สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิดหลายชั้น

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น5ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

สืบเนื่องจากข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21-วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2559 ที่พาดหัวข่าวว่า "ชิง 4 หมื่นล.แย่งนักศึกษาต่างชาติ ม.เอกชนแข่งเดือดลุยเจาะจีน-อาเซียน"

พร้อมกันนั้นก็ลงรายละเอียดเกี่ยวกับกลยุทธ์ของ 4 มหา"ลัยเอกชนดัง อาทิ มหา"ลัยรังสิต, มหา"ลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหา"ลัยกรุงเทพ, มหา"ลัยหอการค้าไทย ที่ต่างใช้กลยุทธ์ทุกวิถีทางที่จะดึงนักศึกษาต่างชาติ อาทิ จีน, กลุ่มประเทศ CLMV, กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย, ภูฏาน และเนปาล เพื่อให้มาเรียนยังวิทยาลัยนานาชาติของไทย

เนื่องจากมหา"ลัยแต่ละแห่งมีจุดแข็งของตัวเอง ทั้งในเรื่องของหลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการโรงแรม, หลักสูตรการบริหารธุรกิจ, หลักสูตร Triple Degree และการจัดทำ E-Learning ภาษาอังกฤษเพื่อขายในต่างประเทศ

รวมไปถึงการขยายแคมปัสในกลุ่มประเทศ CLMV และการลงทุนไปเปิดสำนักงานสาขาที่ประเทศต่าง ๆ เพื่อหวังเพียงต้องการให้นักศึกษาจากประเทศเหล่านั้นเข้ามาเรียนในประเทศไทย

หรือเรียนในประเทศเหล่านั้น

โดยมีรายละเอียดเสริมว่าแต่ละหลักสูตรของแต่ละมหา"ลัยสนนราคาค่าเล่าเรียนอยู่ที่ประมาณ 90,000-175,000 บาท/ปี นอกจากนั้น เนื้อหาข่าวบางส่วนยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่นักศึกษาต่างชาติสนใจเรียนเมืองไทย นอกจากจุดแข็งของหลักสูตร พวกเขายังมองถึงผลต่อเนื่องที่จะตามมาคือต้องการทำงานเมืองไทย


หรือทำงานในบริษัทของไทยที่ไปลงทุนประเทศของเขา


หรือทำธุรกิจการค้ากับประเทศไทย


เพื่อต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจอื่น ๆ ในตลาดโลกที่ประเทศไทยเข้าไปดำเนินธุรกิจ

ซึ่งเป็นกระบวนการคิดหลายชั้น

ที่ไม่หยุดอยู่แค่ความสำเร็จในระดับปริญญาตรี,โท และเอก หากพวกเขามองถึงผลระยะยาว เพราะประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่เชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ

ทั้งยังเป็นประเทศที่ยอมรับวัฒนธรรมอันหลากหลาย ผู้คนเป็นมิตร และพร้อมเปิดกว้างต้อนรับผู้คนจากหลายประเทศ จนทำให้พวกเขาคิดว่าหากมีโอกาสทำงานเมืองไทย คุณภาพชีวิตจะต้องดีขึ้น

ภาพที่ตัดกัน ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นอย่างหนึ่งว่า ขณะที่นักศึกษาต่างชาติสนใจเรียนเมืองไทย โดยเฉพาะกับการเรียนเกี่ยวกับหลักสูตรการท่องเที่ยว การโรงแรม, การบริหารธุรกิจ และอื่น ๆ

แสดงว่าพวกเขายอมรับในคุณภาพการเรียนการสอนของประเทศไทยด้วย

ทั้งยอมรับภาคธุรกิจที่มีผลประกอบการเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จนทำให้พวกเขาคิดว่าหากเรียนด้านนี้จบ โอกาสที่จะเรียนต่อทำงานในประเทศไทย หรือประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ก็จะทำให้เขาถูกการยอมรับไปด้วย

เพราะภาคธุรกิจท่องเที่ยว การโรงแรม และการบริการของประเทศไทยค่อนข้างโดดเด่น ถูกยอมรับในระดับสกาล ขณะเดียวกัน เรื่องการบริหารธุรกิจของประเทศไทยก็ไม่เป็นสองรองใคร เขาคงอยากได้องค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการ การตลาด บัญชี และไฟแนนซ์ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจในบ้านของเขา


เสมือนเป็นการเรียนลัดไปในตัว

แต่คำถามก็เกิดขึ้นว่าทำไมหลักสูตรต่าง ๆ เหล่านี้ นิสิต-นักศึกษาในประเทศไทยถึงไม่ค่อยสนใจ หรือเป็นเพราะเทรนด์การเรียนในมหา"ลัยยังยึดติดอยู่กับคณะเดิม ๆ

เรียนเพื่อให้ตัวเองสบาย

เรียนเพื่อให้ตัวเองร่ำรวย

แต่ไม่เรียนเพื่อต่อยอดไปดำเนินธุรกิจของตัวเอง

แต่สำหรับหลายประเทศในอาเซียนเขาเรียนเพื่อต่อยอดไปดำเนินธุรกิจ หรือเรียนเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย หรือบางประเทศในฝั่งตะวันตก เพราะเขามองเห็นว่าภาคธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรม และการบริการ คือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศ

เพราะฉะนั้น ถ้าฟังจากฝั่งของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว การโรงแรม รีสอร์ต และการบริการ จะพบว่าปัจจุบันประชากรจากฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เนปาล เข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก

เหตุผลหนึ่งเพราะคนไทยไม่ค่อยชอบงานบริการ ส่วนอีกเหตุผลอาจเป็นเพราะคนไทยขาดทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ

แต่ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เนปาล หรือ สปป.ลาว และกัมพูชา กลับพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่า บางทีอาจพูดภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้บุคลากรเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ยิ่งเมื่อพวกเขาเข้ามาเรียนในเมืองไทย


หรือเรียนในแคมปัสต่าง ๆ ที่มหา"ลัยเอกชนเข้าไปเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศของเขา ก็เชื่อแน่ว่าอีกไม่นาน ผู้บริหารรุ่นใหม่ชาวต่างชาติที่มีทักษะขั้นสูง ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรม และการบริหารธุรกิจการตลาด ประชาสัมพันธ์ และการเงินการธนาคาร ก็จะมีบุคลากรเหล่านี้เข้ามากุมบังเหียนในส่วนงานต่าง ๆ ของประเทศไทย

และประเทศของเขาด้วย

อีกไม่นานหรอกครับ ?


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิดหลายชั้น

view