแบบ ค็อกเทล บุฟเฟ่ โต๊ะจีน อุปกรณ์ตกแต่งภายในงานโดยทั่วไป ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ขึ้นอยู่สถานที่ จำนวนแขก และการตกแต่ง

จากการสำรวจราคาแพ็คเกจของโรงแรมส่วนใหญ่ ราคาโต๊ะจีนเริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 บาท บุฟเฟ่ต์ ราคาเริ่มต้นที่ 1,000 บาท และค็อกเทล 1,000 บาท หลายโรงแรมกำหนดค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ และจำนวนผู้ใช้บริการเริ่มต้น เช่น โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ สีลม กรุงเทพฯ ราคาโต๊ะจีนเริ่มต้นที่ 11,500 ต่อโต๊ะ บุฟเฟ่เริ่มที่ 1,000 บาทต่อคน และค็อกเทล ที่ 900 บาทต่อคน  โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ  ห้องวิภาวดี บอลรูม เริ่มต้น 190,000 บาท โต๊ะจีนเริ่มต้น 10,900 บาท บุฟเฟ่ต์ ราคาเริ่มต้นที่ 990 บาทต่อคน ค็อกเทล ราคาเริ่มต้นที่ 890 บาทต่อคน โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพ กำหนดค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ เริ่มต้นที่ 650,000  บาทในวันธรรมดา ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์  750,000 บาท

สำหรับคนงบน้อย  หลายคนเลือกใช้บริการ โรงพยาบาลสงฆ์ ที่ค่าจัดเลี้ยง เพียงคนละ 200 บาท และค่าห้องเพียง 1,500 บาท หรือจะเลือกสโมสรต่างๆของหน่วยงานราชการ ราคาค่าห้องก็จะอยู่ในหลักหมื่น ตัวอย่างเช่น สโมสรตำรวจ ห้องจัดเลี้ยงเริ่มต้นที่ 20,000 บาท 

 - ค่าช่างภาพ ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอถือเป็นส่วนสำคัญของงานที่เจ้าภาพเน้นไม่แพ้สิ่งอื่นใด โดยทั่วไปราคาขึ้นอยู่กับการตกลง และความสนิทสนมระหว่างเจ้าภาพและผู้ให้บริการ เริ่มตั้งแต่ 2,000 -200,000

- วงดนตรี ราคาขึ้นอยู่กับขนาดวงดนตรีและการตกลง เริ่มต้นที่ 1,500 -50,000 บาท ไม่นับการว่าจ้างศิลปินชื่อดังที่อยู่ในหลักแสนขึ้นไป

"งานแต่ง"สร้างครอบครัวหรือสร้างหนี้

หลายคู่วางแผนมาดีในงบประมาณที่พอเพียง จนสามารถสร้างสรรค์งานแต่งออกมาได้ในราคาที่น่าพึงพอใจ

ศรากร โตศักดิ์สิทธิ์ วัย 32 ชายหนุ่มรายนี้เพิ่งแต่งงานเมื่อปี 2558 โดยเลือกสโมสรราชองครักษ์  (เกียกกาย) เขตดุสิต เป็นสถานที่จัดงาน

“ตอนแรกมานั่งคิดว่า เฮ้ย จริงๆไม่ต้องแต่งก็ได้นะ เก็บเงินไว้ไปเที่ยวดีกว่า แต่พอมองภาพกว้างๆ นึกถึง ครอบครัวและสังคมของแต่ละฝ่ายแล้ว ก็พบว่างานแต่งงานมันเป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกัน โดยเฉพาะกับฝ่ายผู้หญิง ครั้งหนึ่งในชีวิต ใครๆก็อยากสวมชุดเจ้าสาว”

เจ้าบ่าวป้ายแดงรายนี้บอกอีกว่า  งบประมาณเป็นโจทย์หลักของทุกคู่ ส่วนสถานที่ ขนาด และจำนวนแขก ก็จำเป็นต้องวางแผนทำการบ้านให้ดี 

“การจัดงานแต่งมันปวดหัวทุก เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องคนอื่น ตั้งแต่เชิญแขก ต้องคำนวณให้ดีว่าจะเชิญใครบ้าง แจกการ์ดไป 1 คน เขาอาจจะมากัน 4 หรือ 5 คนก็ได้ อย่างผมเอง มีงบเพียงพอดูแลแค่ 500 คน ก็ต้องวางแผนด้วยการเชิญแค่ 350 คน เผื่อเหลือเผื่อขาดกันไป ตั้งงบประมาณไว้ที่ 2.5 แสนบาท ตระเวนหาสถานที่ที่เหมาะสมหลายสิบแห่ง จนสุดท้ายมาได้ที่สโมสรราชองครักษ์ เพราะราคาค่าเช่าและจัดเลี้ยงถูกกว่าโรงแรมมาก แต่บรรยากาศค่อนข้างดี สุดท้ายงบประมาณบายปลายไป 3.2 แสน เพราะมันมีค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงหรือกะทันหันอีกเยอะ”

ศรากร  บอกว่า งานแต่งงานเป็นการนำพาคนที่เรารักและเคารพมาอยู่รวมกันในที่เดียว การสร้างความประทับใจให้กับพวกเขาเหล่านั้นจึงสำคัญมาก ซึ่งสุดท้ายเราจะภูมิใจและมีความสุข เมื่อได้ยินแขกพูดกันว่า งานน่ารักจัง งานดีจัง หากถามว่าคุ้มไหม สำหรับเขาถือว่ามีความสุขกับสิ่งที่ทำลงไป

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายคู่ที่ถึงขั้นต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาแต่งงาน สุดท้ายต้องผ่อนจ่ายทุกเดือนจนลูกโตเพราะเป็นหนี้ท่วมหัวจากงานแต่ง

"คุยกับแม่ว่าไม่อยากมีงานแต่ง แต่ก็โดนแม่ดุ  แม่อยากให้มีงานเล็กๆ สุดท้ายเอาเรื่องไปบอกที่บ้านแฟน  ทุกอย่างก็ดูโอเค แม่แฟนก็กระตือรือร้นที่จะจัด ตอนเตรียมงาน เราเน้นประหยัดสุดๆ ชุดไทยชุดเดียว จะแต่งหน้าทำผมเอง แต่แม่แฟนกลับไม่ยอม ไปจ้างช่างมา ส่วนอื่นๆในงานที่บ้านแฟนดูแล เราไม่ได้สนใจ แต่ย้ำเสมอว่าของานเล็กๆ อย่าให้เปลือง จนกระทั่งถึงวันงานจริง เราแปลกใจ เพราะงานอลังการกว่าที่คิดมาก มาทราบทีหลังว่า แม่แฟนไปหยิบยืมเงินมาหลายแสนเพื่อจัดงานนี้ แต่ด้วยความไม่อยากเป็นหนี้ เราเลยเอาเงินสินสอดที่ได้รับจากฝ่ายชาย จัดการเคลียร์เงินตรงนี้ซะ"

เป็นคำบอกเล่าของหญิงสาวรายหนึ่งที่มาตั้งกระทู้บอกเล่าความรู้สึกผ่านเว็บไซต์พันทิป ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง

แต่...เรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป เธอมารู้อีกว่าสามีเธอยังต้องผ่อนหนี้แต่งงานอยู่ทุกเดือน เดือนละ 7,000 บาท

"ตอนนั้นกำลังจะมีลูก เรามานั่งวางแผนการเงินกันและพบว่าแฟนยังต้องผ่อนหนี้งานแต่งทุกเดือน เดือนละ 7,000 บาท เรางอนที่บ้านแฟนไปเลยค่ะ ทำไมต้องทำอะไรเกินตัวกันแบบนี้ แฟนเราบอกไม่อยากขัดแม่ แม่เพื่อนเยอะ อยากทำให้สมน้ำสมเนื้อ แฟนเราเป็นเด็กดีของที่บ้านเขา  ซึ่งก็พอเข้าใจนะ ใจหนึ่งก็สงสารแฟน ทำงานเหนื่อย เงินไม่เคยได้ใช้  ใจหนึ่งก็สงสารตัวเอง สงสารลูก”

เจ้าสาวผู้ทุกข์ระทมเพราะเป็นหนี้งานแต่งรายนี้ทิ้งท้ายว่า ขอฝากเรื่องนี้ให้เป็นบทเรียนกับทุกคนที่คิดจะทำอะไรเกินตัว ได้หน้าแค่วันเดียวไม่คุ้มกับปัญหาครอบครัวที่จะตามมาอีกหลายปี  พร้อมทั้งฝากคนเป็นพ่อเป็นแม่ด้วยว่าความต้องการของคุณอาจทำให้ลูกเดือดร้อนแสนสาหัส

ทั้งหมดอาจสรุปได้ว่า การจัดงานแต่งงานควรประเมินสถานะ ความต้องการตนเองและคู่ชีวิตให้ถี่ถ้วนรอบด้าน ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเริ่มต้นด้วยการสร้างปัญหา ชีวิตคู่หลังจากนั้นคงยากที่จะราบรื่น


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : งานแต่งในฝัน สร้างครอบครัว สร้างหนี้

view