สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สหรัตนฯ แจงกรณีถูกพิทักษ์ทรัพย์ เหตุ กนอ.จ่ายเงินทำเขื่อนไม่ครบอ้างสร้างผิดแบบ

สหรัตนฯ" แจงกรณีถูกพิทักษ์ทรัพย์ เหตุ กนอ.จ่ายเงินทำเขื่อนไม่ครบอ้างสร้างผิดแบบ

จากประชาชาติธุรกิจ

สหรัตนนครแจง กนอ.ทำเจ๊ง ไม่จ่ายค่าสร้างเขื่อนกั้นน้ำหลังน้ำท่วมใหญ่ปี′54 แถมแบงก์ออมสินไม่ปล่อยกู้ ซ้ำ กนอ.ยังยื่นฟ้องศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ต้องแบกภาระหนี้แต่ยังดีมีลูกค้าเข้านิคมต่อเนื่อง ขู่หาก กนอ.ไม่พิจารณาจ่ายเงินส่วนที่เหลือ จ่อยื่นหนังสือให้ "บิ๊กตู่" ช่วย

นางธีรนาฏ โชควัฒนา ผู้อำนวยการ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ในฐานะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่มีการประกาศพิทักษ์ทรัพย์บริษัทสหรัตนนครจากศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้ รวมถึงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำให้แล้วเสร็จตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงปี 2554 ที่ผ่านมานั้น ขอชี้แจงว่า ในช่วงปี 2554 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องการให้นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำ โดย กนอ.มีเงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนที่เหลือภาคเอกชนต้องใช้เงินทุนของตัวเอง บวกกับการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน อัตราค่าก่อสร้างเขื่อนอยู่ที่ 558 ล้านบาท ต้องได้รับเงินสนับสนุนจาก กนอ. ประมาณ 226 ล้านบาท แต่ กนอ.กลับจ่ายเพียง 100 ล้านบาท ในขณะที่ธนาคารออมสินก็ไม่อนุมัติเงินกู้ให้เช่นกัน เนื่องจากมีเงื่อนไขกำหนดว่า บริษัทสหรัตนนครจะต้องจ่ายเงินให้กับออมสินในฐานะเจ้าหนี้เป็นอันดับแรก แต่บริษัทสหรัตนนครไม่สามารถรับเงื่อนไขนี้ได้ เพราะติดเงื่อนไขต้องจ่ายเงินเป็นอันดับแรกให้กับ บสก.ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทสหรัตนนครได้ยื่นหนังสือถึง กนอ. เพื่อขอความเป็นธรรมใน 2 ประเด็น คือ 1) ขอให้ กนอ.จ่ายเงินให้บริษัทสหรัตนนคร ในงวดที่ 7 และ 8 และ 2) ขอให้บริษัทสหรัตนนครดำเนินกิจการต่อ โดย กนอ.มีหนังสือตอบกลับว่า เนื่องจากบริษัทสหรัตนนครไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่เสนอไว้ตามแบบเบื้องต้น (แบบเดียวกันกับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน) ที่เขื่อนจะต้องมีความสูประมาณ 8.5 เมตร แต่การก่อสร้างจริงกลับมีความสูงเพียง 7.5 เมตรเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อคำนวณค่าก่อสร้างตามราคากลาง ซึ่งเป็นเงื่อนไขการคำนวณงานก่อสร้างประเภทงานชลประทานของคลัง เท่ากับว่า กนอ.จ่ายเงินครบตามงานก่อสร้างที่เกิดขึ้นจริงแล้ว

"สภาพคล่องทางการเงินของสหรัตนนครยังดีอยู่ โรงงานส่วนใหญ่ยังเดินเครื่องผลิต บางโรงงานที่ย้ายออกก็มีการย้ายกลับเข้ามา อย่างเช่น บริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ยังตัดสินใจเพิ่มทุนเพื่อขยายโรงงาน การกระทำดังกล่าวของภาครัฐทำให้เอกชนอย่างเราต้องตั้งคำถามว่า ต้องการทำให้เราล้มเพื่อจะเข้ามาบริหารเองหรือไม่ ส่วนของการกำหนดรูปแบบของเขื่อนที่ต้องการความสูงที่ 8.5 เมตรนั้นเป็นเงื่อนไขที่มาแจ้งภายหลังจากที่สหรัตนนครได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไปแล้ว ในช่วงนั้นเราทำอะไรได้ เราก็ทำไปก่อนเพราะภาครัฐให้ความมั่นใจว่าจะมีเงินสนับสนุน แต่กลับไม่จ่ายเงินให้ครบตามจำนวน"

นางธีรนาฏกล่าวเพิ่มเติมว่า หาก กนอ.ยังคงยืนยันที่จะไม่จ่ายเงินสนับสนุนเพื่อก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำให้นั้น เร็ว ๆ นี้ตนจะยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นั้น พื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครถูกน้ำท่วมอย่างหนักจนผู้ประกอบการต้องหยุดเดินเครื่องผลิต ประกอบกับเป็นช่วงที่บริษัทสหรัตนนครประสบปัญหาทางการเงินจนต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้การสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทสหรัตนนครนั้น เท่ากับว่าบริษัทสหรัตนนครจะไม่สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในได้ทั้งหมด แต่ยังสามารถบริหารงานได้หากมีการจ่ายหนี้ตามปกติ ศาลล้มละลายกลางจะดำเนินการยกเลิกพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่หากสหรัตนนครไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้อีกจะเข้าสู่กระบวนการประนอมหนี้ และหากไม่มีการชำระหนี้อีก ศาลล้มละลายกลางก็จะประกาศให้บริษัทสหรัตนนครเป็นผู้ล้มละลายต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมในปี 2554 นิคมสหรัตนนครมีจำนวนโรงงานรวม 45 โรงงาน มีแรงงานรวม 15,000 คน ปัจจุบันมีจำนวนโรงงานรวม 26 โรงงาน (30 บริษัท) จำนวนแรงงาน 7,500 คน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าเก่าที่ได้ดำเนินการร่วมทุน คือ บริษัทเอคโค่ (ประเทศไทย) เพิ่มทุนเพิ่มเติม และบริษัทเอคโค่ แทนเนอรี่รวมถึงลูกค้าเก่าที่ย้ายกลับเข้ามาในพื้นที่ คือ 1) บริษัทไทยฮิดากะ และ 2) บริษัทไฮเทค รับเบอร์


ศาลล้มละลายพิทักษ์ทรัพย์สหรัตน กนอ.ยกเลิกสัญญาร่วมขอดูแลสาธารณูปโภคเอง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

กนอ.ยื่นขอบริหารนิคมสหรัตนฯต่อศาลล้มละลายกลาง หลังสหรัตนฯไร้ประสิทธิภาพบริหาร-ขาดสภาพคล่อง ด้านผู้บริหารสหรัตนฯยื่นคัดค้าน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เรียกทั้ง 2 ฝ่ายให้ข้อมูล สั่งไปหารือกันเองก่อน คาดตัดสินชี้ขาดใครบริหารนิคมสหรัตนฯ 27 เม.ย.

เมื่อเร็วๆ นี้ศาลล้มละลายกลางได้ประกาศพิทักษ์ทรัพย์บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ผู้บริหารนิคมสหรัตนนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ร้องต่อศาลว่าไม่ได้รับการชำระหนี้จากบริษัทสหรัตนฯในช่วงที่ผ่านมา โดยผู้บริหารนิคมสหรัตนนครให้เหตุผลว่า ได้รับผลกระทบจากนโยบายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ต้องการให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำช่วงปี 2554 ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ โดยเงินจะมาจาก 3 ส่วน คือ เงินลงทุนของผู้ประกอบการเอง เงินกู้ และเงินสนับสนุนแบบให้เปล่าจาก กนอ. แต่ กนอ.ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเขื่อนจากที่แจ้งแบบไว้หลังจากที่ก่อสร้างไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินส่วนที่เหลือประมาณ 100 ล้านบาท ทำให้บริษัทสหรัตนฯต้องขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถกู้เงินได้

นางสาวกฤตยาพร ทัพภะทัต รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายหลังจากที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทสหรัตนฯแล้ว ขั้นตอนส่วนของ กนอ.คือการดำเนินการยกเลิกสัญญาร่วมดำเนินการระหว่าง กนอ.และบริษัทสหรัตนฯต่อศาลล้มละลายกลาง หลังจากนั้น ต้องยื่นเรื่องขอเข้าไปบริหารจัดการส่วนของระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดภายในพื้นที่แทน ล่าสุดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยบริษัทสหรัตนฯได้ยื่นเอกสารคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้สั่งให้ทั้ง กนอ.และบริษัทสหรัตนฯหารือกันนอกรอบเพิ่มเติม และต้องกลับมาชี้แจงในวันที่ 27 เมษายนนี้ คาดว่าจะพิจารณาตัดสินในวันนั้นเช่นกัน ซึ่ง กนอ.เตรียมที่จะชี้แจงต่อผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนฯ ที่มีอยู่ประมาณ 20 รายต่อไป

ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทสหรัตนฯต้องการที่จะดำเนินการบริหารนิคมสหรัตนฯต่อ จะต้องสามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีการทิ้งลูกค้าในพื้นที่ และต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในช่วงที่ยังไม่มีการพิจารณาชี้ขาดกรณีนี้ ทาง กนอ.ได้ดำเนินการติดต่อไปยังเทศบาล การไฟฟ้าฯ และการประปาฯในพื้นที่เพื่อประสานงานเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระ

"ตามสัญญาร่วมดำเนินงานระบุชัดเจนว่า หาก บริษัทสหรัตนฯล้มละลาย จะต้องทำการยกเลิกสัญญาร่วมดำเนินงานแล้วโอนทรัพย์สินให้ กนอ.เป็นผู้ดูแล กนอ.ต้องดูแลผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมสหรัตนฯ ต้องดูแลความเดือดร้อนในด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในส่วนเรื่องเขื่อนจึงมาแก้ไขต่อจากนี้"

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครเกิดขึ้นจาก 1) ไม่ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำตามนโยบายของภาครัฐให้แล้วเสร็จ โดยรูปแบบเขื่อนของนิคมสหรัตนฯกำหนดความสูงไว้ที่ 7.5 เมตร แต่ผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่มีความมั่นใจว่าจะป้องกันน้ำได้ จึงขอให้มีการปรับความสูงมาอยู่ที่ 8 เมตร (โมเดลเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน) แต่บริษัทสหรัตนฯยืนยันที่จะสร้างด้วยความสูง 7.5 เมตร ทำให้ กนอ.ไม่สามารถดำเนินการจ่ายเงินส่วนที่เหลือประมาณ 100 ล้านบาทได้ 2) เมื่อ กนอ.ไม่ได้ดำเนินการจ่ายเงิน ทำให้บริษัทสหรัตนฯขาดสภาพคล่อง แม้ว่าจะยื่นขอกู้เงินจากธนาคารออมสิน แต่เนื่องจากบริษัทสหรัตนฯไม่มีหลักประกันใด ๆ และไม่สามารถขายที่ดินได้เพิ่มเติมเพราะถูกดำเนินการพิทักษ์ทรัพย์อยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้เจ้าหน้าที่ของ กนอ.ได้มีการลงพื้นที่สำรวจนิคมสหรัตนนครพบว่า เขื่อนคันดินกั้นน้ำไม่มีการดำเนินการเทคอนกรีตทับด้านบนเพื่อเสริมความแข็งแรง ดำเนินการเพียงนำดินมาถมเป็นแนวยาวเท่านั้น รวมถึงสภาพถนนในพื้นที่ที่เสียหายจากน้ำท่วมยังไม่ได้รับการแก้ไข

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ในเบื้องต้น กนอ.จะนำกำแพงกั้นน้ำเคลื่อนย้ายได้ (เขื่อนโมบาย) มาใช้ก่อนในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ โดยจะเข้าหารือกับทางผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น บริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อตกลงกันว่าจะสามารถนำมาทดแทนกันได้หรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ จากนั้นกนอ.จะเข้าไปดูแลเรื่องสาธารณูปโภคภายในนิคมทั้งหมด


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สหรัตนฯ แจงกรณี ถูกพิทักษ์ทรัพย์ กนอ.จ่ายเงินทำเขื่อน ไม่ครบ อ้างสร้างผิดแบบ

view