สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมาแล้วขับเข้าห้องดับจิตแค่ผิวๆ ปรับทัศนคติต้องเข้มที่กม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...วีรวินทร์ ศรีโหมด

แม้จะผ่านเหตุการณ์คุมอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ แต่มาตรการคุมเข้มกับผู้ขับขี่เมาแล้วขับที่จะใช้ในเทศกาลหยุดยาวยังดำเนินต่อไป บนเป้าหมายลดยอดอุบัติเหตุลง 

เทศกาลสงกรานต์ปี 2559 มีการเกิดอุบัติเหตุถึง 3,477 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 442 คน ได้รับบาดเจ็บ 3,656 คน เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2558 จากยอดอุบัติเหตุ 3,373 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 364 คน สาเหตุหลักหนีไม่พ้นเมาแล้วขับ หรือขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดเช่นเดิม

มาตรการล่าสุด คือ การให้ผู้กระทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก เข้าไปช่วยเหลืองานในห้องดับจิตของโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความหลาบจำ ตามแนวทางของกรมคุมประพฤติได้เริ่มนำมาปฏิบัติในหลายจังหวัด เพื่อให้เกิดความหลาบจำ ตระหนักถึงผลกระทบจากการเมาแล้วขับจนยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า การส่งคนเมาไปคุมประพฤติ จะต้องทำให้ผู้ที่เข้าไปถูกคุมประพฤติรู้สึก และมีสำนึกที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง อธิบายคือ ต้องให้ผู้ที่ถูกคุมประพฤติได้สัมผัสรับรู้ความทุกข์ของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากสาเหตุเมาแล้วขับว่าเป็นอย่างไร โดยอาจให้ไปช่วยเหลือเหยื่อ เรียนรู้การใช้ชีวิตประจำวันว่าต้องทำอย่างไร ลำบากแค่ไหน ครอบครัวของเหยื่อจะเป็นอย่างไร

นพ.ธนะพงศ์ ระบุว่า การทำให้ผู้ถูกคุมประพฤติทราบถึงความทุกข์ ผลกระทบกับและสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหยื่อนี้จะทำให้รับรู้ถึงผลเสียจากการเมาแล้วขับ หรือขับรถโดยประมาทอย่างเข้าใจ ซึ่งอาจจะเกิดผลดีมากกว่าไปบำเพ็ญประโยชน์ที่ห้องดับจิต แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องนี้ มองว่าการออกแบบขั้นตอนนั้นจะดำเนินการได้ยาก และคิดว่าน่าจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

“ห้องดับจิตนั้นไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับพฤติกรรม ถ้าออกแบบไม่ดีไม่ทำให้เชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้ถูกคุมประพฤติก็อาจไม่ได้ผล นอกจากนี้การดำเนินการนี้ก็มีข้อจำกัด ทั้งต้องขออนุญาตครอบครัวผู้เสียชีวิต และอาจจะล่อแหลมในเรื่องสิทธิด้านอื่น แต่ถ้าต้องการให้เกิดความกลัวก็ทำได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด” นพ.ธนะพงศ์  กล่าว

ขณะที่การแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน นพ.ธนะพงศ์ ระบุว่า ทุกวันนี้ขนาดของปัญหาในสังคมนั้นมีจำนวนมาก แต่มาตรการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ยังไม่สมดุลกับสภาพความเสี่ยง ดังนั้นคิดว่าการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มมาตรการตรวจจับให้เข้มงวดมากขึ้น จนกว่าปัญหาอุบัติเหตุจากคนเมา ขับขี่โดยประมาทลดลง รวมถึงควรพัฒนาระบบข้อมูลการตรวจสอบตรวจจับให้สามารถรับทราบได้ทันที กล่าวคือ เมื่อตำรวจพบผู้ที่กระทำผิดเข้าข่ายซ้ำควรดำเนินตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตรงที่เกิดเหตุทันที

นอกจากนี้ มาตรการยึดรถช่วงเทศกาล เป็นเรื่องที่ดีควรทำให้เป็นกฎหมายปกติ ไม่ใช่ประกาศใช้เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น แต่ขั้นตอนการดูแลรับฝากรถก็ให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแล ภาระจะต้องไม่ตกกับเจ้าหน้าที่แต่ควรเป็นภาระของผู้กระทำความผิดในการออกค่าใช้จ่าย

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลดีผลเสียกับมาตรการบำเพ็ญประโยชน์ห้องดับจิตได้ คงต้องรอดูว่า เมื่อเริ่มทำแล้วผู้ที่ถูกคุมประพฤติที่เข้าบำเพ็ญประโยชน์จะรู้สึกอย่างไร ปรับเปลี่ยนได้ทัศนคติหรือไม่ และต่อไปจะทำอย่างนี้อีกหรือไม่ ถ้าได้ผลดีก็อาจจะทำต่อ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ยกเลิก

นพ.แท้จริง เสนอแนะว่า การแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนมาตรการปัจจุบันก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าต้องการให้เกิดผลจะต้องมีมาตราอื่นมาเสริม เช่น ส่งเสริมให้คนติดกล้องหน้ารถให้แพร่หลายเพื่อให้รู้สึกกลัว ไม่ประมาท และจะทำให้ทุกคนระมัดระวังมากขึ้น

นอกจากนี้ ในเรื่องของกฎหมายจะต้องทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เอาจริง เข้มงวดมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาคนในสังคมก็อาจจะยังไม่เชื่อมั่นในตรงนี้ อย่างที่เกิดกรณีเมื่อบุคคลที่อยู่ในครอบครัวมีฐานะ มีชื่อเสียงกระทำความผิดมักจะไม่ถูกดำเนินคดีโดยทันที หรืออาจมีความล่าช้าบางคดี ดังนั้นกฎหมายควรเอาจริงเอาจัง ขังคุก ปรับแพง แต่ถึงอย่างไรกฎหมายถึงแม้จะเป็นตัวปลุกจิตสำนึกที่ดีที่สุดมากกว่าการรณรงค์ แต่การใช้กฎหมายต้องควบคู่กับการรณรงค์ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เสียงของผู้ริเริ่มกิจกรรมดังกล่าวนี้ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบายให้ฟังว่า มาตรการดังกล่าวเริ่มจากที่ทางกรมเห็นว่าอัตราการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนมีมากขึ้น แต่มาตรการที่ใช้อยู่ไม่ทำให้ผู้ที่กระทำความผิด เกรงกลัว หลาบจำ เนื่องจากมาตรการที่ใช้อยู่ คือ ให้ผู้ที่ถูกคุมประพฤติไปทำกิจกรรม กวาดถนน ทาสี ฟุตปาท สัญญาณไฟจราจร ช่วยเหลืองานในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ทางกรมอยากให้ผู้ที่กระทำความผิด จากสาเหตุเมาแล้วขับควรมีมาตรการลงโทษที่ทำให้รับรู้ รับทราบถึงบรรยากาศของการสูญเสีย เพื่อให้เกรงกลัว

“แต่ละปีกรมรับผู้คุมประพฤติปีละ 5,000 กว่าคนที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ สาเหตุมาจากเมาแล้วขับ มากถึง 90% ซึ่งก็มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

อธิบดีกรมคุมประพฤติ คาดว่า เมื่อมาตรการนี้นำมาบังคับใช้ น่าจะใช้ได้ผล เพราะจะทำให้สังคมมีความปลอดภัยขึ้น ประชาชนมีความยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งกรมก็หวังว่าจะลดอัตราการสูญเสียให้ได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เมาแล้วขับ เข้าห้องดับจิต แค่ผิวๆ ปรับทัศนคติ ต้องเข้มที่กม

view