สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กทพ.แพ้ข้อพิพาทค่าทางด่วนกว่า 8 พันล้าน อนุญาโตฯ ชี้ขาดสั่งจ่ายชดเชย BEM

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากชี้ขาดให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหาย BEM (BECL เดิม) กว่า 8 พันล้าน เหตุแพ้ข้อพิพาท ปรับค่าทางด่วนขั้นที่ 2 ตั้งแต่ปี 2546 ด้าน กพท.ยังมีช่อง ศาลปกครองสู้ต่อ
       
       รายงานข่าวจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แจ้งว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2551 เพื่อเรียกร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับลงวันที่ 29 ส.ค. 2546 กับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญานั้น เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 12 ก.พ. 2559 โดยอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากมีคำชี้ขาดให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทฯ ดังนี้
       
       1. ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 4,368 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ข้อ 25.6 ของต้นเงินค่าเสียหายจำนวน 3,776 ล้านบาท คิดเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 51 เป็นต้นไปจนกว่า กทพ.จะชำระเสร็จสิ้น
       
       2. ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางระหว่างอัตราค่าผ่าน ทางตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับลงวันที่ 29 ส.ค. 46 กับอัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญาโดยคำนวณจริงตามจำนวนรถยนต์แต่ละ ประเภทที่ใช้ทางตามสัญญา เป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 51 เป็นต้นไป รวมทั้งชำระดอกเบี้ยผิดนัดสัญญาข้อ 25.6 ของผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง นับแต่วันที่ 1 เม.ย. 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทจนเสร็จสิ้น
       
       ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 บริษัทฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลทำการบังคับตามคำชี้ขาด ของอนุญาโตตุลาการภายใน 3 ปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ ในขณะที่ กทพ.อาจขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด
       
       สำหรับตารางการปรับอัตราค่าผ่านทาง ตามประกาศฯ วันที่ 29 ส.ค. 2546 ซึ่งเป็นการปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งที่ 2 โดย กทพ.คำนวณจากฐานอัตราค่าผ่านทางปี 2541 และดัชนีผู้บริโภค (CPI) กำหนดอัตราค่าผ่านทางดังนี้ ทางด่วนโครงข่ายในเขตเมือง ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ส่วน A และ B รถ 4, 6 ล้อ เก็บ 40,60 บาท เท่าเดิม รถมากกว่า 10 ล้อ จาก 80 ปรับเพิ่มเป็น 85 บาท ขณะที่บริษัทฯ มีความเห็นเสนอปรับรถ 4, 6 ล้อ เก็บ 45,75 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ จาก 80 เป็น 100 บาท
       
       ส่วนโครงข่ายนอกเมือง ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C รถ 4, 6 มากกว่า 10 ล้อ ไม่ปรับ เก็บเท่าเดิมคือ 15, 20และ 30 บาท ตามลำดับ ส่วนความเห็นบริษัทฯ รถ 4, 6 มากกว่า 10 ล้อ เก็บ 25, 34 และ 45 บาท ตามลำดับ
       
       ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D รถ 4, 6 มากกว่า 10 ล้อ ไม่ปรับ เก็บเท่าเดิมคือ 25, 45 และ60 บาท ตามลำดับ ความเห็นบริษัทฯ รถ 4, 6 มากกว่า 10 ล้อ เก็บ 30, 55 และ 75 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากการคำนวณอัตราค่าผ่านทางระหว่าง กทพ. กับบริษัท โดยใช้ฐานการคำนวณต่างกันจึงทำให้เกิดส่วนต่างอัตราค่าผ่านทาง และนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาด
       
       แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดจาก 2 ส่วน คือ การปรับค่าผ่านทางที่ กทพ.ปัดเศษลง ส่วนบริษัทปัดเศษขึ้น และการปรับทุกๆ 5 ปี กทพ.ใช้ฐาน 5 ปีนั้นๆ ส่วนบริษัทฯ ใช้ฐานย้อนไป 5 ปีก่อนหน้าด้วย ทำให้ไม่ตรงกัน ซึ่ง กทพ.จะต้องนำผลอนุญาโตตุลาการเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณา และตามขั้นตอนยังสามารถยื่นศาลปกครองพิจารณาได้ ถือว่ายังไม่สิ้นสุด


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กทพ.แพ้ ข้อพิพาทค่าทางด่วน อนุญาโตฯ ชี้ขาด สั่งจ่ายชดเชย BEM

view