สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทรนด์พลิกเศรษฐกิจโลก (3) ยามแรงงานต้องแข่งกับหุ่นยนต์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ มายาการเงิน

โดย สันติธาร เสถียรไทย santitarn.satthirathai@gmail.com

เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อ นายลี เซดอล นักเล่นหมากล้อมแชมป์โลกชาวเกาหลี พ่ายแพ้เกมแรกในซีรีส์สำคัญที่คนจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ที่ทำแชมป์คนนี้พลาดท่าไม่ใช่ "คน" แต่เป็นหุ่นยนต์ชื่อ AlphaGo พัฒนาโดย Google แม้จะมีเรื่องของ คนแพ้หุ่นยนต์ ในการเล่นเกมอื่น ๆ มาก่อน แต่หมากล้อมนี้ แตกต่างจากเกมทั่วไป เพราะเป็นเกมที่ซับซ้อนจนผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่คิดว่าหุ่นยนต์จะสามารถแทรกเข้ามาเอาชนะคนได้ในเวลาเร็ววันเช่นนี้

ในตอนแรกของบทความเทรนด์พลิกเศรษฐกิจโลกเราดูกันไปแล้วว่าทำไมภาคอุตสาหกรรมถึงหมดไฟเร็วขึ้นไม่สามารถพา ประเทศกำลังพัฒนา ก้าวไปสู่การเป็น ประเทศรายได้สูง ดังแต่ก่อน ขณะเดียวกันก็เผชิญภาวะถดถอย หรือ de-Industrialization เสียแล้ว



ส่วนในตอนที่สองเราดูกันว่า ภาคบริการ สามารถมาแทน ภาคอุตสาหกรรม ในการเป็น "บันไดเลื่อน" สู่ความเจริญทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ สำหรับวันนี้เราจะมาดูกันเรื่อง โอกาสและความเสี่ยง ที่ทั้งสองภาคเศรษฐกิจต้องผจญเหมือนกัน ก็คือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ "แรงงาน" ถูกแทนด้วย "เครื่องจักร หุ่นยนต์"หรือ Software ได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน

อาชีพใดจะถูกแทนที่ก่อน ?

ผู้อ่านคงเห็นตัวเลขน่าขนลุกกันมาไม่น้อย จากการศึกษาต่าง ๆ ว่า ในอนาคต อาชีพที่เรารู้จักกันวันนี้อาจหายไปเป็นสิ่งที่รุ่นลูกหลานเราอาจไม่เคยได้รู้ได้ยินมาก่อน รายงานเรื่อง Future of Jobs ของ World Economic Forum ทำนายว่า การปฏิวัติทางเทคโนโลยีรอบนี้ จะมีผลอย่างรวดเร็วทำให้คน 5 ล้านคนอาจต้องออกจากงานภายใน 5 ปีข้างหน้า

Boston Consulting Group พยากรณ์ว่า หนึ่งในสี่ของงานจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ หรือ Smart Software ภายในสิบปีข้างหน้า และรายงานศึกษาโดยนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Michael Osborne and Carl Frey) สรุปว่า 35% ของงานในสหราชอาณาจักร มีความเสี่ยงจะถูกหุ่นยนต์แทนที่ภายใน 20 ปี

ในรายงานล่าสุดของ World Bank กล่าวว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของงานทั้งหมดมีความเสี่ยงที่คนจะถูกหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์แทนที่ โดยในประเทศไทย กว่า 70% ของงานทั้งหมดตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเลยทีเดียว

แต่ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจกว่าตัวเลขพวกนี้ก็คือ คำถามที่ว่า "อาชีพแบบไหนจะขึ้นหิ้งถูกหุ่นยนต์แทนที่ก่อน" และอาชีพใดจะอยู่ในห้างต่อ เพราะต้องการแรงงานมนุษย์ต่อไป และที่สำคัญคือต่อไปอาชีพเราจะยังอยู่หรือเปล่า ?

เราสามารถตรวจหาคำตอบข้อหลังนี้ได้ที่เว็บไซต์ของ BBC ที่มีการนำผลการศึกษาของนักวิชาการมหา′ลัย Oxford ที่กล่าวถึงข้างบนมาใช้ โดยแค่ต้องพิมพ์เข้าไปว่า อาชีพเราคืออะไร แล้ว Database จะบอกว่า ความเสี่ยงที่เราจะถูกหุ่นยนต์แทนที่คือกี่เปอร์เซ็นต์

ส่วนตัวผมลองใส่คำว่า "นักเศรษฐศาสตร์" ดูแล้ว ผลออกมาคือ 15% ไม่สูงเท่าไร น่าจะยังพอไปได้ และเพื่อกันพลาดผมก็ลองใส่นักจิตวิทยาที่ภรรยากำลังศึกษาอยู่ ปรากฏว่าออกมา 1% เป็นอาชีพหนึ่งที่โอกาสถูกหุ่นยนต์แย่งงานนั้นต่ำที่สุด ในทางตรงข้าม วิชาชีพที่เสี่ยงต่อการที่คนจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ คือ เจ้าหน้าที่ Sales ผ่านโทรศัพท์ ที่มีความเสี่ยงถึง 99% และ อาชีพเสมียน ก็มีโอกาสสูงไม่แพ้กัน

ดูที่ Task กับทักษะที่ต้องใช้ อย่าดูที่ Job

ความเสี่ยงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าอาชีพต้องใช้ทักษะสูงหรือต่ำสักทีเดียว และมีเงินเดือนมากหรือน้อยอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า อาชีพนั้นใช้ทักษะที่หุ่นยนต์ไม่ถนัดหรือเปล่า ผลการศึกษาของนักวิชาการที่ MIT โดยนาย Erik Brynjolfsson และ Andrew McAfee ชี้ให้เห็นว่า หุ่นยนต์มักไม่ถนัดทักษะสามประเภท เช่น งานที่ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์กับความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) สูง งานที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรืองานที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวต่อเนื่องอย่างคล่องแคล่ว

บางครั้งสายงานคล้าย ๆ กัน อาจมีความเสี่ยงต่างกันมาก หากใช้ทักษะพวกนี้ในปริมาณต่างกัน เช่น พนักงานขายของผ่านโทรศัพท์ แต่ถ้าเป็นงานขายที่ต้องพบหน้ากัน ความจำเป็นที่ต้องใช้ความมีมนุษยสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่หุ่นยนต์จะทำได้ยากขึ้น ยิ่งถ้าเลื่อนระดับขึ้นไปขั้น Sales Supervisor โอกาสตกงานจะลดลงอย่างมาก เหลือไม่ถึง 30% เนื่องจากจะต้องใช้ EQ สูง คอยคุมและจุดไฟให้กับทีม Sales ให้บรรลุยอดขายให้ได้

งานในสำนักกฎหมายที่เรามักจะคิดว่ารายได้และทักษะสูง ก็ยังมีบางหน้าที่ที่เสี่ยงจะถูกหุ่นยนต์แทนที่ได้ เช่น งานเลขาฯหรือผู้ช่วยในสำนักงานกฎหมาย ที่คอยเตรียมและตรวจเอกสารให้ทนายตามผลการศึกษาของ Michael Osborne มีโอกาสถูก Smart Software แย่งงานเกิน 90% คือมีความเสี่ยงมากกว่าเลขาฯส่วนตัวทั่วไปเสียด้วยซ้ำ โดยอาจเป็นเพราะงานเตรียมและตรวจเอกสารมักจะมีรูปแบบซ้ำ ๆ กัน ในขณะที่งานเลขาฯส่วนตัวบ่อยครั้งมักจะหลากหลาย ไม่ตายตัว ซ้ำยังต้องมี EQ ดีไว้รับมือกับเจ้านายที่อาจทำงานเครียดอีก !

รัฐมนตรีเศรษฐกิจและอดีตรัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์ Tharman Shanmugaratnamเคยพูดไว้ได้น่าสนใจมาก ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้เราต้องมาเขียนกรอบของ "อาชีพ" (Job) ต่าง ๆ ใหม่ อย่าไปยึดกับชื่ออาชีพมากเกินไป แต่ควรแจกแจงอาชีพหนึ่งออกมาดูว่า ทำ "งาน" (Task) อะไรบ้าง เช่น ในตัวอย่างข้างบนขึ้นชื่อว่าเลขาฯ งานคือกรอกเอกสาร รวบรวมเอกสาร ตรวจทาน เป็นหลัก หรือต้องคอยติดต่อติดตามนายไปประชุมตามที่ต่าง ๆ เจรจาประสานงานกับหน่วยงานหลายฝ่ายอยู่ตลอดเวลา จนต้องใช้ EQ กับมนุษยสัมพันธ์พอสมควร

การเปลี่ยนมุมมองจาก Job มาดูระดับ Task นี้ อาจช่วยบอกใบ้ให้ได้ว่า การรับมือต่อคลื่นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีควรไปในทิศทางใด คนเราในแต่ละอาชีพ ต้องปรับตัวอย่างไรที่จะทำให้หุ่นยนต์มาช่วยเรา ไม่ใช่มาทำงานแทนที่เรา

ตัวอย่าง เช่น อาชีพพยาบาล จะถูกมองว่าหุ่นยนต์แทนที่มนุษย์ได้ยาก แต่เทคโนโลยีก็มีการพัฒนาถึงขั้นที่งานบางอย่างสามารถส่งไปให้หุ่นยนต์ทำได้ เช่นในญี่ปุ่น เมืองคานาซาวะ มีการใช้หุ่นยนต์พยาบาลดูแลคนชรา มีชื่อว่า Pepper สร้างโดย Softbank มาช่วยดูแลคนแก่ในบ้านพักคนชรา ทั้งช่วยนำออกกำลังตอนเช้า คอยอัดวิดีโอ คอยฉายวิดีโอให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมดูเพื่อฝึกสมอง เป็นต้น ซึ่งหลาย ๆ งานเป็นงานที่ซ้ำซากจำเจ คนอาจไม่อยากทำเอง ก็สามารถส่งไปให้หุ่นยนต์ช่วยได้

ในขณะที่ MIT มีการสร้างหุ่นยนต์บาร์เทนเดอร์ที่ชื่อ Shakr Makr ใส่ในเรือสำราญลำหนึ่งที่วิ่งแถบแคริบเบียน โดยเราสามารถสั่งเครื่องดื่มค็อกเทลได้จากเมนู iPad แต่ผลปรากฏว่า ยังชงได้ไม่อร่อยถูกใจนักข่าว BBC สองคนที่ไปทำข่าวเรื่องนี้ เพราะยังขาดศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงรสให้ถูกปากลูกค้าแต่ละคน และแน่นอนว่า ยังไม่สามารถชวนลูกค้าคุยสร้างความเพลิดเพลินระหว่างชงเครื่องดื่มได้ แบบนี้ต่อไปบาร์เทนเดอร์คงจะชงเหล้าตามสูตรแม่นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความสามารถในการคุยเล่าเรื่อง และปรับรสเครื่องดื่มตามรสนิยมลูกค้าด้วย

บทบาทของรัฐในการหาทางรับมือคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง

เมื่อปลายปีที่แล้วผมไปสัมมนาจัดโดยมหาวิทยาลัยSingapore Management University (SMU) เรื่องเกี่ยวกับ Skill Gap หรือ ช่องว่างของทักษะ โดยตั้งแต่เริ่ม คณบดีของมหาวิทยาลัยได้ตอบคำถามว่าเราจะเติมเต็ม Skill Gap นี้อย่างไร ซึ่งเขาได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ว่าจริง ๆ เราคงทำได้ยาก เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต่อไปทักษะที่โลกต้องการคืออะไร และด้วยเหตุที่การศึกษาเป็นการลงทุนระยะยาว ทำไปโดยดูความต้องการของวันนี้ กว่าจะเห็นผลในวันหน้า ความต้องการโลกอาจเปลี่ยนไปแล้ว

เช่น หากเมื่อสิบปีที่แล้วรัฐทำโครงการฝึกพัฒนาแรงงานให้คนเป็นคนขับแท็กซี่เป็นจำนวนมาก ใครจะรู้ว่าวันนี้มี Uber แท็กซี่ ที่ทำให้มีซัพพลายของรถรับจ้างมากขึ้นมหาศาล ต่อไปหลายเมืองอาจเริ่มมีรถขับอัตโนมัติ (Autonomous Car) ไม่ต้องมีคนขับอีก

สิ่งเดียวที่เราพอจะเดาได้ก็คือ ในยุคที่เรามีอายุยืนอยู่นานขึ้น และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วพังทลายกรอบของ "อาชีพ" ที่เรารู้จักกันวันนี้ คนเราคงจะต้องมีการเปลี่ยนอาชีพหลายครั้งในหนึ่งชีวิต เพราะฉะนั้น นอกจากจะต้องมีทักษะพื้นฐานแกร่ง เช่น การวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร การวางแผน การบริหารจัดการแล้ว ยังต้องสามารถเข้าถึงสถานศึกษาให้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ลับฝีมือบางอย่างที่ทื่อลง ซึ่งอาจจำเป็นสำหรับงานใหม่ ๆ ได้ตลอดชีวิต

ในขณะเดียวกัน นักเรียนก็จะต้องเป็นนักเรียนต่อเนื่อง เพราะถ้าห่างจากตลาดงานไปนาน ๆ ก็เสี่ยงที่จะ "ลงทุนผิด" หรือไปได้ทักษะที่โลกความเป็นจริงไม่ต้องการแล้ว ก็อาจกลายเป็น "ขาดทุน" ทางการศึกษาไป

รัฐจึงควรช่วยสร้างระบบนิเวศที่ เส้นกั้นระหว่างนักศึกษากับคนทำงานนั้นบางลงนักเรียนก็ต้องถูกผลักดันออกไป ฝึกงานหาประสบการณ์ข้างนอกห้องเรียนอยู่ตลอดในขณะที่คนทำงานมากว่ายี่สิบปี ก็สามารถขวนขวายเรียนทักษะความรู้ใหม่ได้ตลอด เหมือนยังเป็นนักเรียนอยู่เสมอ

แนวทางรับมือของรัฐบาลสิงคโปร์

นโยบายหนึ่งของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ใช้แนวคิดนี้คือโครงการSkills Future ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำทางด้านนโยบายบริหารและพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ โครงการที่ว่ามีหลายโครงการย่อย ที่จะช่วยตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนจนถึงหลังจากทำงานแล้วหลายปี
เช่น Individual Learning Portfolio ที่เป็นเว็บออนไลน์แพลตฟอร์มให้ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ให้เรามีโปรไฟล์ข้อมูลตัวเอง เว็บจะมีตั้งแต่การทำการวัดเชิงจิตวิทยา (Psychometric Test) ให้รู้จักตัวเองมากขึ้น แนะแนวว่าเรายังขาดทักษะอะไรสำหรับอาชีพที่เราอยากมี และมีคอร์สออนไลน์หรือตามมหาวิทยาลัยอะไรบ้าง รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงาน ช่วยให้ว่าที่นายจ้างลูกจ้างหากันเจอ หากเป็นนักเรียนในวิทยาลัยเทคนิค ก็จะสามารถสมัครเข้าโปรแกรม Learn and Earn Program ที่มีการฝึกงานมีการดีไซน์ขึ้นพิเศษประมาณ 12-18 เดือน กับบริษัทที่อยู่ในสายงานที่เรียน และนอกจากจะได้ประสบการณ์และเงินเดือนแล้ว ยังจะได้รับรางวัลเงินสดอีก 5,000 เหรียญสิงคโปร์

สุดท้ายที่ถกเถียงกันมาก คือ Skills Future Credit 500 เหรียญ ที่ชาวสิงคโปร์อายุเกิน 25 ปีจะได้ เพื่อไปใช้ในการเรียนคอร์สฝึกทักษะใหม่ ๆ โดยผ่านสถาบันการศึกษาที่รัฐบาลอนุมัติ ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วจะมีพวกคอร์สออนไลน์ (Massive Open Online Course หรือ MOOC) เช่น Courseraและ Udemy โดยเครดิตนี้จะได้รับการเติมจากรัฐบาลต่อไปในอนาคต เป็นทุนสะสมสำหรับการศึกษาในอนาคตของพลเมืองสิงคโปร์

โดยส่วนตัวผมมองว่าโครงการนี้อาจจะยังต้องพบความท้าทายอีกหลายอย่างในภาคปฏิบัติหากจะทำให้ระบบLife Long Learning หรือการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีพได้ผลจริง แต่ก็คงต้องยอมรับว่าอย่างน้อยก็เป็นการมองปัญหาได้ถูกต้อง และริเริ่มหาทางรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ เหมือนเตรียมผลิตและแจกจ่าย "กระดานโต้คลื่น" ให้คนสิงคโปร์ เตรียมโต้คลื่นแห่งเทคโนโลยีที่มีแต่จะโหมกระหน่ำหนักขึ้น แม้กระดานอาจยังไม่สมบูรณ์ และคนอาจยังจะต้องฝึกโต้คลื่นอีกพอสมควรก็ตาม

ประเทศไทยเอง ก็คงต้องเริ่มคิดว่าคนของเรามีกระดานพร้อมจะโต้คลื่นนี้กันหรือยังตอนหน้ามา ดูกันว่าโลกนี้จะเป็นอย่างไรสำหรับคนที่ไม่มีกระดานโต้คลื่นนี้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เทรนด์พลิกเศรษฐกิจโลก (3) ยามแรงงานต้องแข่งกับหุ่นยนต์

view