สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก่อนคิดจะ ปฏิรูป การศึกษา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์นอกรอบ โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

กระทรวงศึกษาธิการคงจะมีความ รู้สึกว่า คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา ที่ดูแลเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขตทั่วประเทศในส่วนภูมิภาค คงจะดำเนินงานไม่ตอบสนองนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา จึงได้โอนอำนาจหน้าที่ทั้งหมดไปให้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ซึ่งทำหน้าที่ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค อันประกอบด้วยศึกษาธิการภาค 18 ภาค และศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัด เป็นกรรมการ รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาในภูมิภาค ครอบคลุมทุกระดับและทุกสังกัด ส่วนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

สรุปก็คือ การบริหารจัดการการศึกษาทั้งหมด ทุกมิติ ในส่วนภูมิภาค ให้โอนจาก ระบบการกระจายสู่ท้องถิ่น กลับมาสู่ ระบบศึกษาธิการจังหวัด ตามที่เคยเป็นอยู่มาแต่เดิม

ความจริงข้าราชการครูในภูมิภาคส่วนใหญ่ก็มีความอึดอัดใจกับระบบท้องถิ่นมานานพอสมควร เพราะไม่วางใจในคุณสมบัติของบุคคลในท้องถิ่นที่มีอำนาจควบคุมดูแลและกำหนดนโยบายในพื้นที่ โดยพอใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามแบบแผนของทางราชการ



การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารการศึกษาในส่วนภูมิภาคคราวนี้ น่าที่จะเป็นคำอธิบาย ว่าการกระจายการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาของชาติลงไปในระดับท้องถิ่น แม้นจะเป็นหลักการที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการแนวประชาธิปไตย หากยังตอบคำถามว่าด้วย "คุณภาพ" ของบรรดา "ผู้มีบารมี" ในท้องถิ่นบางแห่งได้ไม่สนิทใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ "ความหนักแน่น มั่นคง ในความถูกต้องและชอบธรรม" ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สากลใช้วัดคุณภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่อันเป็นสาธารณะ

อย่าง ไรก็ตามแม้ว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการจะสามารถทำได้หรือแม้ จำเป็นจะต้องกระทำเพื่อการขับเคลื่อนทั้งยุทธศาสตร์และทั้งนโยบาย แต่สำหรับการ "ปฏิรูปการศึกษา" นั้น ยังมีความสำคัญใน 2 ประเด็นที่สมควรได้รับการทบทวนอย่างจริงจัง ก่อนที่จะขับเคลื่อน

ประเด็นแรก คือความหมายของ "การศึกษา" เอง ที่จะต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจน "การศึกษา" มิได้หมายความเพียงกระบวนการผลิตบุคคลที่เป็น "ทั้งคนเก่งและคนดี" หรือการประสาท "ความรู้คู่คุณธรรม" เท่านั้น อีกทั้งก็มิได้วัดระดับความสำเร็จจากจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา หรือจากผลการแข่งขันความเป็นอัจฉริยะในสาขาวิชาต่าง ๆ ดังเป็นที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไป

"การศึกษา" คือการทำให้บุคคลเป็น "ผู้มีการศึกษา" (Educated) ซึ่ง "ผู้มีการศึกษา" จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ 3 ประการคือ 1.เป็นบุคคลที่รู้จักดูแลตนเองให้มีสุขภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็ง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และปราศจากภยันตรายทั้งปวงจากความประมาทและความไม่รู้ บิดามารดาเป็นผู้ให้การศึกษาแก่บุตรเป็นเบื้องแรก โดยมุ่งให้บุตรเจริญวัยขึ้นอย่างแข็งแรงและปลอดภัย และเมื่อพ้นระยะเวลาหนึ่งไปแล้ว บิดามารดาก็มอบภาระของการ "ให้การศึกษา" ดังกล่าวแก่โรงเรียน ซึ่งจะต้องรับหน้าที่ไปจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน,

2.เป็นบุคคลที่มี "หลักคิด" ที่ถูกต้องและไม่บกพร่องใน "จิตสำนึก" ที่สำคัญ ๆมิใช่จำกัดเฉพาะในเรื่องของคุณธรรม หากครอบคลุมในทุกเรื่องที่จะมีอิทธิพลต่อความคิด จิตสำนึกและพฤติกรรมไปชั่วชีวิต การให้การศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับ "หลักคิด" และ "จิตสำนึก" มีความสำคัญยิ่ง ไม่น้อยไปกว่าการให้ความรู้ในเรื่องของสุขภาพ

3.เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแตกฉาน ในทั้ง "วิชาการ" และ "วิชาชีพ" เพื่อจะได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ทำมาหากิน และในการพัฒนาชาติบ้านเมือง "วิชาการ" ทั้งทางวิทยาศาสตร์ และ "สังคมศาสตร์" และแม้กระทั่ง "มนุษยศาสตร์" เป็นพื้นฐานของ "วิชาชีพ" ขณะที่ "วิชาชีพ" มีตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนกระทั่งระดับสูงสุด

ก่อนที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ผู้ที่รับผิดชอบจำเป็นจะต้องเข้าใจความมุ่งหมายของ "การศึกษา" ตามที่กล่าวข้างต้นนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน จะได้พิจารณาอย่างถูกต้องว่าส่วนใดของ "การศึกษา" ที่จำเป็นจะต้อง "ปฏิรูป"

ส่วนที่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร และผู้ใดจะต้องรับผิดชอบในการปฏิรูปนั้น ก็จะต้องมีความตระหนักว่าบุคลากรทางการศึกษา คือปัจจัยที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะการที่จะทำอะไรและอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรเหล่านี้ ความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่าน ๆ มา และที่มีแนวโน้มจะล้มเหลวต่อ ๆ ไปอีก ก็มาจาก "ความสับสน" ในการใช้ประโยชน์บุคลากรการศึกษา ซึ่งดูเหมือนจะเข้าใจกันว่า หากเป็นผู้มี "คุณวุฒิ" ทางการศึกษาศาสตร์แล้ว ก็สามารถจะใช้ประโยชน์ได้ในทุก ๆ เรื่อง ความเข้าใจที่สับสนดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุหลักที่บันดาลให้การปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว

ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดเจน

"บุคลากรทางการศึกษา"นั้น แยกออกได้เป็น 3 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มแม้จะมีความรู้ทางศึกษาศาสตร์ หากภารกิจและความรับผิดชอบในการทำให้บุคคลเป็น "ผู้มีการศึกษา" แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในทางการทหาร จะไม่ส่งนายทหารฝ่ายอำนวยการไปปฏิบัติการสู้รบในสนามรบ ขณะเดียวกันก็จะไม่ใช้นายทหารปฏิบัติการสู้รบไปทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการฉันใด ในทางการศึกษา ก็ย่อมจะไม่ส่ง "ครู" ไปเป็นศึกษาธิการจังหวัด หรือแม้กระทั่งผู้อำนวยการโรงเรียน หรือมอบให้ศึกษาธิการจังหวัดไปจัดทำหลักสูตรหรือเขียนตำราฉันนั้น

ยังมีกรณีที่สับสนยิ่งไปกว่านั้น อาทิ การมอบให้ครูพลศึกษาไปสอนภาษาไทย และมอบให้ครูสอนวิทยาศาสตร์ไปทำงานธุรการของโรงเรียน

สำหรับบุคลากรทางการศึกษากลุ่มแรก คือบุคลากรการศึกษาที่จะรับผิดชอบในงานบริหารจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการบริหารจัดการสถานศึกษา และเช่นนั้นจึงมีฐานะเป็น "ผู้บริหารการศึกษา" ซึ่งรวมทุก ๆ งานบริหารจัดการทุกระดับ-ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ช่วยฝ่ายธุรการ การเงิน งบประมาณ สถานที่ ฯลฯ บุคลากรกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการ และจะต้องมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าว

กลุ่มที่สองของบุคลากรทางการศึกษาคือ"นักวิชาการ"บุคลากรกลุ่มนี้จะไม่ถูกใช้ในงานบริหารจัดการหรือแม้กระทั่งในการสอนหนังสือ "นักวิชาการ" จะรับผิดชอบในเรื่องของหลักสูตร การเรียบเรียงตำราหรือแบบเรียน การวิจัยและออกแบบวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนทำหน้าที่ "ศึกษานิเทศก์" ฯลฯ

กลุ่มสุดท้ายของบุคลากรทางการศึกษาก็คือ "ครู" ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้มีความรู้ ไม่ว่าจะเป็น "วิชาการ" หรือ "วิชาชีพ" อย่างแตกฉาน ให้มี "หลักคิด" ในเรื่องต่าง ๆ อย่างถูกต้อง และไม่บกพร่องใน "จิตสำนึก" ดังกล่าวนี้ จะเห็นว่าบุคลากรหลักในการศึกษาก็คือ "ครู" นั่นเอง ซึ่งจะต้องเป็น "ตัวหลัก" หรือ "ตัวตั้ง" หากครูดี ลูกศิษย์ที่ได้รับการอบรมสั่งสอน ก็จะเป็น "บุคคลที่มีการศึกษา" ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของสิ่งที่เรียกว่า"การศึกษา"

ความบกพร่องของการศึกษาของประเทศไทยอาจมีที่มาหลายทาง แต่ที่สำคัญก็คือความบกพร่องในการสร้างครูและการใช้ครูให้ถูกทาง

คุณสมบัติ และบทบาทของผู้เป็นครูย่อมแตกต่างกันไปบ้างตามระดับของการศึกษาสำหรับประถม ศึกษาและมัธยมศึกษาชั้นต้นความสามารถและความเอาใจใส่ของครูในด้านการสั่ง สอนอบรมหลักคิดและจิตสำนึกอาจจะสำคัญมากกว่าการให้ความรู้ทางวิชาการขณะ ที่"วิชาการ"จะเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้นในระดับมัธยมปลาย ซึ่งจำเป็นที่ครูที่สอนในแต่ละวิชาจะต้องมี "ความเชี่ยวชาญ" ในวิชาที่สอนซึ่งแยกกันออกไปอย่างที่ไม่อาจสอนแทนกันได้ ยกตัวอย่าง ครูสอนฟิสิกส์จะสอนเคมีแทนครูเคมีไม่ได้ หรือจะเอาครูที่สอนภูมิศาสตร์มาสอนประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เช่นกัน

หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยอยู่ที่เรื่องของ "ครู" เป็นสำคัญและจะต้องระลึกเสมอว่า "ครู" คือบุคลากรที่อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ มิใช่ "นักวิชาการ"และก็มิใช่ผู้บริหาร และเช่นนั้นบุคลากรสายครูจึงต้องไม่ไปเกี่ยวโยงกับตำแหน่ง หรือคุณวุฒิทางการบริหารและวิชาการ ความสามารถในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ในวิชาที่รับผิดชอบคือมาตรที่ใช้วัดประสิทธิภาพของบุคลากรที่เป็น "ครู"

บางทีหลักคิดในเรื่องของ "การฝึกหัดครู" ที่เป็นหมุดหลักเมื่อเริ่มแรกการสร้างระบบการศึกษาแห่งชาติประมาณ 120 ปีมาแล้ว และต่อมาได้ถูกเบียดบังโดย "ศึกษาศาสตร์" จนกระทั่งเกือบไม่มีที่ยืนในระบบการศึกษาแผนปัจจุบัน อาจจะต้องนำกลับมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ก่อนคิด ปฏิรูปการศึกษา

view