สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุดยอดข้าราชการไทย ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติด้วยชีวิต! ท่องคาถากลางห่ากระสุนฝรั่งเศส เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

สุดยอดข้าราชการไทย ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติด้วยชีวิต! ท่องคาถากลางห่ากระสุนฝรั่งเศส เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร!!
อนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวาง ในค่ายพระยอดเมืองขวาง นครพนม


      ในยุคที่ไทยถูกนักล่าอาณานิคมคุกคามอย่างหนัก มีเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความระทึกใจให้คนทั้งเมืองและดังไป ถึงยุโรป ทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการต่าง ต่อสู้ในเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด ยอมให้นักล่าอาณานิคมบีบจะเอาอะไรเป็นข้อแลกเปลี่ยนก็ได้ แต่ไม่ยอมอย่างเดียวที่จะให้ข้าราชการไทยใจเด็ดคนหนึ่งต้องติดคุก ถึงกับเอาตัวไปซ่อนหลังจากศาลมีคำพิพากษา
       
       เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ร.ศ.๑๑๒ ที่ไทยต้องเผชิญภัยอย่างหนักเกือบเอาตัวไม่รอด หลังจากที่ฝรั่งเศสยึดญวนได้แล้วก็พยายามจะรุกคืบเข้าสู่ดินแดนไทย เมืองใดที่เคยเป็นของญวนมาตั้งแต่สมัยไหน ฝรั่งเศสก็อ้างว่าต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย แม้ไทยจะครอบครองมานานแค่ไหนก็ตาม
       
       ดีที่ตอนยึดเขมร ไม่อ้างว่าขอมเคยครอบครองสุวรรณภูมิมาก่อน
       
       ขณะนั้นดินแดนของไทยครอบคลุมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปจนจรดเขตแดนญวน โดยมีเมืองคำม่วน เมืองคำเกิดเป็นเมืองชายแดน ขึ้นกับเมืองท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครพนม) ฝรั่งเศสจึงใช้อำนาจบาตรใหญ่ส่งทหารเข้าขับไล่ข้าราชการไทย จะให้ออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด เพื่อขยายอาณานิคมของตนจนจรดแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ
       
       ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนได้มีคำสั่งลงวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ ส่งทหารกองหนึ่งที่มีมองสิเออร์ลูซ เป็นผู้บังคับบัญชา มองสิเออร์โซเลร์เป็นผู้ช่วย และยังมีมองสิเออร์กรอสกุรัง ผู้ว่าราชการเมืองวินห์ อาสามาด้วยในฐานะผู้ชำนาญพื้นที่ มีพลทหารเกณฑ์จากญวนและเขมร ๒๐๐ คน เคลื่อนเข้ายึดเมืองเชียงร่มและเมืองผาบังเป็นอันดับแรก คุมตัวข้าหลวงไว้ได้ เมื่อเมืองทั้ง ๒ ถูกฝรั่งเศสยึดไป พระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพชร) เจ้าเมืองคำม่วนและคำเกิด เห็นว่าเมืองในปกครองตกอยู่ในอันตราย จึงส่งหนังสือไปถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่เมืองลาวพวน ขอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็เตรียมเสบียงอาหารที่จะสู้ศึก
       
       กรมหมื่นประจักษ์ฯรับสั่งให้หลวงวิชิตสรสาตร เจ้าเมืองท่าอุเทน มีคำสั่งไปถึงพระยอดเมืองขวางว่า อย่าได้หวาดหวั่นถอยหนีเป็นอันขาด ให้ตั้งมั่นอยู่ตามหน้าที่
       
       พร้อมกันนั้นหลวงวิชิตฯก็ส่งทหาร ๑๔๔ คนไปช่วย แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้ว
       
       ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ทหารฝรั่งเศสได้เข้าล้อมเมืองคำม่วน ตามรายงานกล่าวว่า พระยอดเมืองขวางมีทหารอยู่เพียง “สองโหล” เท่านั้น จึงต้องยอมให้ฝรั่งเศสเข้าเมืองแต่โดยดี
       
       นายลูซอ้างว่าดินแดนแถบนี้เป็นของญวนจึงต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย พระยอดเมืองขวางก็เถียงว่าเป็นของไทยและปกครองมาหลายปีแล้ว ให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงกันก่อน เมื่อสั่งการมาอย่างไรจะยอมปฏิบัติตาม แต่นายลูซไม่ฟัง ใช้กำลังบังคับให้ข้าราชการไทยทั้งหมดออกจากเมือง
       
       เมื่อต้องจำนนต่อกองกำลังของฝรั่งเศส พระยอดเมืองขวางจึงทำหนังสืออายัดเมืองมอบให้แก่นายลูซ พร้อมกับโทรเลขรายงานข้อความมายังกรุงเทพฯ ว่า
       
       “ข้าพเจ้าพระยอดเมืองขวาง ปลัดข้าหลวงรักษาราชการเมืองคำเกิด คำม่วน ทำคำมอบอายัดเขตแดนแผ่นดินและผลประโยชน์ในเมืองคำม่วน ไว้กับกงถือฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง
       
       ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักรศิลปาคม โปรดเกล้าให้ข้าพเจ้าขึ้นมารักษาราชการเมืองคำเกิด คำม่วน ซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตกรุงสยามติดต่อกับเขตแดนเมืองญวนที่น้ำแข็งด้านตาป้อ ข้าพเจ้าได้รักษาราชการและท้าวเพี้ย ไพร่ภาษาต่างๆ ให้อยู่เย็นเป็นสุขเรียบร้อยโดยยุติธรรมมาช้านานหลายปี ครั้นถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๒ ท่านกับนายทหารฝรั่งเศสอีก ๔ คนคุมทหารประมาณสองร้อยเศษมาปล้นค่ายข้าพเจ้า แล้วเอาทหารล้อมจับผลักไสแทงด้วยอาวุธขับไล่คุมตัวข้าพเจ้ากับหลวงขุนหมื่น ทหารออกจากค่าย
       
       ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ จะอยู่รักษาผลประโยชน์ตามคำสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นเจ้า ของข้าพเจ้าต่อไป กงถือฝรั่งเศสหาให้อยู่ไม่ ฉุดลากข้าพเจ้ากับขุนหมื่นทหาร ข้าพเจ้าขอมอบอายัดเขตแดนแผ่นดิน ท้าวเพี้ย ไพร่แลผลประโยชน์ของฝ่ายกรุงสยามไว้กับกงถือฝรั่งเศส กว่าจะมีคำสั่งมาประการใด จึงจะจัดการต่อไป และให้กงถือฝรั่งเศสเอาหนังสือนี้ไปแสดงกับคอเวอรนเมนต์ฝรั่งเศสและสยาม ให้ชำระตัดสินคืนให้กับกรุงสยามตามธรรมเนียมแผนที่เขตแดนแผ่นดินซึ่งเป็น ของกรุงสยามตามอย่างธรรมเนียมไทย ฝ่ายกรุงสยามถือว่าเป็นของฝ่ายกรุงสยามได้รักษามาแต่เดิม
       พระยอดเมืองขวาง
       
       นายลูซได้สั่งให้นายกรอสกุรังนำทหารคุมพระยอดเมืองขวางไปส่งที่เมือง ท่าอุเทน อ้างว่าราษฎรเกลียดชังพระยอดเมืองขวางเกรงจะมีอันตรายระหว่างทาง แต่เดินทางมาได้ ๒ คืนถึงบ้านนาหลักหิน เขตติดต่อเมืองท่าอุเทน นายกรอสกุรังเกิดไม่สบายจึงแยกไปพักที่บ้านแก่งเกียด หรือที่ไทยเรียกว่าแก่งเจ๊ก พระยอดเมืองขวางและคณะจึงพักที่บ้านนาหลักหินนั้น แต่แล้วในวันรุ่งขึ้นนายกรอสกุรังก็ส่งทหารมาจับหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยของพระยอดเมืองขวาง อ้างว่าหลวงอนุรักษ์ไปปลุกปั่นราษฎรให้กระด้างกระเดื่องต่อฝรั่งเศส โดยฉุดกระชากลากตัวไปต่อหน้า พระยอดเมืองขวางพยายามเจรจาขอให้ปล่อย ทหารฝรั่งเศสก็จะจับพระยอดเมืองขวางอีกคน จึงต้องพากันถอยไปที่เวียงกระแสนซึ่งอยู่ห่างระยะเดินทาง ๔-๕ ชั่วโมง
       
       เมื่อถึงเวียงกระแสน พระยอดเมืองขวางก็ได้พบกับนายทุ้ย นายแปลก และขุนวัง ซึ่งหลวงวิชิตสารสาตร ข้าหลวงเมืองท่าอุเทนให้คุมทหารหน่วยแรก ๕๐ คนมาช่วย ทั้ง ๔ จึงปรึกษากันที่จะไปช่วยหลวงอนุรักษ์ก่อนอื่น
       
       ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๓๖ พระยอดเมืองขวางพร้อมด้วยนายทุ้ย นายแปลก และขุนวังได้นำทหาร ๑๙ คน แต่มีอาวุธเพียง ๖ คน ไปพบนายกรอสกุรังที่บ้านพัก และให้ขุนวังเป็นผู้เข้าไปเจรจา ส่วนที่เหลือยืนอยู่ห่างราว ๗ วา นายกรอสกุรังปฏิเสธที่จะปล่อยหลวงอนุรักษ์ และจับข้อมือดึงจากระเบียงจะกลับเข้าไปในห้อง พระยอดเมืองขวางได้ตะโกนให้หลวงอนุรักษ์หนี หลวงอนุรักษ์จึงสะบัดมือจากนายกรอสกุรังแล้วกระโดดลงเรือนวิ่งเข้าหากลุ่มคน ไทย จากนั้นก็มีเสียงปืนดังขึ้น ๑นัด ถูกทหารที่ยืนอยู่หน้าพระยอดเมืองขวางตาย และยังมีกระสุนที่ยิงมาจากบนบ้านอีก ๒-๓ นัด ถูกฝ่ายไทยตายอีกรวมทั้งขุนวังคนเจรจา พระยอดเมืองขวางจึงสั่งยิงตอบทันที
       
       ทั้งสองฝ่ายสาดกระสุนเข้าใส่กัน แม้ฝ่ายฝรั่งเศสจะมีกำลังคนและอาวุธที่เหนือกว่า ฝ่ายไทยก็ไม่ถอย พระยอดเมืองขวางนอกจากจะเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่กับทหารแล้ว ยังร่ายกลอนกลางเสียงปืนปลุกขวัญให้ทหารฮึกเหิมด้วยว่า
       
       “เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร”
       
       ซึ่งประโยคนี้เลยเป็นคาถาที่ทหารและข้าราชการไทยใช้ปลุกใจกันต่อมา
       
       ผลของการต่อสู้ นายกรอสกุรังและทหารญวนอีก ๑๒ คนตายในที่รบ ส่วนฝ่ายไทยตาย ๖ คน เกิดเพลิงไหม้บ้านพักนายโกรสกุรังจนหมดทั้งหลัง ทหารไทยเก็บปืนฝรั่งเศสมาได้ ๑๐ กระบอก และจับเป็นทหารญวนได้อีกหลายคน รวมทั้งนายบุนจัน ล่ามเขมร และนายงูเย็นวันคัน ทหารญวนที่บาดเจ็บ
       
       การรบย่อยๆนี้ ทำให้ฝรั่งเศสโกรธแค้นอย่างหนักที่เสียหน้า เป็นครั้งแรกที่แพ้ต่อคนเอเชียซึ่งตนดูถูกมาตลอดว่าด้อยพัฒนา ไม่มีทางต่อสู้กับฝรั่งเศส มองสิเออร์ปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม ตัวการสำคัญในการล่าอาณานิคม จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ ยื่นประท้วงให้ลงโทษพระยอดเมืองขวางอย่างหนักที่ฆ่านายทหารฝรั่งเศส และจ่ายค่าทำขวัญแก่ครอบครัวทหารญวนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ
       
       ฝ่ายทางการไทยเห็นว่าพระยอดเมืองขวางทำไปถูกต้องชอบธรรมที่ข้าราชการ ผู้รักชาติรักแผ่นดินต้องปฏิบัติ ควรจะได้ความดีความชอบด้วยซ้ำ ไม่ใช่ถูกลงโทษ จึงจะยอมให้พระยอดเมืองขวางถูกลงโทษไม่ได้ เพราะจะทำให้ข้าราชการไทยเสียขวัญหมดกำลังใจ ต่อไปจะไม่มีใครกล้าหือกับฝรั่งเศสอีก ต้องยอมให้หมาป่าข่มขู่อยู่ข้างเดียว
       
       แต่ยามนั้นฝรั่งเศสถือแต้มเหนือกว่าด้วยอาวุธและกองเรือรบ บีบบังคับจะลงโทษพระยอดเมืองขวางให้ได้ ฝ่ายไทยจำต้องโอนอ่อน แต่ก็ไม่ใช่ยอมอย่างราบคาบ
       
       ฝ่ายไทยเห็นว่าการลงโทษพระยอดเมืองขวางต้องเป็นไปตามกระบวนการศาล แต่ถ้าศาลไทยตัดสินว่าพระยอดเมืองขวางไม่มีความผิด ฝรั่งเศสก็คงไม่ยอมรับคำพิพากษาแน่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ทรงดำริที่จะเชิญนักกฎหมายชาวยุโรปและอเมริกามาเป็นผู้พิพากษา แต่ ม.ปาวีกลับไม่เห็นด้วย อ้างว่าตามอนุสัญญาข้อตกลงที่ทำกันไว้ต้องใช้ศาลไทย ฝ่ายไทยขอให้ใช้ศาลกงสุลในไทย ซึ่งผู้พิพากษาล้วนแต่เป็นกงสุลต่างประเทศ ฝรั่งเศสก็ไม่ยอมอีก เพราะถ้าศาลตัดสินออกมาไม่ตรงกับความต้องการ ก็ลำบากใจที่จะคัดค้าน ไม่เหมือนศาลไทยที่ข่มขู่เอาได้
       
       ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชโองการ โปรดเกล้าฯให้ตรา “พระราชบัญญัติตั้งศาลรับสั่งเป็นการพิเศษครั้งหนึ่ง สำหรับชำระคนในบังคับสยามที่ต้องหาว่ากระทำความผิดกฎหมายที่ทุ่งเชียงคำ แลแก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน” ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๗ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นประธานผู้พิพากษา มีหลวงสุนทรโกษากับนายหัสบำเรอ หุ้มแพร เป็นทนายแผ่นดิน
       
       ข้อกล่าวหาที่ทนายแผ่นดินยื่นฟ้องพระยอดเมืองขวาง โดยมีนักกฎหมายของฝรั่งเศสมากำกับคดี ให้คำแนะนำกับทนายแผ่นดิน ก็คือ
       
       ๑. ได้จงใจและตั้งใจที่จะฆ่าไว้ก่อน ได้ฆ่าเองหรือสั่งให้คนอื่นฆ่านายทหารฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ชื่อมองสิเออร์กรอสกุรัง ตาย
       
       ๒. ได้จงใจและตั้งใจที่จะฆ่าไว้ก่อน ได้ฆ่าเองหรือสั่งให้คนอื่นฆ่าพลทหารญวนที่กำหนดรู้แน่ไม่ได้อยู่ในระหว่าง ๑๖ ถึง ๒๔ คน ซึ่งเป็นทหารแต่ส่วนหนึ่งในกองทัพที่มองสิเออร์กรอสกุรังได้บังคับ
       
       ๓. ได้จงใจทำเองหรือสั่งให้คนอื่นทำอันตรายมีบาดเจ็บสาหัสแก่บุนจัน ล่ามเขมร กับงูเยนวันคัน ทหารญวน
       
       ๔. ได้ปล้นหรือสั่งให้คนอื่นเอาเครื่องศาสตราวุธและกระสุนดินดำ กับทั้งสิ่งของเครื่องใช้สำหรับตัวมองสิเออร์กรอสกุรังแลล่ามเขมรบุนจัน กับเงิน ๘๒ เหรียญซึ่งบรรจุอยู่ในหีบของล่ามนี้ด้วย
       
       ๕. ได้จงใจแกล้งทิ้งไฟหรือสั่งให้เอาไฟเผาเรือนโรงซึ่งมองสิเออร์กรอสกุรังและพลทหารของเขาอยู่นั้นไหม้เสีย
       
       การกระทำของจำเลยดังกล่าว อาจก่อให้เกิดสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นได้
       
       ในตอนท้ายของคำฟ้อง ยังขอให้ศาลพิจารณาโทษของพระยอดเมืองขวางในลักษณะโทษ ๘ สถานของไทยในอาญาหลวง เช่น ให้ฆ่าเสีย ให้ตัดมือตัดตีนแล้วประจาน ให้ทวนด้วยลวดหนัง ไม้หวาย ๕๐ ทีแล้วจำไว้ เอาตัวลงหญ้าช้าง เป็นต้น และสำหรับโทษที่ทิ้งไฟก็มีระบุให้ลงโทษถึงตายได้
       
       พระยอดเมืองขวางมีอายุประมาณ ๔๐ ปี เกิดที่นครสวรรค์แล้วมาตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าเมืองคำม่วน คำเกิด มา ๘ ปีแล้วก่อนเกิดเหตุ
       
       ศาลได้เริ่มพิจารณาคดีในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๗ และอ่านคำพิพากษาในวันที่ ๑๗ มีนาคมต่อมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้จำเลยพ้นผิด ปล่อยตัวเป็นอิสระ
       
       ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างยิ่งกับคำพิพากษาของศาล รู้สึกเหมือนถูกหยามหน้าอีกครั้งที่เอาคนทำฝรั่งเศสเสื่อมเสียเกียรติมาลง โทษไม่ได้ จึงหารือมาทางกระทรวงต่างประเทศว่าศาลไทยไม่ยุติธรรม ขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ โดยใช้ “ศาลผสม”
       
       ศาลผสมที่ฝรั่งเศสเรียกร้องมานี้ ให้มีผู้พิพากษาฝ่ายละ ๒ คน โดยมีอธิบดีศาลอุทธรณ์เมืองฮานอยของฝรั่งเศสเป็นประธาน จึงเท่ากับ ๓ ต่อ ๒
       
       แบบนี้ผู้พิพากษาฝ่ายไทยก็ต้องแพ้วันยังค่ำ พระยอดเมืองขวางถ้าไม่ถึงตายก็ต้องติดคุกหัวโตแน่
       
       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า
       
       “...แลไม่เห็นเลยว่าจะจบลงเพียงใดกว่าจะตัดหัวพระยอด...”
       
       พระยอดเมืองขวางจึงต้องตกเป็นจำเลยของศาลผสมอีกครั้งในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๓๗ ด้วยข้อหาแบบเดิม แต่มีหลักฐานใหม่ที่นำยื่นต่อศาลในครั้งนี้ คือหนังสือที่พระยอดเมืองขวางมีไปถึงข้าหลวงเมืองท่าอุเทน ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๓๖ ขอให้ยกกำลังทหารมาช่วยต่อสู้ฝรั่งเศส ซึ่งหลักฐานนี้ยืนยันว่าพระยอดเมืองขวางตั้งใจจะรบกับฝรั่งเศสอยู่แล้ว
       
       ในที่สุดศาลผสมก็นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๓๗ ซึ่งฝ่ายไทยเดาออกแล้วว่าคำตัดสินจะออกมาในรูปไหน จึงไม่ให้พระยอดเมืองขวางไปฟังคำพิพากษา เพราะเกรงว่าฝรั่งเศสจะเอาตัวไปคุมขังในดินแดนของฝรั่งเศส ศาลเลยเลื่อนวันอ่านคำพิพากษาออกไป เพราะเดาได้เหมือนกันว่า ถ้าพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด พระยอดเมืองขวางก็จะหลบหนีไปโดยฝ่ายไทยรู้เห็นเป็นใจ ต่างฝ่ายต่างรู้เชิงกัน
       
       หลังจากที่มีการเจรจาต่อรอง ฝรั่งเศสสัญญาว่าถ้าศาลพิพากษาว่าพระยอดเมืองขวางมีความผิด ก็จะให้ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายควบคุมตัวนักโทษไว้ก่อน จนกว่ารัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลไทยจะตกลงกันว่าให้ควบคุมนักโทษไว้ที่ใด ฝ่ายไทยจึงยอมให้พระยอดเมืองขวางไปฟังคำพิพากษาของศาล
       
       ศาลผสมได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ ๑๓ มิถุนายนต่อมา ให้จำคุกพระยอดเมืองขวางไว้เป็นเวลา ๒๐ ปี
       
       คำตัดสินนี้ทำความขุ่นเคืองโกรธแค้นแก่ฝ่ายไทยมาก พระพุทธเจ้าหลวงถึงกับรับสั่งว่า
       
       “...การที่มันทำก็เป็นเรื่องที่น่าแค้นเคืองเจ็บช้ำมาก...”
       
       รุ่งขึ้นในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ฝรั่งเศสก็ขอให้ไทยส่งตัวพระยอดเมืองขวางไปขังไว้ในเรือรบฝรั่งเศส เพื่อที่จะส่งตัวออกไปขังในดินแดนของฝรั่งเศสแห่งหนึ่งแห่งใดต่อไป
       
       การยอมรับให้ฝ่ายไทยควบคุมตัวไว้ก่อนจนกว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลง กัน ก็เป็นแค่การหลอกลวงเท่านั้น ให้มีหลักฐานว่าฝ่ายไทยเป็นผู้ควบคุมตัวพระยอดเมืองขวางไว้ ไม่ใช่หาตัวไม่ได้ว่าหลบอยู่ที่ใด
       
       คำขอของฝรั่งเศสนี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายไทยยอมไม่ได้อย่างแน่นอน กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการทรงมีหนังสือไปถึงอุปทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ว่า คำตัดสินลงโทษพระยอดเมืองขวางแม้จะรุนแรงเพียงใด ฝ่ายไทยก็ยอมรับโทษนั้นโดยไม่เถียงเลย แต่การจะเอาตัวไปจองจำในต่างแดนถึง ๒๐ ปีนับเป็นเรื่องที่ทารุณเกินไป นักโทษคงจะต้องตรอมใจตายก่อนแน่ ทั้งยังเป็นการเพิ่มโทษเนรเทศนอกเหนือจากคำพิพากษาของศาลอีกด้วย
       
       ถึงแม้กรมหลวงเทวะวงษ์ฯ จะทรงอัดอั้นขมขื่นพระทัยเพียงใด ก็ไม่ทรงท้อที่จะเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อช่วยพระยอดเมืองวางต่อไป ทรงใช้วิธีทางการทูตผ่านพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส
       
       ในระนั้นเรื่องราวของพระยอดเมืองขวางก็เป็นข่าวที่เกรียวกราวพอควรใน ยุโรป หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงความเห็นว่าดินแดนเหล่านั้นเป็นของไทย ฝรั่งเศสเป็นผู้รุกราน ทำให้ฝรั่งเศสต้องเสื่อมเสียมาก จึงไม่อยากให้เรื่องนี้อื้อฉาวต่อไป ในที่สุดรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสก็ตอบรับว่ายินดีจะเลิกการร้องขอให้ไทย ส่งตัวพระยอดเมืองขวางให้กับฝรั่งเศส โดยมีข้อแม้ ๒ ข้อ คือ
       
       ๑. ไทยจะต้องกำกับและควบคุมนักโทษ คือพระยอดเมืองขวาง ให้เหมือนนักโทษธรรมดาทั่วไป
       
       ๒. เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นไมตรีของไทย ฝ่ายไทยจะต้องให้สิ่งหนึ่งแก่ฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสจะปรึกษาเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสในภายหลัง
       
       ไม่ยอมให้เปล่าๆ ขออีกจนได้ ทั้งๆ ที่ยังนึกไม่ออกว่าจะขออะไรดี
       
       ฝ่ายไทยเห็นฝรั่งเศสมักได้เช่นนี้ก็ไม่ลดละที่จะเจรจาต่อรองต่อไป พยายามจะปล่อยตัวข้าราชการผู้รักชาติรักแผ่นดินพ้นผิดให้ได้ ในที่สุดรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของฝรั่งเศสก็ยินยอมให้ปล่อยตัวพระยอด เมืองขวางก่อนกำหนด โดยขอสิ่งแลกเปลี่ยน คือ
       
       ๑. รัฐบาลไทยรับว่าจะมีการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสในเรื่องการจดทะเบียนคนใน บังคับฝรั่งเศส เรื่องเขตแดนหลวงพระบาง และเรื่องเขตปลอดทหาร ๒๕ กม.จากฝั่งขวาแม่น้ำโขง
       
       ๒. ขอให้ปล่อยตัวพระยอดเมืองขวางอย่างเงียบๆ อย่าให้มีการลงข่าวแสดงความยินดีอย่างเอิกเกริกในหนังสือพิมพ์
       
       ๓. ขอให้ปล่อยคนในบังคับฝรั่งเศสที่ต้องคดีต่างๆ
       
       ฝ่ายไทยโล่งอกที่ข้าราชการไทยที่หาญสู้ฝรั่งเศสจะได้พ้นโทษ จึงยอมรับเงื่อนไขของฝรั่งเศสทุกข้อ
       
       พระยอดเมืองขวางได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๔๑ อย่างเงียบๆ รวมเวลาที่ถูกจำคุกอยู่ ๔ ปี ๔ เดือน ๒๔ วัน
       
       พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระบรมราชโองการด้วยความปีติโสมนัส ให้พระคลังสมบัติจ่ายเบี้ยบำนาญให้พระยอดเมืองขวางเดือนละ ๕๐๐ บาทโดยไม่ต้องรับราชการ ซึ่งก็นับเป็นจำนวนมหาศาลในยุคนั้น เพราะอัตราเงินเดือนข้าหลวงเมืองเล็กๆ อย่างคำม่วนที่พระยอดเมืองขวางเคยได้รับมา ก็ตกอยู่ราว ๑๕๐-๒๐๐ บาทเท่านั้น เป็นการตอบแทนแก่ข้าราชการที่ต้องทุกข์ทรมานจากการทำคุณงามความดีเพื่อแผ่น ดิน ทั้งยังไม่อาจกลับเข้ารับราชการได้อีกเพราะจะเป็นการหยามหน้าฝรั่งเศสเป็น ครั้งที่สาม
       
       พระยอดเมืองขวางพ้นชีวิตราชการไปเพียง ๓ ปีก็ล้มป่วย และเสียชีวิตใน พ.ศ.๒๔๔๓ ขณะมีอายุได้ ๔๘ ปี
       
       วีรกรรมของพระยอดเมืองขวางผู้เป็นต้นตระกูล “ยอดเพชร” ได้รับการยกย่องชื่นชมจากข้าราชการไทยมาก โดยเฉพาะข้าราชการและราษฎรในหัวเมืองแถบลำน้ำโขง พากันให้สมัญญานามว่า “ชายชาติช้างงา”

สุดยอดข้าราชการไทย ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติด้วยชีวิต! ท่องคาถากลางห่ากระสุนฝรั่งเศส เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร!!

รูปถ่ายพระยอดเมืองขวาง

สุดยอดข้าราชการไทย ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติด้วยชีวิต! ท่องคาถากลางห่ากระสุนฝรั่งเศส เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร!!

รูปเขียนพระยอดเมืองขวาง

สุดยอดข้าราชการไทย ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติด้วยชีวิต! ท่องคาถากลางห่ากระสุนฝรั่งเศส เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร!!

ศาลพระยอดเมืองขวางในค่ายทหารที่นครพนม

สุดยอดข้าราชการไทย ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติด้วยชีวิต! ท่องคาถากลางห่ากระสุนฝรั่งเศส เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร!!

นายกรอสกุรัง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สุดยอดข้าราชการไทย ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติ ด้วยชีวิต ท่องคาถา กลางห่ากระสุน ฝรั่งเศส เก้าปึง สิบปึง ชั่งมึงปะไร

view