สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปานามาเปเปอร์ส แค่เสี้ยวภูเขาน้ำแข็งอุดช่องภาษี

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

เว็บไซต์อีโคโนมิก ไทมส์ รายงานว่า กรณีการเผยแพร่ข้อมูลปานามา เปเปอร์ส ขนาด 11.5 ล้านไฟล์ ที่สั่นสะเทือนแวดวงการเมืองและธุรกิจทั่วโลกตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วนั้น ยังเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง และสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากความพยายามอุดช่องโหว่ของรัฐบาลทั่วโลกตลอดช่วงที่ผ่านมา

พูนัม ไครา สิธุ อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า สวรรค์สำหรับการเลี่ยงภาษีต้องมีองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ด้านหลัก คือ 1.มีฐานภาษีต่ำหรือไม่มีการเก็บภาษีเลย 2.มีกฎหมายปกป้องความลับของสถาบันการเงิน และ 3.มีประวัติที่ไม่เคยให้ความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษีมาก่อน ซึ่งปานามาและหลายประเทศในอเมริกากลางต่างมีคุณสมบัติเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ปานามา เปเปอร์ส ยังสะท้อนให้เห็นถึงอีกผลกระทบของแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันการโอนกำไรไปต่างประเทศที่มีภาษีถูกกว่า (Base Erosion and Profit Shifting : BEPS) ที่กลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เสนอมาก่อนหน้านี้

สิธุ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการบีอีพีเอสมีขึ้นเพื่ออุดช่องว่างบริษัทข้ามชาติทั่วโลกที่หลบเลี่ยงภาษีด้วยการโอนผลกำไรไปยังบริษัทในต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการจ่ายภาษีที่ถูกกว่า ซึ่งมีการประเมินกันว่าทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องสูญเสียรายได้ที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยถึงปีละ 1-2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.5-8.4 ล้านล้านบาท) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ จี20 ได้เสนอกรอบความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติ (เออีโอไอ : AEOI) เพื่อเป็นมาตรฐานใหม่ในระเบียบปฏิบัติระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2014 เพื่อให้รองรับกระบวนการของบีอีพีเอส ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา มีรัฐบาลทั่วโลกยอมให้ความร่วมมือเมื่อได้รับการร้องขอแล้ว 132 แห่งทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอีก 96 แห่ง ขอเวลาพิจารณาภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเป้าหมายที่ได้รับความนิยมเข้าไปตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (ออฟชอร์) หรือเข้าไปเปิดบัญชีธนาคาร เช่น ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ หมู่เกาะเคย์แมน และเบอร์มิวดา ในขณะที่ประเทศปานามานั้น ยังปฏิเสธไม่ขอเข้าร่วมความร่วมมือดังกล่าว  

ปิแอร์ มอสโควิซี กรรมาธิการกิจการการเงินและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า กรณีปานามา เปเปอร์ส กำลังเพิ่มแรงกดดันให้คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) พิจารณาเพิ่มการกำกับดูแลด้านกฎหมายภาษีให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกับบรรดาบรรษัทข้ามชาติ

ด้านหนังสือพิมพ์ซุดดอยช์ ไซทุง รายงานว่า รัฐบาลเยอรมนีกำลังพิจารณาวางระเบียบด้านภาษีและกฎหมายด้านการฟอกเงินใหม่ เพื่อกำหนดให้บริษัทออฟชอร์ต้องเปิดเผยตัวตนของผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง

ขณะที่นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ได้เปิดเผยเอกสารการเสียภาษีย้อนหลังไปตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว เพื่อแสดงความโปร่งใสกับสังคม หลังจากที่บิดาของตนเองมีชื่ออยู่ในบริษัทออฟชอร์ที่บาฮามาส

คาเมรอน เพิ่งยอมรับก่อนหน้านี้ว่า เคยถือหุ้นจำนวนหนึ่งจริง แต่ขายไปก่อนขึ้นรับตำแหน่งผู้นำอังกฤษ และยอมรับเพิ่มด้วยว่า ได้รับของขวัญมูลค่า 2 แสนปอนด์ (ราว 9.9 ล้านบาท) จากมารดาในปี 2011 เพิ่มเติมจากมรดก 3 แสนปอนด์ (ราว 14.8 ล้านบาท) ที่ได้จากบิดา ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นอีกครั้งว่า เป็นความพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมรดก หรือมีส่วนเกี่ยวข้องจากการบริหารทรัพย์สินในออฟชอร์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เจอเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษ ได้เสนอให้นักการเมืองและบุคคลสาธารณะทั้งหมดออกมาเปิดเผยรายการเสียภาษีย้อนหลังเพื่อสร้างความโปร่งใสอย่างครอบคลุม


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปานามาเปเปอร์ส แค่เสี้ยว ภูเขาน้ำแข็ง อุดช่องภาษี

view