สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทรนด์พลิกเศรษฐกิจโลก เมื่อภาคอุตสาหกรรมหมดไฟก่อนวัยอันควร (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย

santitarn.sathirathai@gmail.com

เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญเทรนด์ระยะยาวประการหนึ่ง ที่สร้างความท้าทายให้กับเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนากับภาคแรงงานอย่างมาก รวมถึงทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ และคนวางนโยบายรัฐบาลต่าง ๆควรเตรียมตัวรับมือ

"เทรนด์" นี้ คือการที่ภาคอุตสาหกรรมถดถอยก่อนวัยอันควร (Premature Deindustrialization) คือการที่สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ หดตัวลดลงก่อนที่ประเทศเหล่านี้จะพัฒนาไปเป็นประเทศรายได้สูง ผู้บุกเบิกและค้นพบเทรนด์นี้คนหนึ่งก็คือ ปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ด้านพัฒนา (Development Economics ) ศาสตราจารย์ Dani Rodrik ที่มหาวิทยาลัย Harvard

โดยอาจารย์ Rodrik เริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยภาคอุตสาหกรรมในประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยอาจารย์เป็นที่ปรึกษาตอนผมเรียนปริญญาเอกเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว จนมาค้นพบเรื่อง Premature Deindustrializa-tion เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ภาคอุตสาหกรรมเป็น "บันไดเลื่อน" ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ก่อนอื่น ผมขอเท้าความเรื่องความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาก่อน กว่าร้อยปีที่ผ่านมา สูตรสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจากรายได้น้อย ไปรายได้สูงที่คนมักจะคุ้นกันก็คือ การเพิ่มผลผลิตต่อหัว (Productivity) ด้วยการย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลผลิตสูงกว่า (อาจเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตร เช่น ผลิตแปรรูปอาหารก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมหนักเท่านั้น) เมื่อแต่ละคนผลิตได้มากขึ้น ก็ได้ "รายได้ต่อหัว" เพิ่มขึ้นกลายเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากขึ้นเสริมรายได้ให้แรงงานอีกต่อหนึ่ง

แม้ จุดนี้จะเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์จะรู้กันมานานแล้วแต่การศึกษาของ ศาสตราจารย์Rodrikมีการค้นพบใหม่ว่าภาคอุตสาหกรรมนั้นมี"ความสามารถพิเศษ" แตกต่างจาก Sector อื่น ๆ ในเศรษฐกิจมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์เคยรู้กัน

คือเมื่อแรงงาน ไม่ว่าในประเทศไหน อยู่ทวีปใด ประชากรเท่าไร การปกครองเป็นรูปแบบใด เข้ามาในภาคอุตสาหกรรมแล้ว แรงงานกลุ่มนั้นจะมีการเพิ่ม Productivity อย่างก้าวกระโดดกวดไล่ตามประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Unconditional Convergence



Rodrik เปรียบเทียบว่าเป็นเสมือน "บันไดเลื่อน" ที่พอได้ขึ้นแล้ว ก็จะขยับเลื่อนขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อสัดส่วนแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่ม คือเสมือนมีคนมาขึ้นบันไดเลื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ Productivity เฉลี่ยของประเทศก็สูงขึ้น ยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวในประเทศให้สูงขึ้น

ยกตัวอย่างสมมุติให้เห็นภาพ คือ ผลการศึกษานี้บอกว่าหากอินโดนีเซียสามารถดึงให้โรงงานผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นไปเปิดในประเทศได้ แรงงานที่ทำงานในโรงงานนี้จะมี Productivity เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่องว่างระหว่าง Productivity ของแรงงานในโรงงานแบบเดียวกันในญี่ปุ่นกับโรงงานในอินโดนีเซียจะลดลงเรื่อย ๆ ด้วยอัตราเฉลี่ย 3-5% ต่อปี และที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเศรษฐกิจลักษณะแบบใดก็ตาม แรงงานที่อยู่ในโรงงานของประเทศนั้นก็สามารถประสบการเพิ่มผลผลิตแบบนี้ได้

ใน ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่ใช้บันไดเลื่อนนี้นำพาเศรษฐกิจ จาก"รายได้ต่ำ"กลายเป็นประเทศ"รายได้สูง"เพียงแต่ละประเทศอาจมีคนละวิธีใน การ"กระโดดขึ้นเกาะ" บันไดเลื่อนนี้ ประเทศตะวันตกอย่างเช่น อังกฤษ อเมริกา พัฒนาอุตสาหกรรมโดยเน้นสร้างการแข่งขันในภาคเอกชน ในขณะที่ญี่ปุ่นและเสือ 4 ตัวของเอเชีย อย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ให้ภาครัฐมีบทบาทมากหน่อย เสริมผู้ชนะ-คัดผู้แพ้ออก และพัฒนาเร็วจนอาจจะเรียกได้ว่าตะวันตกยังอิจฉา

เศรษฐกิจจีนเองก็ก้าวกระโดด ด้วยวิธีผลักดันอุตสาหกรรมแบบของจีนเอง จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจวันนี้ แม้จะยังไม่ได้เป็นประเทศรายได้สูงก็ตาม แม้แต่ทางประเทศไทยเอง ก็เคยใช้บันไดเลื่อนนี้จนเกือบได้เป็นเสือตัวที่ 5 ก่อนจะพลาดเรื่องนโยบายภาคการเงินจนโดนต้มยำกุ้งไป

ปัญหาคือ "บันไดเลื่อน" นี้ "แคบ"

ในตัวอย่างสมมุติข้างบน โจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลอินโดนีเซีย จะกลายเป็นเอาโรงงานมาอยู่ในอินโดนีเซียให้ได้มาก ๆ เพื่อให้แรงงานเข้าไปทำงานในนี้จำนวนมาก และได้ประโยชน์จากการเพิ่ม Productivity และรายได้ ซึ่งอาจฟังดูง่าย แต่ปัญหาคือ การจะดึงโรงงานรถยนต์มาเปิดให้จ้างคนอินโดทำงานในจำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แรงงานทุกคนจะสามารถเข้ามาทำได้ แต่ต้องมีทักษะขั้นต่ำระดับหนึ่ง

บริษัทญี่ปุ่นเองก็อาจจะไม่อยากมาเปิดโรงงานจำนวนมาก หากโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารขนส่งและพลังงานไม่พร้อม เลยอาจมีแรงงานจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้ามาทำงานในโรงงานได้ ดังนั้น จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก เกิดความไม่เท่าเทียมกัน

กล่าวคือ ภาคอุตสาหกรรมอาจเป็น "บันไดเลื่อน" จริง แต่บันไดนี้ "แคบ" และเมื่อถึงจุดหนึ่งบันไดเลื่อนนี้ก็จะ "เต็ม" การจะดึงโรงงานรถยนต์ใหม่ ๆ มาเปิด อาจต้องมีทั้งแรงงานทักษะสูงขึ้น ที่เป็น Supervisorเป็นวิศวกร เป็น Marketing และต้องมีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุน เป็น Clusters ที่เราคุ้นเคยกัน ในขณะเดียวกัน เมื่อค่าแรงเริ่มแพงขึ้น บริษัทญี่ปุ่นนี้ก็อาจจะลดการใช้คนหันมาใช้เครื่องจักรหุ่นยนต์ในการผลิตมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ จึงทำให้การดึงแรงงานเข้าโรงงานในตัวอย่างนี้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งสัดส่วนของแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถเพิ่มขึ้นอีก และอาจเริ่มปรับตัวลดลง เกิดภาวะถดถอยทางอุตสาหกรรม de-industrialization โดยสิ่งที่ทุกคนหวังกันก็คือ กว่าจะถึงจุดที่ภาคอุตสาหกรรมอิ่มตัวนั้น ประเทศนั้น ๆ จะขึ้นบันไดเลื่อนไปจนอยู่ระดับประเทศรายได้สูงแล้ว

ความท้าทายในอนาคตคือบันไดเลื่อนนี้ดูจะ"เต็มเร็ว"กว่าแต่ก่อน

ปัญหาที่เห็นกันในยุคนี้ก็คือde-industrializationเกิดขึ้นเร็วเกินไปสัดส่วนแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมถึงจุดอิ่มตัว และเริ่มปรับตัวลดลงเร็วกว่าแต่ก่อน ตัวอย่างเช่น ผู้บุกการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมอย่างอังกฤษ มีสัดส่วนของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 45% ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนของสหรัฐอเมริกาตัวเลขนี้ขึ้นไปอิ่มตัวที่ประมาณ 27% แม้แต่ยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมอย่างประเทศเยอรมนี ก็ถึงจุดอิ่มตัวตั้งแต่ช่วงปี 1970 ที่ประมาณ 30% โดยกว่าบันไดเลื่อนของประเทศเหล่านี้จะเต็มนั้น รายได้ประชาชาติต่อหัว (ปรับค่าเงินเฟ้อ) มักขึ้นไปเกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

แต่ในยุคนี้ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลังปี 1990 มักจะเพิ่มส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้สูงสุดเพียงแค่ประมาณ 15% ของแรงงานทั้งหมด และพบว่าสัดส่วนนี้ปรับตัวน้อยลง ตั้งแต่ระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวยังไม่ถึงครึ่งของพวกประเทศในสมัยก่อน ตัวอย่างเช่น บราซิลเริ่มเห็นสัดส่วนนี้ลดลงตั้งแต่รายได้ต่อหัวประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ และอินเดียที่ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และแม้แต่จีนก็ถึงจุดอิ่มตัวตั้งแต่ที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากสัดส่วนของแรงงานแล้ว ที่สำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานี้คือ สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจโดยรวม เมื่อวัดด้วย GDP ก็มักจะหดตัวลงด้วย แปลคร่าว ๆ ได้ว่า พอใช้แรงงานลดลงผลผลิตก็ลดลงไปด้วย ไม่ได้มีการเพิ่ม Productivity ขึ้นมาแทน แตกต่างกับ de-industrialization ในอดีต ที่ประเทศพัฒนาแล้วในวันนี้เคยประสบที่สัดส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่สัดส่วนของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมใน GDP ไม่ได้ลดเท่าไร เพราะว่ามีการเพิ่มผลผลิตต่อหัว (เช่นใช้เครื่องจักรแทนการใช้คน)

กลายเป็นว่าบันไดเลื่อนนี้รับคนได้น้อยลงและ "หมดไฟ" ก่อนที่จะพาเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในยุคนี้ไปถึงระดับรายได้สูง ต่างจากยุคสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ de-industrializationเกิดเร็วขึ้นในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาวันนี้

เหตุผล สำคัญข้อหนึ่งมาจากกระแสโลกาภิวัตน์กับการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ส่วนใหญ่ถูก พัฒนาเพื่อลดการใช้แรงงานในประเทศที่แรงงานแพงจริงอยู่ที่แต่ไหนแต่ไรเมื่อ ค่าแรงแพงขึ้นบริษัทต่างๆก็หาทางใช้เครื่องจักรแทนคนอยู่แล้ว แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดดเร็วขึ้น ตัวเลือกแทนแรงงานก็มีมากขึ้น และราคาถูกลงเรื่อย ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชั่น และหุ่นยนต์ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการผลิต

อย่างเช่นการพิมพ์สามมิติ หรือ 3D printing ก็อาจลดความจำเป็นที่ต้องมีห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Production Supply Chain) ที่กระจายตัวตามประเทศต่าง ๆ เช่นเดิม ธุรกิจขายเสื้อผ้า อาจต้องดีไซน์ในประเทศหนึ่ง มีโรงงานทอผ้าและผลิตเสื้อผ้าในอีกประเทศที่ค่าจ้างถูก เช่น เวียดนาม แล้วค่อยส่งไปตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น อเมริกา แต่ในยุคที่ 3D printing พัฒนาไปไกลขึ้น ไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก กิจกรรมทั้งหมดนี้สามารถทำได้ในประเทศลูกค้าเอง เช่น ในอเมริกา เพื่อประหยัดค่าขนส่ง

การพัฒนาหุ่นยนต์ขั้นแอดวานซ์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ทาง Boston Consulting Group (BCG) ได้คาดการณ์ว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า งานของมนุษย์ประมาณ 25% จะถูกแทนที่โดยตัวเลือกเหล่านี้ ในเมืองจีนที่เป็นตลาดหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง โรงงานของบริษัท Shenzhen Evenwin Precision Technology ในเมืองตงก่วน ก็มีโครงการมุ่งที่จะใช้หุ่นยนต์ลดแรงงานคนที่ใช้อยู่ 90%

เมื่อเศรษฐกิจที่แรงงานแพง ใช้เครื่องจักรหุ่นยนต์ทดแทนได้มากขึ้น ในราคาถูกลงเรื่อย ๆ ประเทศที่มีและใช้แรงงานถูกจำนวนมากในการผลิต ก็ไม่ได้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหมือนสมัยก่อน เมื่อการส่งออกสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมก็ถึงจุดอิ่มตัว แต่โดยที่ Productivityไม่ได้เพิ่ม เพราะตัวเราเองยังไม่ได้เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีพวกนี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ คนถูกแย่งงานเร็วขึ้นตั้งแต่ยังไม่เป็นประเทศรายได้สูง และแรงงานไม่ได้ขาดแคลน

หากผลการศึกษานี้เป็นจริง อย่าว่าแต่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วในเอเชียอย่าง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เลยครับ ที่จะมีเทรนด์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง เมื่อผันไปสู่ภาคบริการและอุตสาหกรรมค่อย ๆ หมดไฟ เศรษฐกิจอย่าง จีน ไทย มาเลเซียเอง ก็จะเจอปัญหาแบบเดียวกันในยามยังไม่รวย และประเทศที่ "ตกรถ" การพัฒนาอุตสาหกรรมไปและกำลังพยายามไล่กวดตามอย่างอินเดีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เวียดนามที่ดูตอนนี้จะไปได้ดีก็จะเจอตอเร็วขึ้น

แต่อย่าเพิ่งหมดหวังครับ เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงนี้เองก็มีด้านสว่างอยู่มาก และมีวงวิชาการกับนโยบายบางกลุ่มที่มองว่าภาคบริการบางภาคอาจมีความสามารถที่จะกลายมาเป็น "บันไดเลื่อน" แทนอุตสาหกรรมได้ในอนาคต โอกาสตรงนี้จะมีมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ขอไว้ตอนหน้าครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เทรนด์พลิกเศรษฐกิจโลก เมื่อภาคอุตสาหกรรมหมดไฟก่อนวัยอันควร (1)

view