สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทรนด์พลิกเศรษฐกิจโลก(2)การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ภาคบริการมาแทนอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ?

จากประชาชาติธุรกิจ

สันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com

ในตอนที่แล้ว เราคุยกันถึงเรื่อง premature deindustrialization หรือ เทรนด์ที่ว่าภาคอุตสาหกรรมที่เคยเป็นเสมือน "บันไดเลื่อน" ช่วยให้เศรษฐกิจรายได้น้อย ก้าวไปสู่รายได้สูง เริ่มหมดไฟ ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ไปไม่ได้ไกลเท่าเดิม

ในตอนนี้ เราจะมาดูกันว่า "ภาคบริการ" หรือ service sector เป็น "บันไดเลื่อน" อันใหม่ ที่ช่วยประเทศกำลังพัฒนาได้แบบภาคอุตสาหกรรมในอดีตหรือไม่ ?

อะไรทำให้ภาคอุตสาหกรรมพิเศษกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น

ก่อนอื่นต้องมาดูกันว่า อะไรบ้างที่อาจทำให้ภาคอุตสาหกรรม (เคย) เป็น "บันไดเลื่อน" ให้กับเศรษฐกิจกำลังพัฒนาได้ดี

ในอดีต อุตสาหกรรม ได้เปรียบ ภาคบริการ อย่างมาก ในแง่ความสามารถในการค้าขายระหว่างประเทศ (คือ tradeable มากกว่า) สามารถส่งออก-นำเข้าสินค้าได้โดยง่าย ซึ่งจุดนี้สำคัญ เพราะทำให้ประเทศเล็ก ๆ รายได้น้อย สามารถผลิตสินค้าขายในตลาดที่ใหญ่กว่าเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง และมีลูกค้าที่อาจมีกำลังซื้อกับรสนิยมต่างกับผู้บริโภคในประเทศได้ เศรษฐกิจอย่างสิงคโปร์ในสมัยก่อนที่ไม่มีทั้ง ตลาดขนาดใหญ่ ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และ ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ยังก้าวกระโดดมาถึงทุกวันนี้ได้

แต่ความเป็น tradeable มีความสำคัญยิ่งกว่า แค่การได้เปิดตลาดใหม่ ๆ ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสฟังท่านรัฐมนตรีเศรษฐกิจและอดีตรัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์ Tharman Shanmugaratnam พูดเรื่อง อะไรคือ "secret sauce" หรือ สูตรลับของความสำเร็จของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่านตอบว่า ความสำเร็จของสิงคโปร์ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็น tradeable sector คือต้องพบกับความกดดันทางการแข่งขันอย่างดุเดือดตลอดเวลา ทั้งในและจากต่างประเทศ ทำให้เกิด "ความกลัว" ที่จะแพ้ ถดถอย และตามโลกไม่ทัน จึงบังคับให้คอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด คงเปรียบเสมือนทีมฟุตบอลที่ได้แข่งกับหลายประเทศทั่วโลกเรื่อย ๆ ก็จะมีการเหลาฝีมือพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

สุดท้ายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะที่ทำผ่านห่วงโซ่อุตสาหกรรม บางครั้งก่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ (knowledge/know-how transfer) (หรือบางกรณีอาจเป็นการขโมยความรู้ ?) ทำให้บางครั้ง ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ สามารถผันกลายมาเป็นผู้ผลิตเองในวันหนึ่ง โดยเราจะเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ในจีนบ่อย ๆ ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา แต่แน่นอนกระบวนการนี้ไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ โดยหลายประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยอาจไม่ได้เห็น knowledge transfer นี้เท่าที่ควร

เมื่อภาคบริการเริ่มมีคุณลักษณะคล้ายภาคอุตสาหกรรม

ข่าวดี คือด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมทำให้ภาคบริการหลายแบบ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศได้เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม และการที่ภาคบริการเป็น tradeable มากขึ้นนี้ ทำให้มีโอกาสได้ลูกค้าใหม่ ๆ พร้อมกับเจอความท้าทายเรื่องการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ทั่วโลก

ยกตัวอย่างในภาคการเงิน การ outsource หน้าที่ซัพพอร์ตต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น call center ไปประเทศอินเดียกับฟิลิปปินส์ ได้ช่วยให้เกิดธุรกิจ business process outsourcing (BPO) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และพัฒนา จนไปถึงงานยากขึ้นอย่างการวิเคราะห์ข้อมูล เขียนโปรแกรม และสร้างโมเดลทางการเงินการลงทุนบางประเภท เรียกว่าเป็น knowledge process outsourcing (KPO) โดยทุกวันนี้ ธุรกิจกลุ่มนี้สร้างรายได้ให้อินเดียกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และ 1.8 หมื่นล้านสำหรับฟิลิปปินส์ เป็นการส่งออกที่มีสัดส่วนใหญ่ไม่แพ้สินค้าอุตสาหกรรม และมีหลายครั้งที่ผมเห็นพนักงานจากทีมซัพพอร์ตในอินเดียเรียนรู้ได้เร็วมาก และพัฒนาความสามารถจนได้ขึ้นเป็นนักวิเคราะห์การเงินเต็มตัวในธนาคารชั้นนำได้ เรียกว่าได้เห็น knowledge transfer เกิดขึ้นกับตาตัวเองเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีการแพร่หลายของ fintech คือผลิตภัณฑ์ออนไลน์กับแอปพลิเคชั่น(application) ที่เพิ่มความเข้มข้นของการแข่งขันในภาคการเงิน เช่น ผลิตภัณฑ์ช่วยบริหารการลงทุน อย่าง Betterment หรือ Wealthfront ทำให้คนมีช่องทางเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญทางการเงินการลงทุนในราคาถูก โดยไม่ต้องเดินไปหาสาขาธนาคารที่ไหน

ในขณะเดียวกันทางด้านสินเชื่อ ธนาคารก็โดน platform online แบบ peer to peer หรือ P2P อย่าง Lending club หรือ Funding circle กดดัน ทำให้ธนาคารหลายแห่ง โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วถูกกดดันให้ต้องลงทุนในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีตัวเองตลอด หรือไม่ก็ซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้จาก start up ต่าง ๆ

มาเป็นของตัวเอง

แม้แต่ภาคบริการที่มีการค้าระหว่างประเทศมานานแล้ว อย่างการท่องเที่ยวก็มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดที่ทำให้ผู้คนที่ปกติไม่มีโอกาสอยู่ในตลาดการท่องเที่ยว กลายมาเป็นลูกค้าหรือแม้แต่ผู้ประกอบการได้

medical tourism กับ long term care ข้ามประเทศ กลายเป็นเรื่องปกติและเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทย เว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวและจองทริป ทำให้คนจีนจำนวนมากที่เคยต้องพึ่งแต่หนังสือกับทัวร์ไกด์และเอเยนซี่ มีช่องทางอื่นที่จะไปเที่ยวจัดทริปของตัวเองได้ แม้เราอาจจะรู้สึกว่าส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจีนยังเป็นทัวร์กรุ๊ปใหญ่อยู่ แท้จริงแล้ว เทรนด์ที่มาแรงของคนจีนรุ่นใหม่ คือ การวางแผนและจองทริปออนไลน์ และไปกันแบบส่วนตัวเป็นครอบครัวเล็ก ๆ

ในขณะเดียวกัน sharing economy ก็ทำให้คนที่แค่มีรถก็สามารถมาเป็นผู้ประกอบการด้านขนส่ง ทั้งคน (เช่น Uber) ทั้งของ ได้ คนที่มีบ้านหรือคอนโดฯที่ไม่ได้ใช้ทุกวัน ก็กลายมาเป็นเหมือนเจ้าของโรงแรมขนาดเล็ก โดยใช้ Air BnB สร้างความกดดันให้กับผู้ประกอบการดั้งเดิมอย่างแท็กซี่กับโรงแรมอย่างมาก

สุดท้าย เส้นขีดกั้นระหว่าง "ภาคอุตสาหกรรม" กับ "ภาคบริการ" ก็เริ่มคลุมเครือขึ้น งานหลายอย่างที่เคยอยู่ในภาคการผลิตอุตสาหกรรม อาจแยกออกมากลายเป็นภาคบริการ สำนักพิมพ์อาจส่งงานให้คนดีไซน์ปกจากที่อื่น งานเลือกรูปภาพ เช็กความถูกต้องอาจโยนให้คนที่หามาได้จากตลาดงานออนไลน์ อย่าง Amazon Mechanical Turk หรือ freelancer.com ภาคบริการจึงสามารถซื้อขายระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น มีการแข่งขันเข้มข้นขึ้น และมีการถ่ายทอดได้ง่ายขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักวิชาการหลายท่านที่คิดว่า ภาคบริการหลายภาคมีศักยภาพที่จะเป็น บันไดเลื่อน สู่การเป็นเศรษฐกิจพัฒนาได้ ไม่แพ้ภาคอุตสาหกรรมในอดีต

สิงโตแห่งแอฟริกา
ใช้ภาคบริการเป็นบันไดเลื่อน

การศึกษาของ Ejaz Ghani นักเศรษฐศาสตร์ที่ World Bank ได้ค้นพบว่า เศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มพัฒนาทางอุตสาหกรรมในช่วงหลังในทวีปแอฟริกา และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเรียกได้ว่าเป็น "สิงโต" แห่งแอฟริกา (เช่น เอธิโอเปีย โตเฉลี่ยกว่า 10% ในสิบปีที่ผ่านมา) ได้มีการเติบโต catch up กับเศรษฐกิจอื่น โดยผ่านทางภาคบริการไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม โดย Ejaz อธิบายว่า การแพร่หลายของสมาร์ทโฟนไปจนถึง big data และ internet of things มีส่วนช่วยอย่างมากในการขับเคลื่อน productivity ในภาคบริการ ในแนวที่กล่าวไปข้างต้น

แทนอุตสาหกรรมได้ แต่อาจเจอปัญหาแบบเดียวกัน

ความท้าทายก็คือ ภาคบริการที่ว่าเป็นบันไดเลื่อนใหม่สู่การพัฒนาประเทศนี้ อาจจะเจอปัญหา "บันไดแคบลง" แบบเดียวกับที่ภาคอุตสาหกรรมเจอ ภาคบริการที่ซื้อขายระหว่างประเทศได้ง่าย เช่น BPO กับ KPO นั้นสร้างงานได้ไม่มาก และมักจะใช้แต่คนที่มีระดับการศึกษาค่อนข้างสูง ทำให้มีคนงานจำนวนมากในอินเดียกับฟิลิปปินส์ที่เข้าไม่ถึง ปัจจุบัน BPO และ IT service จ้างงานแค่ 3 ล้านคนในอินเดีย ในขณะที่ประเทศนี้มีคนวัยทำงานเพิ่มขึ้นปีละกว่าสิบล้านคน นอกจากนี้ เทคโนโลยีหลายตัวที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ก็สามารถลดการจ้างงานในภาคบริการได้อีก ไม่ต่างจากในภาคอุตสาหกรรม ดีไม่ดีปัญหาอาจซับซ้อนยิ่งกว่า

โดยส่วนใหญ่ เราจะชอบคิดกันว่างานถูกแทนด้วยเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ได้ง่าย จะเป็นงานที่ใช้ทักษะไม่สูงนัก online กับ mobile banking กับ app อาจลดความจำเป็นของสาขาธนาคารและเจ้าหน้าที่ รถที่ไม่ต้องใช้คนขับ หากนำมาใช้อย่างแพร่หลายได้มากขึ้น วันหนึ่งอาจพลิกเปลี่ยนตลาดแท็กซี่และขนส่งไปอีกขั้น

แต่ในความเป็นจริง เทคโนโลยีวันนี้ไม่ได้ทำให้เราแบ่งกันง่าย ๆ ว่าเป็น งานทักษะสูง VS งานทักษะต่ำ อีกแล้ว งานที่ดูเหมือนจะทักษะกลางถึงสูงหลายอย่าง ก็ถูกหุ่นยนต์แทนที่ได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างในภาคการเงิน พวก app ช่วยบริหารการเงินหลายตัวที่กล่าวไปข้างต้น ก็ลดความจำเป็นของการมีที่ปรึกษาทางการเงินได้ แล้วก็มี program แบบ machine learning ที่ให้ช่วยวิเคราะห์หา pattern ได้อย่างรวดเร็ว สามารถตอบคำถาม เช่นว่าในประวัติศาสตร์ที่เฟดของอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ส่วนใหญ่เกิดอะไรขึ้นกับค่าเงินดอลลาร์ ? แถลงการณ์ผลประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นคราวนี้มีอะไรที่เขียนแตกต่างจากคราวที่แล้วบ้าง เรียกว่าทำเอานักเศรษฐศาสตร์ในภาคการเงินอย่างผม กลัวตกงานอยู่เหมือนกัน !

สรุปข่าวดี คือเรายังมีความหวังว่าในยามที่ภาคอุตสาหกรรมหมดไฟก่อนวัยอันควร ไม่สามารถพาเศรษฐกิจกำลังพัฒนาให้รวยได้ดังก่อน ภาคบริการหลายภาคอาจสามารถกลายมาเป็น "บันไดเลื่อน" เสริมได้ แต่ข่าวร้ายก็คือบันไดเลื่อนก็อาจจะมีข้อจำกัดแบบเดียวกันและโดนการปฏิวัติทางเทคโนโลยีเข้ามาเขย่าเช่นกัน

โจทย์ของเราจึงอาจไม่ใช่อุตสาหกรรมVSภาคบริการ แต่เป็น คน VS เทคโนโลยี ว่าใครจะสามารถขี่คลื่นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีได้ และใครจะถูกคลื่นซัดจนจมน้ำ

ประชุม World Economic Forum รอบนี้ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่อง "ผลกระทบจากการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ครั้งที่สี่ และหนทางการรับมือ" แต่งานใครเสี่ยงจะหายไปแล้วถูกแทนที่ งานใครจะได้ติดลมบน ได้อานิสงส์จากเทคโนโลยี และประเทศอย่างสิงคโปร์เขามีการเตรียมการรับมืออย่างไร ขอมาต่อคราวหน้าครับ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เทรนด์พลิกเศรษฐกิจโลก(2)การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ภาคบริการมาแทนอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ?

view