สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จัดระเบียบรปภ. ...เมื่อวุฒิการศึกษาสำคัญกว่าประสบการณ์ชีวิต

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด 

ทันทีที่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นำมาสู่กระแสคัดค้านต่อต้านจากเหล่าบรรดาพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือยาม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องจบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป ต้องพ้นโทษจำคุกจากคดีอาญาร้ายแรงอย่างน้อย 3 ปี ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้คนในอาชีพรปภ.กว่า 4 แสนรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

จัดระเบียบยาม...เมื่อคุณภาพชี้วัดด้วยวุฒิการศึกษา

น้อยคนจะรู้ว่า  ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมบริษัทรักษาความปลอดภัย ทำให้การจ้างงานเป็นไปอย่างอิสระ ใครๆก็สามารถทำอาชีพนี้ได้ ไม่มีการตรวจประวัติอาชญากรรม ทั้งยังมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าว เนื่องจากมีค่าแรงถูกกว่า

ปัจจุบันมีบริษัทรักษาความปลอดภัยจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายกว่า 4,000 แห่ง มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในระบบกว่า 400,000 คน ทว่าผ่านการอบรมหลักสูตรไม่ถึง 10 % เท่านั้น  

ล่าสุด หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ นั่นคือ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ได้ระบุเงื่อนไขคุณสมบัติสำคัญ 5 ประการของผู้ที่จะมาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดังนี้

1.อายุ 18 ขึ้นไป

2.มีสัญชาติไทย

3.จบการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 

4.ผ่านหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยที่นายทะเบียนรับรองว่าเป็นสถานฝึกอบรมที่ถูกต้องได้มาตรฐาน

5.ไม่เป็นผู้มีอาการติดสุรา ยาเสพติด และต้องไม่เคยถูกจำคุกในคดีอาญาที่มีข้อหาความผิดเกี่ยวกับ “เพศ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ การพนัน ยาเสพติด” ยกเว้นได้รับโทษจำคุกแล้วพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตปกติไม่น้อยกว่า 3 ปี (แต่ผู้ทำผิดคดีเกี่ยวกับ “เพศ” จะไม่ได้รับการยกเว้น)

ธนพล พลเยี่ยม เลขาธิการสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า การที่กฎหมายระบุว่า รปภ.จะต้องจบการศึกษาภาคบังคับนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อตัวผู้ประกอบการเองและผู้ปฎิบัติหน้าที่

“ปัจจุบันมีรปภ.ทั่วประเทศประมาณ 4 แสนคน ไม่จบการศึกษาภาคบังคับถึง 2.8 แสนคน หรือคิดเป็น 70 % ของทั้งหมด พูดง่ายๆว่าคนที่เข้ามาสมัครเป็นยามจบม.3น้อยมาก คนที่จบม.3ขึ้นไปส่วนใหญ่มักไปทำงานในโรงงาน ไม่ก็เข้ามาเป็นยามช่วงสั้นๆเพื่อรอโอกาสงานที่ดีกว่า ยิ่งคนรุ่นใหม่สมัยนี้ถามหน่อยเถอะว่าใครกันจะอยากมาเป็นยาม ปัญหาในอนาคตคือ เมื่อยามกว่า 2.8 แสนคน ทยอยออกไปหางานใหม่ หรือออกไปเพราะร่างกายไม่เอื้ออำนวย การจะได้คนใหม่เข้ามาเติมเต็มถือเป็นเรื่องยาก ไม่มีคนมาสมัคร เพราะวุฒิไม่ถึง ม.3”

เลขาธิการสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ย้ำว่า วุฒิการศึกษาไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกคุณภาพในการทำงานของรปภ. ประสบการณ์ อายุ ความรับผิดชอบ เเละความซื่อสัตย์ต่างหากที่เป็นตัวตัดสิน

“จากประสบการณ์ในฐานะผู้ประกอบการ เชื่อไหมครับว่า รปภ.ที่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เรียนจบแค่ ป.4 หรือ ป.6 เท่านั้น ทำงานขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบสูง จนลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างเอ่ยปากชม ขณะพวกเด็กหน้าใหม่อายุ 18-19 ปี ถือวุฒิ ม.3 แต่ทำงานไม่มีความรับผิดชอบเยอะแยะ วันๆเอาเเต่นั่งเล่นโทรศัพท์จนถูกตำหนิจากลูกค้าเป็นประจำ สิ่งที่อยากจะบอกคือ วุฒิการศึกษาไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า รปภ.คนนั้นมีคุณภาพในการปฎิบัติหน้าที่”

คนขี้คุกห้ามสมัคร=ละเมิดสิทธิ์

แม้จุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 จะพุ่งเป้าไปที่การยกระดับมาตรฐานธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพิ่มศักยภาพในการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ทว่าในสายตาของยามตัวจริง พวกเขาไม่เห็นด้วย มองว่าบทบัญญัติที่ออกมาไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงาน

จากการสอบถามผู้ประกอบการด้านธุรกิจรักษาความปลอดภัย หลายรายตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดให้ “รปภ.” พ้นโทษคดีอาญาถึง 3 ปี ก่อนจะมาขึ้นทะเบียนทำงานได้นั้น อาจผิดข้อกำหนดของไอแอลโอ หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) เพราะกีดกันคนบางกลุ่มไม่ให้มีงานทำ ทั้งที่พวกเขารับโทษจำคุกมาแล้ว อาจเป็นการผลักให้คนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำแล้วกลับไปสู่วงจรก่อคดีทำผิดกฎหมายอีก

“กรมราชทัณฑ์บอกเสมอว่าต้องการคืนคนดีสู่สังคม แต่กฎหมายดันไม่รับคนเหล่านี้ ต้องรอให้พ้นโทษ 3 ปีก่อนถึงจะไว้ใจ ทั้งที่รปภ.เป็นอาชีพที่กำลังขาดแคลน รับไม่อั้น มา 100 คนรับ 100 คน และมีแรงงานต่างด้าวในระบบกว่า 5 หมื่นราย ถ้าจำกัดโอกาสด้วยข้อหาที่ว่ายังพ้นโทษไม่ถึง 3 ปี ผมคิดว่ามันจะนำไปสู่ปัญหาด้านอื่นๆ อีกมากมาย แทนที่จะเรารับพวกเขาเข้ามาเป็นผู้ให้ความปลอดภัย กลับกลายเป็นผลักไสให้ไปสร้างความไม่ปลอดภัยแทน” เลขาธิการสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย กล่าว

เขาบอกว่า สิ่งหนึ่งที่อยากให้สังคมรับรู้คือ กฎหมายฉบับนี้ควบคุมเฉพาะ “ธุรกิจ” รักษาความปลอดภัยในภาคเอกชนเท่านั้น ไม่ควบคุมทั่วถึงการให้บริการรักษาความปลอดภัยที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หมายความว่า “องค์การทหารผ่านศึก” จะได้รับการยกเว้น เเสดงให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมในการประกอบธุรกิจของภาครัฐและเอกชนภายใต้ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน

“พ.ร.บ.นี้ไม่บังคับทหารผ่านศึก กลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้องค์กรของรัฐซึ่งทำธุรกิจแข่งกับเอกชน เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้น ถ้าจะเป็นรปภ. ของเอกชนต้องจบ ม.3  แต่พวก ป.6 ไปเป็นยามขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกกันหมดเลย  กฎหมายออกมาบังคับแต่เอกชน แต่ไม่บังคับตัวรัฐเอง”

"งานเสี่ยงไม่กลัว กลัวสังคมไม่ให้โอกาส"เสียงสะท้อนจากยาม

ไพศาล ดาลหอม ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการจากบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง เขาเคยผ่านประสบการณ์ติดคุกติดตารางมาหลายปี ก่อนที่อาชีพรปภ.จะสร้างชีวิตใหม่ให้กับเขา

"ออกจากคุกวันเเรก พอพบหน้าครอบครัว ก็คิดถึงการหางานทำ จะทำอาชีพอะไรดี คนคุกเขารู้กันอยู่เเล้วว่า ยามนี่เเหละง่ายที่สุด ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องใช้เงินสักบาท เเบกกระเป๋าหอบเสื้อผ้าเข้าไปสมัคร สัมภาษณ์งานเสร็จ เขาก็พาไปตัดผมเเละรับเครื่องเเบบ อบรมไม่กี่วันก็ทำงานได้เลย  คนคุกหลายคนออกจากเรือนจำมาชีวิตไม่เหลืออะไรสักอย่าง ภรรยาลูกหายหมด หากถูกปิดกั้นโอกาสจากสังคมอีกก็จบกันชีวิตนี้”

ไพศาล มองว่า ข้อดีของคนที่เคยติดคุกติดตารางมาคือ ความใจเด็ด ไม่กลัวใคร ส่งไปอยู่ไหนก็เอา พื้นที่นักเลง ขโมยเยอะ ไม่เคยหวั่นเกรง พูดง่ายๆงานเสี่ยงไม่กลัว กลัวสังคมไม่ให้โอกาสมากกว่า

เกษี วัย 47 ปี หัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยของบริษัทแห่งหนึ่ง เรียนจบเพียงแค่ชั้น ป.6 แต่ใช้ความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ นำทางจนประสบความสำเร็จในหน้าที่ ปัจจุบันมีรายได้ 18,000 บาทต่อเดือน

“ผมออกมาทำงานตั้งแต่จบ ป.6 ผ่านมาหลายอาชีพ กระทั่งมาเป็นรปภ. ตัวผมแสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องจบ ม.3 ก็สามารถเป็นยามที่ดีได้  สิ่งสำคัญคือตั้งใจ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ไม่ขาดลามาสาย สำหรับพรบ.ฉบับล่าสุด ส่วนตัวเห็นว่า เป็นการจำกัดการเข้าทำงานมากกว่าเป็นการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ ที่สำคัญถึงไม่มีการจำกัดวุฒิ ทุกวันนี้ยังขาดแคลนคนทำงานอยู่แล้ว ถ้าเอาวุฒิมากำหนดยิ่งขาดแคลนหนักเข้าไปใหญ่”

ขณะที่ สมหมาย รปภ.บริษัทแห่งหนึ่ง บอกว่า"อาชีพยาม ถ้าเลือกได้ ไม่ค่อยมีใครอยากทำหรอก ไม่ลำบากแต่ก็ไม่สบาย ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ค่าแรงตั้งแต่ 350 ไปจน 500-600 แล้วแต่บริษัทและผู้ว่าจ้าง งานหนักบ้างเบาบ้างขึ้นอยู่กับสถานการณ์"

หนุ่มเเม่ฮ่องสอนรายนี้ เห็นว่า สำหรับอาชีพรปภ. การศึกษาไม่ได้สร้างอภิสิทธิ์เหนือใคร แต่ความสามารถเเละความรับผิดชอบต่างหากที่ถือเป็นตัวชี้วัดว่าใครมีคุณภาพมากกว่ากัน

“ใครๆ ก็อยากเรียนสูงกันทั้งนั้น แต่ข้อจำกัดของคนมันต่างกัน อย่างตัวผมพ่อเเม่ไม่มีเงินส่งเรียน เลยต้องออกมาทำงาน วันนี้บอกเลยว่าอาชีพยามไม่ได้ต้องการคนฉลาดแค่ในห้องเรียน แต่ต้องการคนที่มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ขยันขันแข็ง มีไหวพริบ มีทักษะในการรักษาความปลอดภัย สำหรับผมคุณสมบัติแรกเข้า ของรปภ. ขอเพียงคุณอ่านออกเขียนได้ ร่างกายเเข็งเเรงก็พอแล้ว อย่างอื่นเรียนรู้พัฒนาทักษะในการรักษาความปลอดภัยได้”

มงคลชัย หนุ่มใหญ่ชาวอยุธยาวัย 49 ยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากว่า 10 ปี ไม่เห็นด้วยกับการนำวุฒิการศึกษามายกระดับคุณภาพการทำงาน และมองว่าผู้ที่จะตัดสินคุณภาพแท้จริงไม่ใช่ภาครัฐ แต่คือ ลูกค้า

เขาเชื่อว่า คุณภาพของยาม ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความสามารถในการสังเกตการณ์ การตื่นตัวตลอดเวลาทำงาน เรื่องแบบนี้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งสำคัญต่อการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน

"หากเราทำหน้าที่ไม่ดี ลูกค้าไม่พอใจเขาก็ไปร้องเรียนต่อบริษัทและเลิกจ้างเรา ไปหาบริษัทอื่นมาแทน มันแข่งกันในตัวเองอยู่แล้ว ผมคิดว่าคนกำหนดมาตรฐานจริงๆคือ ลูกค้า ไม่ใช่หน่วยราชการ คุณลงไปทำงานสามเดือน ถ้าไร้ประสิทธิภาพเขาไม่เลือกคุณอยู่แล้ว ลูกค้าให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าวุฒิการศึกษา ผมไม่เคยถูกถามว่าเรียนจบชั้นไหนมา เขาสนแค่ว่าผมทำงานดี ซื่อสัตย์ ปฎิบัติหน้าที่ยอดเยี่ยมหรือเปล่า หลายคนแม้จะจบ ป.4 แต่ลูกค้าบอกเลยเอาคนนี้ห้ามเปลี่ยนตัวนะ  บางคนจบ ม.3 โอ้โห นั่งหลับบ้าง เล่นโทรศัพท์บ้าง จนลูกค้าขอเปลี่ยนตัว ฉะนั้นการกำหนดมาตรฐานงานด้านความปลอดภัยคือลูกค้า” 

กฎหมายยกระดับและพัฒนาอาชีพรักษาความปลอดภัย สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนทำงานจริงในพื้นที่ นั่นคือ บรรดาเจ้าหน้าที่รปภ.หรือยาม จะละเลยเสียงเหล่านี้ไม่ได้เด็ดขาด


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จัดระเบียบรปภ วุฒิการศึกษา สำคัญกว่า ประสบการณ์ชีวิต

view