สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โกงสอบ เจอเอาผิดทางแพ่งแถมเสี่ยงถูกแบนในวิชาชีพ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

"โกงสอบ" เจอเอาผิดทางแพ่งแถมเสี่ยงถูกแบนในวิชาชีพ

กลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ สำหรับกรณีการทุจริตสอบคัดเลือกเข้าวิทยาลัยเเพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จนนำไปสู่การประกาศยกเลิกการสอบในที่สุด

โดยกลโกงครั้งนี้ มีนาฬิกาอัจฉริยะและแว่นตาติดตั้งกล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญ แบ่งกระบวนการออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่รับจ้างจากสถาบันกวดวิชาด้วยเงินราว 5 พันบาท เข้ามานั่งในห้อง เพื่อใช้แว่นตาบันทึกภาพข้อสอบ เมื่อบันทึกภาพเสร็จจะลุกออกจากห้อง นำแว่นไปส่งต่อให้กับทีมงานที่รออยู่ภายนอก จากนั้นไฟล์ภาพทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปยังให้ทีมเฉลยข้อสอบ เพื่อจัดการเฟ้นหาคำตอบและส่งกลับมายังนาฬิกาอัจฉริยะของนักเรียนผู้ว่าจ้าง กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นภายในระยะเวลาการสอบไม่เกิน 3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตามจากหลักฐานเบื้องต้นพบว่าการทุจริตสอบคัดเลือกนั้นไม่สามารถเอาผิดทางอาญาได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ทำได้เพียงเอาผิดทางแพ่งและตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเท่านั้น..

ทนาย เกิดผล แก้วเกิด ให้ความเห็นว่า การทุจริตข้อสอบ สามารถเอาผิดได้ตาม “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420” ที่ระบุว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

"หลักฐานเบื้องต้นเท่าที่เปิดเผย กรณีดังกล่าว คงไม่สามารถเอาผิดทางอาญาได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ทางแพ่งเอาผิดได้แน่นอน เพราะสถาบันกวดวิชาเเละผู้ทุจริตทำให้มหาวิทยาลัยเสียหาย เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการสอบครั้งใหม่ รวมทั้งสร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยด้วย"

ด้านทนาย วิรัช หวังปิติพาณิชย์ บอกเสริมว่า นอกจากความผิดทางแพ่งแล้ว ยังสามารถเอาผิดได้ตามระเบียบสถานการศึกษาด้วยเช่นกัน 

"ใครทุจริตการสอบ ก็จะถูกตัดสิทธิในวิชานั้นหรือมหาวิทยาลัยนั้นไป โดยดำเนินการตามระเบียบเเละข้อบังคับของแต่ละสถานการศึกษา ตัวอย่างในอดีตครั้งหนึ่ง การสอบเนติบัณฑิต เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ทุจริตได้ 6-7 ราย คนพวกนี้ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอาญา แต่ถูกแบน ไม่มีสิทธิได้เป็นทนายความ อัยการ และศาลอีกต่อไปตลอดชาติ เรียกว่าจบชีวิตในวิชาชีพนี้เลย ตามระเบียบของสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก ส่วนตัวไม่ทราบว่าแพทยสภามีระเบียบเช่นนี้หรือไม่"

ทนายวิรัช เสนอว่า ถ้าจะให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นบทเรียนอย่างเป็นรูปธรรมก็ควรออกเป็นกฎหมายอาญาว่าด้วย "เรื่องการทุจริตข้อสอบระดับประเทศ" เสียเลย แต่การบังคับใช้ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงช่วงอายุของผู้เรียนและผู้สอบด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

"ประเทศอย่างจีน ตามนโยบายปราบปรามคอรัปชั่น กฎหมายอาญามาตรา 284 ของเขา กำหนดโทษผู้ที่โกง หรือวางแผนจะโกงการสอบ ต้องระวางโทษจำคุก 3 ปี และในกรณีที่มีความเสียหายมาก ผู้กระทำผิดอาจต้องโทษได้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี และต้องเสียค่าปรับด้วย ซึ่งถือว่ารุนแรง" ทนายความหนุ่มกล่าว

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ประกาศขึ้นแบล็คลิสต์ผู้กระทำความผิดทั้งหมดแล้ว และเตรียมดำเนินคดีกับทางสถาบันกวดวิชาผู้ว่าจ้างอย่างถึงที่สุดตามกฎหมายด้วย

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต กล่าวว่า จากผู้ต้องหาทั้งหมด 5 ราย มี 1 รายยอมรับเเล้วว่าถูกว่าจ้างมาจากสถาบันกวดวิชา

"5 คนที่ถูกจับได้ เป็นนักเรียนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการสอบ โดยใส่นาฬิกาเข้าสอบ 3 ราย ส่วน 2 คนที่เหลือเป็นทีมงานจากสถาบันกวดวิชา มีหน้าที่ใส่แว่นตาเข้าไปบันทึกภาพ เพื่อส่งให้กับผู้ต้องหาอีกรายที่อยู่ด้านนอก อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ไม่ได้มีผู้กระทำความผิดเเค่ 3 คน น่าจะมีมากกว่านี้ โดยผู้กระทำความผิดจะถูกเเบล็กลิสต์จากทางมหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนจะมีผลต่อมหาวิทยาลัยอื่นอีกหรือไม่ ไม่ทราบได้ เเต่ทั้งหมด โดยเฉพาะสถาบันกวดวิชาจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางเเพ่งเเละอาญาตามเเต่ที่กฎหมายไทยรองรับ ซึ่งมหาวิทยาลัยกำลังรวบรวมหลักฐานเอาผิดถึงที่สุด"

ดร.อาทิตย์ เผยด้วยว่า กระบวนการทุจริตครั้งนี้ ผู้ต้องการสอบเข้า ต้องจ่ายเงินสูงถึง 5 หมื่นบาท เพื่อทำสัญญาเเละรับมอบนาฬิกาอัจฉริยะไป โดยหากสอบติดต้องควักเพิ่มอีก 8 เเสนบาทถึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการ

"เรายอมให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ อนาคตจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องพัฒนามาตราการตรวจสอบดูแลผู้เข้าสอบอย่างเข้มงวด แน่นอนว่าต้องห้ามอุปกรณ์ที่อาจใช้เป็นกลโกงได้ทุกชนิด และอนุญาตเพียงแค่ดินสอสองบีเท่านั้น" 

ด้าน น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ชี้ชัดว่า หากนักเรียนนักศึกษามีประวัติในการทุจริตการสอบแล้ว การเข้าเรียนแพทย์คงจะเป็นเรื่องยาก และแม้จะเข้าเรียนได้ แต่เมื่อจบการศึกษาก็จะต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและขึ้นทะเบียนกับแพทยสภาก่อนจึงจะสามารถประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะมีการตรวจสอบประวัติเข้มข้น และหากตรวจพบว่ามีประวัติการทุจริตจะไม่อนุญาตให้สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยเด็ดขาด เนื่องจากวิชาชีพแพทย์ต้องมีความซื่อสัตย์ ปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนจำนวนมาก หากมีพฤติกรรมเคยทุจริต ในอนาคตอาจโกงการตรวจคนไข้ หรือทำเรื่องทุจริตที่ส่งผลกระทบได้ จึงต้องคัดออกไปตั้งแต่ต้น

นายกแพทยสภากล่าวอีกว่า มาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แพทยสภามีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว โดยมีการตรวจสอบบัตรประชาชนว่าเป็นตัวจริงมาสอบหรือไม่ และไม่อนุญาตให้นำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเข้าห้องสอบ

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นอีกสิ่งชั่วร้ายในวงการศึกษาเเละสังคมไทย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการโกงเกิดขึ้นได้ทุกเเห่งหน ไม่ว่าวงการอาชีพไหน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โกงสอบ เจอเอาผิดทางแพ่ง เสี่ยงถูกแบน วิชาชีพ

view