สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สภาวะโลกร้อน และการเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย ชวลิต จันทรรัตน์ TEAM GROUP

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมีผลต่อวิกฤตภัยแล้งและวิกฤตน้ำท่วมของ ประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศยอมรับการวิเคราะห์ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนต่อ ความเป็นอยู่ของมนุษยชาติที่ได้วิเคราะห์โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Intergovernmental Pan-el on Climate Change : IPCC) ซึ่งได้พยากรณ์ว่า

ในปี 2643 หรือในอีก 85 ปีข้างหน้า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดความแห้งแล้งและน้ำท่วมแปรปรวนสลับกันไปมามากยิ่งขึ้น อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส การละลายตัวของหิมะแถบขั้วโลกจะสูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทย นอกจากความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว ระดับน้ำทะเลปานกลางที่สูงขึ้นประมาณ 20-50 ซม. จะทำให้เราต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้งและน้ำทะเลรุกตัวเข้ามาในแผ่นดินมากยิ่งขึ้น และในปีที่ น้ำฝนมีปริมาณมาก เราจะต้องเผชิญกับ น้ำท่วม ที่มีน้ำทะเลหนุนสูงมากขึ้น



นอกจากนี้ ผลงานวิจัยของ ดร.สุพัฒนา วิชากุล ห้องวิจัยด้านอุทกวิทยาและทรัพยากรน้ำ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ในปี 2558 พบว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ในอนาคต ในระยะกลาง ประมาณปี พ.ศ. 2558-2583 ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำทั้งสี่ ในฤดูแล้งมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำลดลงมากถึงขั้นวิกฤต ส่วนในฤดูฝนทั้งระยะกลาง พ.ศ. 2558-2583 และอนาคตระยะไกล พ.ศ. 2618-2643 มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่ามีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงเช่นในปี 2554 บ่อยขึ้นเช่นกัน

ด้วยสภาวการณ์ที่รุนแรงดังกล่าว เราจะต้องปรับตัว ปรับชีวิตความเป็นอยู่ โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ แล้วเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน เช่น ไฟฟ้าพลังน้ำ พลังลม และพลังแสงอาทิตย์ ป้องกันการเกิดไฟป่า ลดปริมาณขยะเพื่อลดการเผาขยะ ลดการใช้น้ำเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในการสูบน้ำในการผลิตน้ำและสูบส่งน้ำประปา เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในปี 2643 รัฐบาลจะต้องเร่งก่อสร้างพนังกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำสายอื่น ๆ ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากการหนุนตัวสูงขึ้นอีก 50 เซนติเมตรของระดับน้ำทะเล และเพื่อรับมือกับน้ำเค็มที่จะรุกตัวเข้ามาในฤดูแล้ง หรือจะต้องปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อไล่น้ำเค็มในปริมาณที่มากกว่าวันละ 10 ล้าน ลบ.ม.

หลังจากประสบกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 จากพายุจรที่เข้ามาถึงและเข้ามาใกล้ไทยจำนวน 5 ลูก และ 3 ลูกท้ายฤดูฝน สร้างความสูญเสียจากภัยธรรมชาติเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งจัดลำดับโดย ธนาคารโลก แต่หลังจากนั้นประเทศไทยก็ประสบกับภาวะฝนน้อย น้ำน้อยกว่าปกติมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งถึงฤดูแล้งของปี 2559นี้ ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญ เป็นหลัก

พื้นที่ 22 จังหวัดภาคกลางของประเทศนั้นเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ซึ่งในฤดูแล้งจะใช้น้ำจาก 4 อ่างเก็บน้ำหลัก คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง รักษาระบบนิเวศวิทยา ไล่น้ำเค็มที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและปากแม่น้ำท่าจีน เพื่อการอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 อ่างดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณฝนที่มีน้อยกว่าปีปกติอย่างต่อเนื่อง

เมื่อสิ้นฤดูฝนในปลายเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูแล้งจะเริ่มมีการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนดังกล่าวพบว่า ในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 มีน้ำรวม 6,755 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุทั้งหมด ในขณะที่มีการปลูกข้าวนาปรังรวม 3.8 ล้านไร่ ทำให้ปริมาณน้ำลดลงเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนน้ำที่จะใช้เพื่อปลูกข้าวนาปี เกิดการแย่งชิงน้ำกันในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2558 และยังทำให้น้ำดิบมีไม่เพียงพอที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำประปา เพื่อจ่ายให้แก่ชุมชนในหลายพื้นที่

การขาดแคลนน้ำในต้นฤดูเพาะปลูกข้าวนาปี ใน 22 จังหวัดภาคกลาง ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2558 ทำให้เกิดความเสียหายทั้งสิ้น 60,171 ล้านบาท จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นอกจากนี้ สภาวะดังกล่าวยังทำให้น้ำทะเลรุกตัวเข้ามามากขึ้น โดยในวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 พบค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองสำแล ซึ่งเป็นจุดที่มีการสูบน้ำดิบเพื่อนำไปผลิตน้ำประปา มีค่าสูงถึง 0.50 กรัมต่อลิตร ส่วนในแม่น้ำท่าจีนที่ปากคลองจินดา มีค่าสูงถึง 0.44 กรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร

ภาวะฝนน้อยน้ำน้อยในฤดูฝนของปี 2558 ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อสิ้นฤดูฝน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2558 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 รวมเพียง 4,237 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุทั้งหมด จากปริมาณน้ำดังกล่าว รัฐบาลได้จัดสรรน้ำให้ภาคการเกษตร 400 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศ 1,400 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุตสาหกรรม 650 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าน้ำที่ได้จัดสรรไว้ให้ภาคการเกษตร 400 ล้าน ลบ.ม. นั้นหากใช้ในการปลูกข้าวนาปรัง ก็จะปลูกข้าวได้เพียง 400,000 ไร่ รัฐบาลจึงประกาศขอความร่วมมือให้งดการปลูกข้าวนาปรัง และขอให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือพืชอายุสั้นแทน โดยมีมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ รวม 8 มาตรการ แต่ก็ยังได้รับความร่วมมือไม่มากนัก เนื่องจากยังคงมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังรวม 1.8 ล้านไร่ และหากจะส่งน้ำให้เพียงพอจะต้องจัดสรรน้ำเพิ่มจากวันละ 2 ล้าน ลบ.ม. ไปเป็นวันละ 12 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในอ่างเก็บน้ำไม่เพียงพอใช้ไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2559

นอกจากนี้ หากมีการปล่อยน้ำต่ำกว่าความต้องการใช้น้ำ จะมีผลให้น้ำถูกสูบไปใช้ปลูกข้าวนาปรังมาก ทำให้ปริมาณน้ำที่เหลือมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็ม ทำให้พื้นที่เกษตรกรรม 2 ฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาและท่าจีนเสียหาย และจะทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ตอนล่างของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันลดการใช้น้ำลงร้อยละ 20 โดยเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังสามารถลดการใช้น้ำด้วยการให้น้ำข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งจะไม่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้หลัก 3R คือ ลดปริมาณการใช้น้ำ นำน้ำมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิต และบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ภาคประชาชนในชุมชนเมืองควรช่วยกันลดการใช้น้ำลงร้อยละ 20 เช่นกันเพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตภัยแล้งนี้ เพื่อให้คนไทยทุกภาคส่วนได้มีน้ำใช้ไปได้ถึงเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งคาดว่าฝนจะตกต้องตามฤดูกาล

สถานการณ์ภัยแล้งนี้ ไม่ได้เป็นวิกฤตที่ลำพังแค่ภาครัฐจะหาทางแก้ไขปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียว หากประชาชนทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการประหยัดลดการใช้น้ำอย่างจริงจัง และในระยะยาวทุกคนจะต้องร่วมมือกันลดสภาวะโลกร้อนลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สภาวะโลกร้อน การเกิดภัยธรรมชาติ รุนแรงขึ้น

view