สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปานามา เปเปอร์ส เมื่อพลังสื่อเขย่าโลก จุดเปลี่ยนวงการกีฬาด้วย

ปานามา เปเปอร์ส" เมื่อพลังสื่อเขย่าโลก จุดเปลี่ยนวงการกีฬาด้วย

จากประชาชาติธุรกิจ

ต้นเดือนเมษายนมีเรื่องสะเทือนประชาคมโลก เมื่อสื่อเผยแพร่ข้อมูลทางการเงินที่อ้างว่าเป็นข้อมูลทางการเงินเบื้องลึก จากเหล่าบุคคลดังและบุคคลสำคัญในหลายแวดวง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถูกเรียกกันว่า "ปานามา เปเปอร์ส" ข้อมูลเผยแพร่โดยเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ "ไอซีไอเจ" โดยผู้ที่มีชื่อในเอกสารที่เผยแพร่ออกมาส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองจากประเทศต่าง ๆ แต่ที่น่าสนใจคือมีรายชื่อของคนในแวดวงองค์กรกีฬาด้วย

กรณี "ปานามา เปเปอร์ส" มาจากการทำงานและตรวจสอบของกลุ่มผู้สื่อข่าวกว่า 300 ชีวิต จาก 76 ประเทศ ซึ่งได้รับข้อมูลลับจากแหล่งข่าว ข้อมูลที่ถูกนำมาวิเคราะห์นานนับปีคือ ข้อมูลด้านพฤติกรรมทางการเงิน เป็นข้อมูลเชิงลึกภายในบริษัท "มอสแซ็ก ฟอนเซก้า" บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย วางแผนการลงทุนและการเงินจากประเทศปานามาที่มีหลายสาขารอบโลก ข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า บริษัทข้างต้นแม้จะไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนหมู่มาก แต่ข้อมูลนานาชนิดที่ได้รับกลับทำให้จับสัญญาณที่อาจอนุมานได้ระดับหนึ่งว่าเป็นบริษัทที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลบเลี่ยงข้อมูลการถือครองทรัพย์สิน หรือฟอกเงินเลี่ยงภาษี

รายชื่อบุคคลที่เคยเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของบริษัทแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบริษัทต่างชาติบังหน้า หรือกิจกรรมอื่น ๆ จากการเปิดเผยในชั้นเบื้องต้นยังมีชื่อบุคคลสำคัญกว่า 20 ราย ตั้งแต่ระดับผู้นำประเทศยันเจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงรวมถึงบุคคลใกล้ชิดผู้นำของประเทศยักษ์ใหญ่หลายภูมิภาค ไม่เว้นแม้แต่คนวงการกีฬา

ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกเผยแพร่ เอ่ยชื่อ ลิโอเนล เมสซี่ แข้งเทพแห่งยุคชาวอาร์เจนไตน์ไปด้วย การแถลงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ไอซีไอเจระบุว่า เมสซี่ และพ่อของแข้งดัง เป็นเจ้าของบริษัท "เมกา สตาร์ เอ็นเตอร์ไพรส์" บริษัทที่ตั้งในปานามา บริษัทนี้กลายเป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือข่ายบริษัทบังหน้าของนักเตะคนดัง ซึ่งถูกตั้งมาบังหน้าและหลบเลี่ยงภาษีในสเปน โดยเมสซี่ถูกศาลสเปนสั่งเดินหน้าพิจารณาคดี ทำให้ต้องขึ้นศาลในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ชื่อ "เมกา สตาร์ฯ" เพิ่งถูกหยิบยกมาพูดถึงในบริบทนี้เป็นครั้งแรก

ข้อมูลที่เปิดเผยไม่ได้แสดงหลักฐานที่บ่งชี้ต่อข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน แต่อาจให้ภาพตอกย้ำข้อกล่าวหาการหลบเลี่ยงภาษีของเมสซี่ได้ โดยเมื่อปี 2015 เมสซี่ถูกสอบสวนดำเนินคดีเลี่ยงภาษีกว่า 4 ล้านยูโร แม้เจ้าตัวอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเงินที่พ่อทำผ่านบริษัทต่างชาติ แต่พบข้อมูลว่า เมสซี่เป็นผู้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการ เมื่อศาลสั่งดำเนินคดี และถ้าพบว่ามีความผิดแข้งแห่งยุคอาจต้องรับโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 12 เดือน

กรณีของเมสซี่ เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ เครือข่ายผู้สื่อข่าวยังระบุว่า นอกเหนือจากเมสซี่ กลุ่มคนดังอาชีพนักฟุตบอลยังมีแข้งอีกหลายประเทศ ทั้งบราซิล, สหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์, อุรุกวัย และอีกหลายแห่ง ซึ่งต่างเข้าข่ายเปิดบริษัทข้ามชาติบังหน้าให้ถือเงินรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ด้านภาพลักษณ์จากผู้สนับสนุน แต่รายชื่อที่เอ่ยมาเป็นน้ำจิ้ม มีชื่อนักเตะที่รู้จักกันดี อาทิ ลีโอนาร์โด อุลลัว หัวหอกเลสเตอร์ ซิตี้ จ่าฝูงพรีเมียร์ลีก อังกฤษ รวมถึง กาเบรียล ไฮน์เซ่ แบ็กอาร์เจนไตน์ อดีตนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่างถูกเอ่ยถึงในกรณีเข้าข่ายใช้บริษัทต่างชาติบังหน้าถือทรัพย์สินเช่นกัน

นอกจากนี้ ระดับผู้นำองค์กรลูกหนังอย่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงในคณะกรรมการจริยธรรมอิสระของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ก็ยังถูกแฉว่ามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในองค์กร ซึ่งถูกดำเนินคดีในสหรัฐข้อหาทุจริตและฟอกเงิน ขณะที่ มิเชล พลาตินี่ อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลทวีปยุโรป (ยูฟ่า) ซึ่งเพิ่งถูกลงโทษแขวนจากกิจกรรมฟุตบอลในข้อหาทุจริต ก็มีชื่อถูกแฉด้วย โดยพลาตินี่พึ่งพามอสแซ็กฯช่วยดูแลจัดการบริษัทบังหน้าซึ่งถูกตั้งในปานามา ปี 2007 ปีเดียวกับที่ถูกเลือกเป็น ปธ.ยูฟ่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ฟีฟ่า 4 ใน 16 ราย ที่ถูกดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกา ก็ใช้บริการมอสแซ็กฯสร้างบริษัทบังหน้าด้วย

ไม่เพียงแค่ระดับบุคคล ยังมีบางทีมที่ถูกเอกสารกล่าวหาว่าตุกติกจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะผ่านบริษัทและธนาคารในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน, สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์

ขณะที่บุคลากรในกีฬาชนิดอื่น ๆ ก็ถูกแฉไม่น้อยกว่านักฟุตบอล ไอซีไอเจอ้างว่า มีกลุ่มนักฮอกกี้ในเอ็นเอชแอลลีกอเมริกันเกม ไปจนถึงนักกีฬากอล์ฟชื่อดังอย่าง นิก ฟัลโด้ ก็เป็น 1 ใน 5 นักกอล์ฟที่มีชื่อในเอกสารแฉพฤติกรรมผิดปกติถือครองบริษัทข้ามชาติบังหน้าเช่นกัน

ถ้ามองอีกด้าน "ปานามา เปเปอร์ส" อาจเป็นตัวพลิกเกมครั้งใหญ่ในสังคมโลก คนสำคัญในแวดวงที่มีอิทธิพลต่อสังคมและการเมืองมีชื่อกระจายอยู่ในข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกเผยแพร่ ที่น่าสนใจคือเบื้องหลังของต้นตอไปจนถึงการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกในครั้งนี้จะนำไปสู่จุดใด ทั้งที่เรื่องราวเหล่านี้เคยถูกเก็บเป็นมุมมืดสำหรับการรับรู้ของคนทั่วไป แต่อีกด้านอาจกล่าวได้ว่า บางครั้งมีคนรู้แต่ทำอะไรไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ลงมือทำเอง คำถามที่ตามมาคือ หรือ 2016 เป็นเวลาของ "ปานามา เปเปอร์ส" ที่จะล้างบาง-เปิดเผยมุมมืดให้เห็น พร้อมจับต้องได้โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ อีก


"คาเมรอน" แก้กม.ขจัดการหนีภาษีหวังกู้ภาพลักษณ์

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า กำลังปรับแก้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อขจัดการหนีภาษีให้หมดไป และหวังว่าจะยุติการถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวยส่วน ตัว และฟื้นความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำของเขาให้กลับมา

ในการอภิปรายอย่างดุเดือดในรัฐสภาจนมีสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้านรายหนึ่ง ต้องถูกเชิญตัวออกไป นายคาเมรอนกล่าวปกป้องผู้ที่ต้องการนำเงินมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาบอกว่า เป็นจุดประสงค์ของพ่อผู้ล่วงลับของเขาในการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขตหรือออ ฟชอร์คอมปะนีที่ถูกเปิดเผยไว้ใน "ปานามา เปเปอร์ส" เอกสารที่รั่วไหลออกมาของบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย "มอสแสค ฟอนเซกา"Ž ในปานามา


ทว่า มาตรการที่นายคาเมรอนประกาศออกมา ไม่ช่วยให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อตัวเขาลดน้อยลงเท่าใดนัก โดยเขาถูกกล่าวหาจากฝ่ายค้านว่าเป็นคนมือถือสาก ปากถือศีลจากการไล่ล่าเอาผิดผู้หลบเลี่ยงภาษีเนื่องจากกองทุนของพ่อถูกเปิด เผย และจากความล่าช้าในการเปิดเผยข้อมูลการยื่นแบบเสียภาษีของตน

นาย คาเมรอนพยายามที่จะเน้นย้ำถึงความแตกต่างของการหนีภาษีแบบผิดกฎหมายและการ หลีกเลี่ยงภาษีแบบถูกกฎหมาย และพยายามที่จะกล่าวถึงความห่วงกังวลในเรื่องความเป็นผู้นำของเขาที่ได้รับ ความเสียหาย ไม่เพียงแต่จากคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติของเขาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังเป็นเรื่องความแตกแยกในพรรคอนุรักษนิยมรวมถึงในเรื่องสมาชิกภาพของ สหภาพยุโรปด้วย

"เป็นเรื่องถูกต้องในการออกกฎหมายให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อทำให้การหนีภาษีเป็น เรื่องผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง และชักจูงให้เลิกใช้ช่องโหว่เพื่อใช้สิทธิบรรเทาภาษีอย่างสุดโต่ง ซึ่งในการจะทำเช่นนั้นเราควรจะสร้างความแตกต่างระหว่างโครงการที่ออกแบบมา เพื่อลดภาระทางภาษีและโครงการที่กระตุ้นการลงทุนอย่างแท้จริง" นายคาเมรอนกล่าว และว่า "ความทะเยอทะยานและการสร้างความมั่งคั่งไม่ใช่เรื่องสกปรก สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตและความมั่งคั่งในประเทศ ของเรา และเราควรจะให้การสนับสนุนผู้ที่ต้องการถือหุ้นหรือลงทุนเพื่อช่วยเหลือ เกื้อกูลครอบครัว"

ข่าวระบุว่า เป็นอีกครั้งที่นายคาเมรอนนำเสนอรายละเอียดของเอกสารทางการเงินในเรื่อง เกี่ยวกับการยื่นแบบเสียภาษีเช่นเดียวกับนายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลัง แต่นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้านกล่าวหานายคาเมรอนว่าเป็น "เจ้าแห่งการเบี่ยงประเด็น" ขณะที่นายเดนนิส สกินเนอร์ สมาชิกสภาจากพรรคแรงงานถูกเชิญออกจากห้องประชุมไปหลังไม่ยอมถอนคำพูดที่ เรียกนายคาเมรอนว่า "เดฟจอมเจ้าเล่ห์"





ที่มา : มติชนออนไลน์


"ปานามา เปเปอร์ส" แฉหน่วยสืบราชการลับบางประเทศใช้บริการ "มอสแสค ฟอนเซกา"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อ วันที่ 12 เมษายน หนังสือพิมพ์ซูดดอยตช์ ไซตุง หนังสือพิมพ์รายวันสัญชาติเยอรมัน เปิดเผยข้อมูลจากปานามา เปเปอร์สว่า หน่วยสืบราชการลับหลายประเทศรวมถึงตัวกลางที่ใกล้ชิดสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ใช้บริการของบริษัทกฎหมาย "มอสแสค ฟอนเซกา" ที่ตั้งอยู่ในประเทศปานามาเพื่อปกปิดกิจกรรมบางประการ

ซูดดอยตช์ ไซตุง สำนักข่าวที่ได้รับเอกสารปานามา เปเปอร์ส ระบุว่า "หน่วยสืบราชการลับและแหล่งข้อมูลต่างใช้บริการมอสแสค ฟอนเซกา จัดตั้งบริษัทเทียมขึ้นเพื่อปกปิดกิจกรรมของหน่วยงาน"


หนังสือ พิมพ์สัญชาติเยอรมันนี้เปิดเผยต่อว่า ลูกค้าของมอสแสค ฟอนเซกา มีตัวแสดงที่เกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวอิหร่าน-คอนทรา ในปี 2529 – 2534 ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐจัดการขายขีปนาวุธต่อสู้รถถังและเครื่องบิน ให้ประเทศอิหร่านเพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกันชาวอเมริกัน ขณะเดียวกัน ยังให้กองทุนสนับสนุนกบฏคอนทราในประเทศนิการากัว

นอกจากนี้ ปานามา เปเปอร์ส แสดงหลักฐานว่า "เจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำหน่วยข่าวกรองอย่างน้อย 3 ประเทศ … ซาอุดีอาระเบีย โคลอมเบีย และรวันดาถูกบันทึกในรายชื่อลูกค้าของมอสแซค ฟอนเซกา" และมีรายชื่อของชีกห์ กามัล อาดัม อดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับซาอุดีอาระเบียซึ่งเสียชีวิตในปี 2542 และเคยทำงานเป็นตัวกลางคนสำคัญด้านตะวันออกกลางให้ซีไอเอระหว่างช่วงทศวรรษ ที่ 1970 ด้วย

ทั้งนี้ ซูดดอยตช์ ไซตุงได้รับเอกสารเกี่ยวกับมอสแสค ฟอนเซกามาจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ ก่อนนำเอกสารชุดนี้แจกจ่ายให้สื่อนานาสำนักผ่านเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวน สอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ)

เพียง 1 สัปดาห์หลังการเปิดเผยข้อมูลชุดแรก เอกสารปานามา เปเปอร์สได้อธิบายให้เห็นถึงวิธีการที่เหล่าผู้มีอำนาจและร่ำรวยในโลกใช้ บริษัทนอกอาณาเขตเพื่อซุกซ่อนทรัพย์สินของตน




ที่มา : มติชนออนไลน์


สื่อเมืองเบียร์แฉ “ซีไอเอ” และสายลับหลายประเทศใช้บริการ “มอสแซก ฟอนเซกา” เพื่อปกปิดภารกิจลับ

โดย MGR Online

      เอเอฟพี - สายลับจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงคนกลาง (intermediaries) ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ล้วนเคยใช้บริการบริษัทกฎหมายปานามา มอสแซก ฟอนเซกา เพื่อปกปิดภารกิจของพวกเขา หนังสือพิมพ์ซึดดอยตช์ ไซตุง ของเยอรมนีรายงานวันนี้ (12 เม.ย.)
       
       “พวกสายลับและผู้ที่ให้ข้อมูลแก่พวกเขาใช้บริการของ มอสแซก ฟอนเซกา อย่างกว้างขวาง” ซึดดอยตช์ ไซตุง ซึ่งเป็นสื่อฉบับแรกที่ได้เห็นแฟ้มลับ “ปานามา เปเปอร์ส” กว่า 11.5 ล้านฉบับที่ตกเป็นข่าวสะเทือนโลกอยู่ในขณะนี้ ระบุ
       
       “สายลับพวกนี้จะเปิดบริษัทที่มีแต่เปลือก (shell companies) เพื่ออำพรางภารกิจของพวกเขา... คนกลางของซีไอเอก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย”
       
       หนังสือพิมพ์ซึ่งมีฐานที่เมืองมิวนิก เผยด้วยว่า ลูกค้าของบริษัทกฎหมายปานามาแห่งนี้ยังรวมถึงบุคคลที่มีส่วนพัวพันกับกรณีอื้อฉาว “อิหร่าน-คอนทรา” เมื่อช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้จัดการขายอาวุธให้แก่อิหร่านอย่างลับๆ เพื่อแลกกับอิสรภาพของตัวประกันชาวอเมริกัน และยังนำเงินไปช่วยเหลือพวกบฏคอนทราในนิการากัว
       
       ซึดดอยตช์ระบุอีกว่า แฟ้มลับ ปานามาได้เปิดโปงรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งในอดีตและปัจจุบันของหน่วย ข่าวกรองอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย โคลอมเบีย และรวันดา ที่เคยเป็นลูกค้าของมอสแซก ฟอนเซกา หนึ่งในนั้นคือ ชัยค์ กามาล อัดธัม อดีต ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองซาอุฯ ซึ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อปี 1999 แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงทศวรรษ 1970 ชัยค์ อัดธัม ผู้นี้เคยรับหน้าที่เป็น “คนกลาง” ให้แก่ซีไอเอในภูมิภาคตะวันออกกลาง
       
       ซึดดอยต์ช ไซตุง ได้รับเอกสารชุดนี้มาจากแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อ และได้แบ่งปันให้แก่สื่อมวลชนกว่า 100 สำนักทั่วโลกผ่านทางสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists - ICIJ)
       
       แฟ้มลับปานามาได้เปิดโปงพฤติกรรมของนักการเมืองระดับสูง และบุคคลดังทั่วโลกที่นิยมซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในบริษัทออฟชอร์ และเพียง 1 สัปดาห์หลังจากที่ข้อมูลบางส่วนถูกเผยแพร่ ก็ทำให้นายกรัฐมนตรี ซิกมุนดูร์ เดวิด กุนน์ลอจสัน แห่งไอซ์แลนด์ต้องลาออกจากตำแหน่ง และยังสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อผู้นำประเทศอีกหลายคนที่ถูกพาดพิงถึง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปานามา เปเปอร์ส พลังสื่อเขย่าโลก จุดเปลี่ยนวงการกีฬา

view