สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

7 ข้อคิดเห็นถึงรัฐบาลจากนักวิชาการ กรณีรถไฟความเร็วสูง

จาก โพสต์ทูเดย์

นักวิชาการจุฬาเสนอข้อคิดเห็นถึงรัฐบาลกรณีการเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง

จากกรณี รัฐบาลเลือกเดินหน้ารถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 250 กิโลเมตร ด้วยการลงทุนด้วยตัวเอง

ล่าสุดผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว ผ่านเพจ Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D. โดยระบุว่า ผมมีข้อคิดเห็นฝากไปถึงรัฐบาลดังนี้

1. นักวิชาการอย่างพวกเรา โดยเฉพาะที่จุฬาฯ นี่ เราไม่ได้ต่อต้านโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงนะครับ แต่ที่ออกมาให้ข้อมูลและวิพากษ์โครงการ เราต้องการเรียนเสนอให้ทางรัฐบาลพิจารณาการพัฒนาโครงการ ไม่เพียงการจัดหารถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาใช้ภายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องการให้พิจารณาไปยาวๆ ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการ การจัดทัพเตรียมองค์กรที่จะมาดูแล และที่สำคัญสุดๆ คือ แผนการใช้งานและซ่อมบำรุงอย่างยั่งยืน
เน้นว่า "อย่างยั่งยืน"

การไม่วางแผนการใช้งานและซ่อมบำรุงอย่างยั่งยืน สะท้อนด้วยปัญหาจากหลายโครงการที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้อยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากไปกว่านี้

2. จนถึงตอนนี้ ผมคิดว่าเราคงไม่ต้องเสียเวลาถกเถียงกันเรื่อง คุ้มทุน คุ้มค่า เพราะตามตัวเลขที่เปิดเผยกันออกมา มันไม่คุ้มอยู่แล้วนะครับ จากตัวเลขที่มีการเปิดเผยออกมา โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช มีข้อมูลไวๆ ตามนี้

FIRR 1%
EIRR 10%
ระยะทาง 250 Km
ความเร็ว 250Km/ชม
ประมาณการจำนวนผู้โดยสาร 23,000 เที่ยว/วัน (นับจำนวนตั๋วนะครับ)
ค่าโดยสารคิดตามระยะทาง โดยมีราคาสูงสุด 580 บาท

พิจารณาตามนี้ ก็ต้องบอกว่า มีแนวโน้มจะไม่คุ้ม ไม่ว่าจะการเงิน หรือทางเศรษฐศาสตร์ เพราะปกติโครงการที่สภาพัฒน์ จะอนุมัติก็มีตัวเลข EIRR ขั้นต่ำประมาณ 12% แต่โครงการนี้อยู่ที่ 10%
ดังนั้นสิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อไป คือ ถ้าจะต้องทำแน่ๆ ก็เว้นเรื่องนี้ไปก่อน

3. ประเด็นถัดไปที่ต้องพิจารณาจึงเป็นเรื่อง

3.1. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ :
เรื่องน่าสงสัย และอาจหาคำตอบไม่ง่าย คือ ทำไมต้องให้จีนทำ ทำไมไม่เปิดโอกาสให้มีการประมูล เกาหลีก็ได้ ญี่ปุ่นก็ได้ เยอรมันก็ได้ ฯลฯ และถ้าจะต้องเป็นจีนจริงๆ (ด้วยเหตุผลที่ผมก็ไม่ทราบนะครับ) เราจะให้จีนทำอย่างอื่นก็ได้ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น ทำไมต้องให้จีนทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง?

3.2 การพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ :
บริบทความคิดเรื่องนี้จะต้องย้ายออกจากเพียงการซื้อรถไฟมาใช้ คือ การมองรถไฟเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการคมนาคมขนส่ง ไปมองให้ครอบคลุมการใช้รถไฟ (ไหนๆ จะต้องซื้ออยู่แล้ว) ไปพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศ

ต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเพื่อการซ่อมบำรุงระบบรถไฟในประเทศ ไล่เรียงไปจนริเริ่มกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิต ที่จะทำให้ช่างฝีมือ วิศวกร นักวิชาการของไทย ถูกพัฒนาควบคู่ไปด้วย เป้าหมายคือ ไทยต้องผลิตชิ้นส่วนเพื่อการซ่อมบำรุงเองได้ และระยะยาวๆ ทีมช่าง ทีมวิศวกรไทย จะต้องสามารถมีส่วนในการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นใหม่ๆ ได้เอง

อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ เราทำได้ แต่ต้องได้รับการวางแผนและสนับสนุนที่ถูกต้องครับ
ย้ำนะครับ อย่าให้เป็นเพียงการซื้อระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาใช้งาน
และโปรดอย่าลืมว่า เรายังมีปัญหาโครงสร้างการจัดการ การบริหาร โดยเฉพาะการบริหารการซ่อมบำรุง

โปรดทราบว่าผมพูดมาตลอดหลายปี ในหลายเวที หลายรายการวิทยุ รายการ TV ว่าประเทศไทยต้องพิจารณาภาพใหญ่ ตั้งแต่เหตุผลของการสร้าง ความจำเป็น ไล่เรียงไปถึงการใช้งาน การบำรุงรักษา ซึ่งหากต้องการให้มีความยั่งยืน จะต้องมีแผนงานรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

4. แผนรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี อาจแตกต่างกันไประหว่างโครงการรถไฟฟ้าในเมือง อย่างกรณี 10 สายรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง อย่าใช้สูตรเดียวกันกับทุกโครงการ เพราะปริมาณความต้องการใช้ต่างกัน การส่งเสริมอุตสาหกรรมก็ต้องต่างกัน

5. สำคัญมากๆ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องไม่ใช่เพียงการส่งคนไปฝึกอบรม 10 วัน 20 วัน แล้วก็กลับมา ไม่ได้ทำอะไร
หลายโครงการทำถ่ายทอดเทคโนโลยีกันแบบนี้ และล้มเหลว ประเทศไทยจะไม่ได้อะไรจากการทำอะไรแบบนี้

6. ในกรณีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง การถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องมุ่งเน้นการทำให้ไทย ;

- ขั้นต่ำ : ต้องสามารถผลิตชิ้นส่วนรองรับการซ่อมบำรุงได้ เป็นสัดส่วนที่มากกว่าการนำเข้า หรือทำให้ระยะยาวๆ เราต้องพึงพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราต้องยืนได้ด้วยขาของตัวเอง

- ขั้นสูง : ต้องสามารถทำให้ไทยผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้เอง เพื่อให้สามารถพัฒนาเส้นทางอื่นๆ ต่อไปได้เอง และการพูดแบบนี้ ไม่ได้พูดลอยๆ โปรดศึกษากรณีศึกษา ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทีมงานของผมที่จุฬาฯ โดยความร่วมมือกับ สวทช. และกระทรวงคมนาคมเอง ก็เคยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเกาหลีใต้มาอธิบายให้ฟัง และผมได้เขียนเป็นบทความออนไลน์ไว้ให้ช่วยกันศึกษาแล้ว

7. ท้ายที่สุด ไม่ควรออกมาพูดทำนองว่านักวิชาการขัดขวางความเจริญ

- ควรเข้าใจบทบาท กับหน้าที่ ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง
- นักวิชาการมีหน้าที่คิด วิเคราะห์ และให้ข้อเสนอกับสังคม
- การถกเถียงกันจากแง่มุมความคิดต่างๆ จะทำให้เราได้บทสรุปที่ดีที่สุดสำหรับประเทศครับ
- โปรดเข้าใจ และระลึกอยู่เสมอว่า ระบบขนาดใหญ่เหล่านี้ เมื่อลงทุนในวงเงินระดับแสนล้านบาท ระบบที่ว่าจะต้องอยู่กับสังคมไทยไปอีกหลายสิบปี อย่าให้เกิดปัญหาว่ามีความเสียหาย หรือไม่สามารถบริหารจัดการได้ หลังจากเปิดใช้งานไปเพียง 5-6 ปี

ที่มา https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=981031675314091&id=206149389468994

 



สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อคิดเห็น รัฐบาล นักวิชาการ รถไฟความเร็วสูง

view