สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Zombies Policies

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์สามัญสำนึก โดย เมตตา ทับทิม

ข่าวล่ามาเร็วจากปิยมิตร "อ.อนุสรณ์ ธรรมใจ" คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต สะดุดตาข้อมูลชุดหนึ่งที่บอกว่า ถ้ารัฐบาลจีนแก้เศรษฐกิจภายในไม่ขาด จะขยายผลเป็นวิกฤตฟองสบู่จีน กลายเป็นวิกฤตคลื่นลูกที่ 3 ของระบบทุนนิยมโลก ในศตวรรษที่ 21

เหมือนจะรู้ว่าอยากรู้ มีคำอธิบายเสร็จสรรพ คลื่นลูกที่ 1 คือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คลื่นลูกที่ 2 คือ วิกฤตยูโรโซน

โดยรัฐบาลจีนประกาศแผนเศรษฐกิจ 5 ปี (2016-2020) ตั้งเป้าจีดีพีโต 6.5% สร้างงานใหม่ 10 ล้านตำแหน่ง เพื่อกดให้อัตราว่างงานต่ำกว่า 4.5% ในเขตเมืองใหญ่ ติดขัดอยู่ที่มีระเบิดเวลาหลายลูก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ วิกฤตฟองสบู่ในตลาดการเงิน-อสังหาริมทรัพย์ ทำให้มีแรงกดดันต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

รัฐบาลจีนมีทางเลือกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเลือกทำตามข้อเสนอการปฏิรูปSupplySide Reform ซึ่งหมายถึงจำเป็นต้องควบรวมกิจการ 3 อุตฯหลัก "เหล็ก-ถ่านหิน-อสังหาฯ" เนื่องจากมีภาวะโอเวอร์ซัพพลายอย่างหนัก ทำนายกันว่าถ้าทำตามแนวทางนี้จะดีในระยะยาว แต่ระยะสั้นต้องปล่อยให้กิจการที่ขาดทุนหรือไม่มีประสิทธิภาพ Zombies Companies ล้มละลายมากขึ้น

ฟังแล้วมึน พักเรื่องเศรษฐกิจจีนไว้ตรงนี้ ย้อนกลับมาดูประเทศไทย มึนกว่าเดิมอีกเพราะเรากำลังร้อนรนกับปัญหาภาวะภัยแล้ง ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ม.รังสิตระบุว่า มีผลกระทบต่อภาคเกษตรและเศรษฐกิจภาพรวมไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาทกันเลยทีเดียว

แบ่งเป็นความเสียหายเชิงเศรษฐกิจต่อพืชผลต่าง ๆ 19,460-20,000 ล้านบาท รายได้เกษตรกรลดลง 3,430 บาท/ครัวเรือน/ปี คำนวณ 7.1 ล้านครัวเรือน หรือลดลง 24,353-25,000 ล้านบาท รวมเป็น 43,813-45,000 ล้านบาท

สินค้าเกษตรที่กระทบมาก ได้แก่ ไม้ผล ข้าวนาปรัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน, กลุ่มกระทบปานกลาง มีข้าวนาปี ปศุสัตว์ และกลุ่มกระทบไม่มาก คือ มันสำปะหลัง อ้อย

เมื่อรวมผลกระทบภัยแล้งที่มีต่อภาคอื่น ๆ อาทิ การท่องเที่ยว การผลิต ก็เลยทะลุ 50,000 ล้านบาท ยังไม่นับผลกระทบภัยแล้งจะทำให้หนี้ครัวเรือนเกษตรกรต่อจีดีพีภาคเกษตรของปีཷ อาจทะลุ 80% จากหนี้สินเกษตรกรในระบบ 1.6-1.7 ล้านล้านบาทอีกต่างหาก

รายได้ภาคเกษตรตกต่ำมีผลกระทบยังไง "อิสระ บุญยัง" นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร บอกว่า ตลาดต่างจังหวัดโดนเต็ม ๆ แม้เกษตรกรไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายทางตรงที่จะมาซื้อโครงการอสังหาฯในตัวเมือง แต่รายได้ภาคเกษตรค้ำจุนและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในพื้นที่ เรียกว่าเป็นตัวสร้างเรียลดีมานด์ให้กับท้องถิ่น

ถ้าภาคเกษตรรายได้แฟบ เรียลดีมานด์ หรือกำลังซื้อในพื้นที่ ย่อมต้องแฟบตามไปด้วย

ฟังอีกราย "ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม" เอ็มดีค่ายศุภาลัย บริษัทมหาชนที่บุกเบิกลงทุนพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด 27 ปีเต็ม แต่เพิ่งบุกได้เพียง 10-11 จังหวัดเท่านั้น พอถามว่าสนใจลงทุนในจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือไม่ คำตอบคือไปแล้วที่อุดรธานี สงขลา แต่ไม่มีนโยบายไปเชียงราย หรือแม้แต่ จ.ตาก ในตอนนี้

เหตุผลเพราะลูกค้าศุภาลัยเป็นคนท้องถิ่น กำลังซื้อจะถูกขับเคลื่อนด้วยภาวะเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยรวม จังหวัดไหนเศรษฐกิจดี กำลังซื้อไม่แฟบ ถือว่ามีโอกาสทางธุรกิจสูง

ฟังไปฟังมา นโยบายภาครัฐไม่ว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การบริหารจัดการภัยแล้งปีཷ หรือแม้แต่นโยบายบ้านประชารัฐ (เริ่มต้นบอกเพดานราคา 7-9 แสน เพื่อให้คนรายได้เดือนละ 15,000 บาทเอื้อมถึง แต่ตอนจบอยู่ที่ 1.5 ล้าน) มองว่าเป็น Zombies Policies ก็ได้เหมือนกัน

กล่าวคือรัฐบาลไม่ได้ขาดทุน เพียงแต่เป็นนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ นโยบายดี๊ดีแต่ผลลัพธ์เห่ย อะไรประมาณนั้น

ส่วนวิธีแก้ไข ถ้าให้คิดเร็ว ๆ นึกออกเรื่องเดียว ต้องปฏิรูประบบราชการ เพราะดูเหมือนปัญหามาคอขวดอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ กฎระเบียบ-ความยุ่งยากซับซ้อนของขั้นตอน ทั้งจำเป็นและเกินจำเป็น โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Zombies Policies

view