สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การพัฒนาเมือง สร้างชาติสิงคโปร์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สิงคโปร์หลากมิติ

โดย ดร.เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ในช่วงต้นปี 1960 นั้น สิงคโปร์ต้องเผชิญกับปัญหาเฉกเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ดังนั้นการทำให้สิงคโปร์หลุดพ้นจากประเทศโลกที่สาม (Third World Country) สู่ประเทศโลกที่หนึ่ง (First World Country) เป็นความท้าทายอย่างมาก

สิงคโปร์ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ (Miracle) ในการนำพาประเทศ จากจุดที่เป็นอยู่ ไปสู่จุดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนั้น กระบวนการที่ทำให้สิงคโปร์มุ่งไปสู่ความทันสมัย ไม่ล้าหลังนั้น มีฐานมาจากแนวคิดหลัก ๆ คือ

1.หลักคุณธรรมนิยม (Meritocracy) ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง "ศีลธรรมอันดี" แต่คือระบบ คัดสรรคนทำงาน โดยยึดหลักความรู้ความสามารถ ซึ่งตรงข้ามกับ ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) หรือ ระบบพวกพ้อง (Nepo-tism) ซึ่งคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานโดยใช้เหตุผลความสัมพันธ์เป็นหลักสำคัญ หรือทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ



2.หลักสัมฤทธิผลนิยม (Pragmatism) คือ แนวคิดที่ถือเอาสัมฤทธิผล หรือความสำเร็จตามต้องการเป็นหลักใหญ่ที่สุดในการตัดสินใจ เลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าอิงหลักทฤษฎี 3.หลักพิพัฒนาการนิยม (Progressiv-ism) คือ การสนับสนุนให้บุคคลและสังคมต้องมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงตนเองเสมอ และมีจุดมุ่งหมายที่จะต้องบรรลุความสําเร็จ 4.หลักพหุนิยมทางวัฒนธรรม (Multiculturalism) คือ การเคารพและยอมรับกลุ่มเชื้อชาติ และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่แตกต่าง หลากหลายในสังคม ว่ามีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย

แนวคิดสำคัญข้างต้นนี้ ถูกนำไปใช้ในการบริหารทุกระดับของประเทศสิงคโปร์ ตัวอย่าง เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชนได้รับความสำคัญให้เป็น วาระแห่งชาติ ในการยกระดับสังคมสิงคโปร์ เป็นการเปลี่ยนประเทศ ผ่านการพัฒนารูปแบบที่พักอาศัยที่ทันสมัย แทนที่สภาพอาคารบ้านเรือนที่มีภาพลักษณ์ด้อยพัฒนา เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากหมู่บ้านชาวประมงและเกษตรกรมาสู่สังคมอุตสาหกรรมและพัฒนาต่อเนื่องไปสู่เมืองระดับโลก

โดยในช่วงแรกนั้น นโยบายการเคหะแห่งชาติดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศเพื่อการสร้างชาติ (ค.ศ. 1960-1970) รัฐบาลลี กวน ยู พรรคกิจประชา (People′s Action Party) ได้เริ่มเปลี่ยนรูปแบบชุมชนที่พักอาศัยแนวราบที่ความหนาแน่นไม่ถูกสุขลักษณะ ไปสู่การอยู่แฟลตแนวตั้ง ซึ่งมี การเคหะแห่งชาติ (Housing Development Board : HDB) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยโครงการช่วงแรก คือ แถบฝั่งตะวันออกมีการพัฒนาชุมชนการเคหะย่านสนามบินชางฮี และแถบตะวันตกมีการพัฒนาชุมชนแฟลตพักอาศัยของประชาชน เพื่อให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมแบบพึ่งตนเองที่จูร่ง 

การพัฒนาที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์ สะท้อนความเป็น Pragmatism อย่างเด่นชัด โดยในแต่ละชุมชนจะมีศูนย์กลางจับจ่าย ซื้อของ พักผ่อนหย่อนใจ และมีระบบขนส่งมวลชนให้บริการ มีร้านสะดวกซื้อที่เป็นสหกรณ์ ค้าปลีกวิสาหกิจของประเทศ (NTUC Fair Price) ที่ปันผลต่อสมาชิก ซึ่งได้รับความนิยมมาก จนทำให้ยักษ์ใหญ่จากคาร์ฟูร์ ต้องบอกลาจากสิงคโปร์ไป มีศูนย์อาหาร (Hawker Centre) ในแต่ละชุมชนที่จัดระเบียบร้านค้า หาบเร่ แผงลอย คล้ายตลาดโต้รุ่งในประเทศไทย โดยขายอาหารในราคาไม่แพง มีการตรวจคุณภาพ สุขอนามัย และอีกหน้าที่หนึ่งคือ ศูนย์ชุมชนของละแวกบ้าน ซึ่ง Hawker ได้กลายเป็นวัฒนธรรมการอยู่กินในสังคมของคนสิงคโปร์ไปแล้ว มีการควบคุมจัดการที่จอดรถ มีการจัดการพื้นที่เปิดเป็นสวนสาธารณะให้เพียงพอต่อการพักผ่อน และมีการดูแลรักษาอาคารและสภาพแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับสภาเมืองในแต่ละเขต (Town Council)

ในระยะแรกของการพัฒนาที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์ จึงไม่ได้เป็นเพียงการสร้างกล่องสี่เหลี่ยมให้ผู้คนพักอาศัยโดยมุ่งที่ปริมาณ หากแต่เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประสบความสำเร็จในเชิงคุณภาพ ให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่คู่กับแหล่งงานอุตสาหกรรม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทางและนันทนาการที่สมบูรณ์ในตนเอง (Self-Contained Commu-nity) ซึ่งเป็นการมองภาพอนาคตของการพัฒนาตั้งแต่ระดับ อาคาร ชุมชน และประเทศ 

ผลสัมฤทธิ์ที่ประจักษ์ คือ เดิมในปี 1965 มีประชากรเพียงร้อยละ 23 ที่อยู่อาศัยบนอาคารสูง และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 87 ในปี 1997 อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่อาจจะบรรลุความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย หากปราศจากการคิดให้ครบจบกระบวนการทุกมิติ โดยเฉพาะ "มิติด้านเศรษฐศาสตร์" ในการได้มาซึ่งที่พักอาศัยที่ประชาชนสามารถจ่ายได้

เราสามารถมองความเชื่อมโยงของนโยบายของการพัฒนาที่พักอาศัย ผ่านการจัดตั้งระบบสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund : CPF) จึงเป็นนโยบายที่รัฐมอบให้กับพลเมืองสิงคโปร์ทุกเชื้อชาติ ตามแนวคิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเน้นการพึ่งพาตนเอง กล่าวคือ CPF มีเพื่อบังคับการสะสมเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ โดยภายหลังกองทุน CPF ได้พัฒนาเป็นระบบประกันสังคมเต็มรูปแบบ ด้วยการเพิ่มบริการต่าง ๆ ได้แก่ การรักษาพยาบาล (Healthcare) ค่าเล่าเรียนบุตร (Education Scheme) การเพิ่มสินทรัพย์ (Asset Enhancement) โดยนำเงินสะสม CPF ไปซื้อหุ้นรัฐบาลและหุ้นอื่น ๆ สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเป็นสมาชิก CPF คือการได้สิทธิ์เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนประชาชนในการซื้อบ้านเคหะของรัฐบาลในราคาถูก ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนของประชาชน และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

ว่าด้วยหลักพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ความท้าทายของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์นั้น คือการรักษาความสำเร็จให้คงอยู่ และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตามวิสัยทัศน์ที่ได้วางไว้ คือ การสร้างสิงคโปร์ให้เป็นบ้านอันเป็นที่รักและเมืองของโลกที่แตกต่าง "An Endearing Home and a Distinctive Global City" ในขณะที่ความยากของประเทศไทยนั้น คือ ความกล้าที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป (Reform) เพื่อสิ่งที่ควรจะเป็นและมีสภาพที่ดีขึ้น 

ยกตัวอย่าง เช่น แฟลตดินแดง ซึ่งเป็นอาคารที่พักอาศัยแห่งแรกของไทยที่สร้างเมื่อปี 2506 ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับแฟลตแห่งแรกที่สิงคโปร์ การที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้จัดการให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มั่นคง น่าอยู่ แก่ผู้พักอาศัยและประชาชนทั่วไปในระดับเมือง กลับเป็นสิ่งที่ยาก เนื่องด้วยอุปสรรคบางประการ จากประชาชนที่อยู่อาศัยเดิมส่วนหนึ่งคัดค้าน และในเรื่องอำนาจในการบริหารจัดการแบบทั้งองคาพยพ ตั้งแต่ผู้นำรัฐบาล ความชัดเจนและเสถียรภาพ ความต่อเนื่องในระดับนโยบาย โดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญกว่าบทบาทสั่งการแก่หน่วยงาน 

คือ การสวมบทบาทเป็นผู้เอื้ออำนวยการและผู้ประสานงานให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบระดับปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แบบครอบคลุมทุกมิติ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การพัฒนาเมือง สร้างชาติสิงคโปร์

view