สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยืดเกษียณ-ลดภาระรัฐ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ.

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” แล้ว และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่าง “สมบูรณ์” ภายในปี 2568

คาดการณ์กันว่าในปี 2568 นั้น ประชากรไทยราวๆ 14.4 ล้านคน จะเป็นผู้สูงวัย หรือทุกๆ 5 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน

สหประชาชาติ ประมาณการว่า สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยมีมากกว่าประเทศอื่นๆ และไทยจะเข้าสู่สังคมคนแก่เร็วกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนถึง 20 ปี

นั่นทำให้ต้องขบคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเรื่องสร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนสร้างชุมชมท้องถิ่นน่าอยู่

ข้อมูลจาก ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ฉายภาพสถานการณ์ผู้สูงอายุไว้อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าปี 2558 สังคมไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 17.5% ของประชากรทั้งหมด อยู่ทางภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาคือภาคกลาง อีสาน และใต้

ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่ สะท้อนผ่านสถิติขององค์การบริหารส่วนตัวบล (อบต.) แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ระบุว่า จากประชากรทั้งหมด 1.2 หมื่นคน เป็นผู้สูงอายุ 1,219 คน คิดเป็น 10%

มากไปกว่านั้นหากพิจารณาข้อมูลของ อบต.ไกรนอก จ.สุโขทัย จะยิ่งเห็นความรุนแรงของสถานการณ์ โดยพบว่ามีผู้สูงอายุมากถึง 35% ของประชากรทั้งหมดในตำบล

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บอกว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมานานกว่า 10 ปีแล้ว ส่งผลให้คนวัยทำงานต้องแบกรับภาระ 2 ด้าน คือเด็กที่เกิดใหม่และผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ฉะนั้นทางออกคือต้องทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้ยาวนานที่สุด

นพ.วิชัย เสนอว่า รัฐต้องพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดีกว่าเดิมและต้องเข้าถึงทุกพื้นที่ และควรขยายเวลาการเกษียณอายุให้ยาวขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในเรื่องการจ่ายบำนาญให้สั้นลง และยังได้ประโยชน์จากการมีบุคลากรมากประสบการณ์อยู่ในระบบ

ขณะเดียวกันรัฐต้องวางแผนดูแลเยาวชน โดยเฉพาะการส่งเสริมการออม ไม่ให้เอาเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งจะช่วยเป็นหลักประกันในอนาคตอีกทาง

ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า การพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุต้องทำขึ้นโดยการใช้ทุนทางสังคมของแต่ละพื้นที่มาจัดกิจกรรม ซึ่งควรเน้นหนักใน 6 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะทางความคิด 2.พัฒนาศักยภาพให้เข้าร่วมกิจกรรม 3.พัฒนาระบบการบริการดูแลให้ครอบคลุม

4.จัดตั้งกองทุนหรือสวัสดิการผู้สูงอายุ 5.จัดทำข้อมูลในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะให้เข้ากับบริบทของสังคมในพื้นที่ 6.ควรทำแผนพัฒนาการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เชื่อมโยงกัน

ตัวอย่างหนึ่งจากการดำเนินการของ อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัด อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ คือการจัดตั้งโรงเรียนทองสุขขึ้นมา เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมและอยู่ร่วมกัน โดยจะมีการสอนทั้งเรื่องของสุขภาพ อาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต

“จากเดิมที่ผู้สูงอายุในพื้นที่มีนิสัยติดบ้านไม่ชอบออกไปไหน ปัจจุบันก็เริ่มออกมาใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น” อุบล บอกเล่าถึงส่วนหนึ่งของความสำเร็จ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยืดเกษียณ ลดภาระรัฐ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ.

view