สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แพร่ภาพสดออนไลน์ เสี่ยงภัย หมิ่นประมาท ช่องทางผู้ก่อการร้าย.

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย - วิรวินท์ ศรีโหมด

วิวัฒนาการการสื่อสารแบบไร้สายได้พัฒนามาอย่างรวดเร็วในประเทศไทยเพียงไม่กี่ปีมานี้ โดยความพิเศษของเทคโนโลยีทำให้สามารถย่อโลกทั้งใบมาอยู่บนหน้าจอเล็กๆ เพียงที่เดียว ขณะที่คนไทยในปัจจุบันต้องยอมรับว่าให้ความสนใจกับการใช้สื่อประเภทนี้มากโดยเฉพาะ เฟสบุ๊ก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันแทบจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคน จนทำให้ประเทศไทย ติดอันดับ 3 ของอาเซียน รองจาก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่มีการใช้เฟสบุ๊กมากที่สุด (อ้างอิงจากเว็บไซด์ Zocialinc. ที่ทำการสำรวจและเปรียบเทียบอัตราการเติบโตประชากรเฟซบุ๊กทั่วโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ ทำให้ทุกคนเป็นได้ทั้งผู้เสพสื่อ และผู้นำสนอข่าวสารได้เอง แต่ความเป็นจริงข้อดีของโซเชียลมีเดียก็อาจนำมาซึ่งความไม่รอบคอบของข้อมูลข่าวที่ไม่ครบถ้วนและขาดการใช้ดุลพินิจในการวิเคราะห์ก่อนนำเสนอออกสู่สังคมภายนอก อย่างที่ทุกวันนี้สื่อโซเชียลมีเดียลมีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี อย่างที่เกิดเหตุการณ์ มครินทร์ พุ่มสะอาด หรือ เน วัดดาว บุคคลที่มีผู้ติดตามในเฟสบุ๊ก กว่า 1ล้านคน ได้ใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ถ่ายทอดสดใช้ปืนจ่อยิงขมับขวาของตนเอง ซึ่งสร้างความแตกตื่นแก่ผู้ที่ติดตาม แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องลวงโลก  ทว่า หลายคนมองว่าการสื่อสารที่รวดเร็วเช่นนี้อาจจะสร้างปัญหาให้สังคม มากกว่าการที่จะเป็นประโยชน์หรือไม่

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการถ่ายทอดสดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่า การแสดงพฤติกรรมถ่ายทอดสดเช่นนี้มีทั้งผลดีและผลเสียในตัวเอง ซึ่งผลดี  ก็ถือว่าเป็นการเล่าเรื่อง หรือรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผู้ถ่ายทอดสามารถเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ทันที รวดเร็ว อาทิ อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ

ขณะที่ ข้อเสียก็มีอยู่มากซึ่งอาจนำไปสู่การเสนอเหตุการณ์ที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม การหมิ่นประมาทผู้อื่น หรือการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ทั้งของตนเอง และผู้อื่น อย่างกรณี เนวัดดาว

นอกจากนี้ยังมองว่าในอนาคตการใช้สื่อประเภทนี้อาจขยายไปถึง กลุ่มผู้ก่อการร้าย ในการถ่ายทอดเหตุการณ์สังหาร หรือวางระเบิด ได้ ซึ่งตัวบริษัทเจ้าของผู้ผลิตก็มีเพียงมาตราการที่ให้สามารถรายงานหรือแจ้งความไม่เหมาะสมได้เท่านั้น ส่วนกฎหมายลงโทษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในไทย โดยตรงยังไม่มีแต่เบื้องต้นก็เข้าข่ายความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายทางอาญาอื่นที่เชื่อมโยง

“ปัญหาเรื่องนี้กลุ่มที่น่าห่วงคือ กลุ่มวัยรุ่น เยาวชน ซึ่งบางครั้งอาจลืมตระหนักในเรื่องการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ที่ใช้สื่อใหม่ประเภทนี้ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ทุกครั้งควรใช้อย่างมีวิจารณญาณ หรือต้องวางจุดประสงค์ที่จะสื่อสารออกไปในสื่อสังคมออนไลน์ มิฉะนั้น อาจจะเกิดผลดีมากว่าผลเสีย รวมถึงผู้ที่ใช้อยู่ในสังคมออนไลน์จะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ดูแล ตักเตือนกันด้วยซึ่งก็อาจจะทำให้การถ่ายทอดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสามารถลดลงได้บ้าง” มานะ กล่าว

ขณะที่ วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันนี้ยิ่งรวดเร็ว ยิ่งมี่ความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเป็นการแสดงถึงตัวตนของผู้ใช้งานได้ง่าย เนื่องจากก่อนหน้านี้การสื่อสารออกไปต้องมีการตรวจสอบ กลั่นกลองก่อน แต่สมัยนี้ ทุกคนเมื่อพูด คิดอะไร ก็มักจะสื่อสารออกไปทันทีโดยที่กลั่นกรอง เพราะตามทฤษฎีการสื่อสาร นั้นไม่ใช้จะมีผลกระทบต่อตนเอง แต่ยังไปถึงบุคคลรอบข้างด้วย ซึ่งหลายๆครั้งเมื่อมีการสื่อสารออกไปแล้ว ก็มีทั้งบุคคลที่พอใจ และไม่พอใจ จึงมองว่าปรากฏการใช้สื่อแบบปัจจุบันนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเมื่อเทคโนโลยีถูกลง การเข้าถึงง่ายขึ้น ปัญหาก็จะยิ่งขยายกว้างขึ้น

ขณะที่ปัญหาจากการสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดียปัจจุบัน กลุ่มผู้ใหญ่มักจะพบน้อยกว่ากลุ่มวันรุ่นและเยาวชน เนื่องจากผู้ใหญ่จะมีการโพสต์น้อยลง และระวังตัวมากขึ้น ขณะที่การโพสต์ของกลุ่มวัยรุ่น เยาวชน เมื่อรู้สึก นึกคิดอะไร จะสื่อสารออกไปโดยทันที ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหากับตนเอง สังคมและบางครั้งอาจจะกระทบถึงชีวิตของผู้ที่สื่อสารในอนาคต ถ้าหากมีบุคคลอื่นเก็บการกระทำนี้ไว้

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ นิด้า จึงมองว่า การจะสื่อสารอะไรผ่านโซเชียลมีเดียควร กลั่นกรองก่อนที่ จะสื่อสารออกไปเพราะ เมื่อสังคมรับรู้ก็อาจจะเกิดผลกระทบที่กว้างไกล และอาจทำให้ผู้สื่อสารเดือดร้อน อาจถึงผิดกฎหมาย นอกจากนี้มองว่า การแก้ปัญหานี้ควรปลูกฝังตั้งแต่เยาวชน โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานรัฐ กระทรวงศึกษาธิการ ฝ่ายกฎหมาย องค์กรต่างๆ  ควรมีมาตรการให้วัยรุ่น เยาวชน ตระหนักถึงผลกระทบของการใช้สื่อที่ไม่ถูกต้อง หรือควรบรรจุอยู่ในแผนการปฏิรูปการศึกษา และวิชาเรียน เรื่องการรู้เท่าทันสื่อดิจิตอลในวิชาเรียนด้วย เพราะจะปล่อยให้เยาวชนเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ได้ ควรให้ผู้ที่เชียวชาญมาช่วยสอนบอก มิฉะนั้นปัญหาเหล่านี้นอกจากจะลามไปในเรื่องต่างๆแล้ว ยังอาจไปถึงเรื่องของข้อกฎหมายด้วย
 
ส่วนบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสื่อโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ พรบ.คอมพิวเตอร์ ยังไม่ค่อยชัดเจน เนื่องจากปัญหาพวกนี้เปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วฉะนั้นข้อกฎหมายก็ต้องตามให้ทันด้วย

ด้าน ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า หากมองในมุมนักกฎหมายสำหรับการใช้โปรแกรมเฟซบุ๊กไลฟ์ หรือการถ่ายทอดสดผ่านออนไลน์จะช่วยทำให้การติดต่อสื่อสารรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ต้องกังวลคือเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือส่วนบุคคล เพราะในกรณีที่เล่นไลฟ์มันเป็นการถ่ายทอดสดชีวิตจริงหรือรายละเอียดต่างๆของตัวเอง ซึ่งถือเป็นส่วนบุคคล ดังนั้นสื่อชนิดนี้เป็นสื่อสาธารณะไม่ใช่สื่อส่วนตัว ฉะนั้นเวลามีการเผยแพร่หรือไลฟ์ (ถ่ายทอดสด) ผลก็คือความเป็นส่วนตัวและการถูกละเมิดข้อมูลก็จะมีเพิ่มมากขึ้น

ถัดมาเมื่อเราเล่นไลฟ์แล้วการตระเตรียมต่างๆในขณะเล่นอาจไม่พร้อม บางครั้งอาจมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะกระทำโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การคอมเม้นท์ หรือการถ่ายทอดสด หรือมีภาพลามกอนาจารโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ อย่างกรณีที่ผ่านมาก็มีดาราระบายผ่านทางโซเชียลมีเดียเช่นกัน หรือการฆ่าตัวตายผ่านการถ่ายทอดสด ซึ่งถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ดังนั้นคนที่ไลฟ์ หรือถ่ายทอดสดต้องระมัดระวัง ซึ่งมีความเสี่ยงของกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่างๆมีความผิดตามกฏหมายเช่นกัน 

"เพราะข้อมูลที่ผู้ใช้นำลงเฟซบุ๊กไว้ เมื่อเวลาผ่านไปจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเว็บไซต์กูเกิล ถึงแม้ว่าตัวเพจจะถูกลบไปแต่อาจจะอยู่ในระบบกูเกิ้ล อาจทำให้ชื่อเสียงต่างๆของผู้ใช้เสื่อมเสียได้  ต่อไปความเป็นส่วนตัวจะน้อย และความเสี่ยงทางกฎหมายจะมากขึ้น ในอนาคตก็จะมีกฎหมายต่างๆตามมา” อาจารย์ ไพบูลย์ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ อธิบายอีกว่า กระแสของการเล่นไลฟ์หรือถ่ายทอดสด ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของการแข่งขันในทางธุรกิจ เน้นความรวดเร็วเป็นหลัก เมื่อเฟซบุ๊กมีผู้ใช้เป็นพันล้านคน จึงมองในเรื่องการแย่งชิงให้ผู้เล่นหันมาเล่นมากขึ้น และเป็นการเพิ่มมูลค่าในเศรษฐกิจของเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งได้ประโยชน์จากจุดนี้มาก เพราะได้ความรวดเร็ว
 
ไพบูลย์ เน้นย้ำทิ้งท้ายว่า ส่วนคนที่เข้าไปคอมเม้นท์หรือกดไลท์ก็อาจมีความผิดได้ หากภาพถ่ายทอดสดขณะนั้นเป็นภาพลามกอนาจาร อาจมีความผิดเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปัญหาที่ผ่านมาคือการใช้โซเชียลเร็วเกินไปจนขาดความระมัดระวัง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แพร่ภาพสดออนไลน์ เสี่ยงภัย หมิ่นประมาท ช่องทางผู้ก่อการร้าย.

view