สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธปท.แนะรัฐเพิ่มออมภาคบังคับ ทำรัฐสวัสดิการ แก้คนไทยแก่ก่อนรวย.

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ธปท.ชี้แรงงานไทยแก่ก่อนรวย มีรายได้ไม่พอรายจ่าย เงินออมต่ำ หนี้สูง มีสินทรัพย์ไม่เพียงพอไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ

นครินทร์ อมเรศ เศรษฐกรประจำธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนึ่งในคณะผู้ศึกษาวิจัยเรื่องกระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันและทิศทางข้างหน้า : วิเคราะห์จากมุมมองตลาดแรงงาน กล่าวในงานเสวนาโครงการศึกษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป (Bank of Thailand’s Research Program on Thailand’s Future Growth) ในหัวข้อ” การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากมุมมองตลาดแรงงานและการบริโภคภายในประเทศที่ยั่งยืน” ว่า จากผลการศึกษาพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยไม่เพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้ไปจนถึงหลังเกษียณ 15 ปี หรือจนถึงสิ้นอายุไขของคนที่อายุประมาณ 75 ปี เพราะมีรายได้เฉลี่ยไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีรายได้ไม่พอที่จะเก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณ ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ไม่ได้ขึ้นตามอายุงานจากผลิตภาพแรงงานที่ต่ำ

นอกจากนี้ ในช่วงหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ยังพบว่าบทบาทของการบริโภคที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอด โดยขยายตัวเฉลี่ยที่ 4.8% ในช่วงปี 2542-2551 นั้น ได้ลดลงเหลือเฉลี่ยที่ 2.7% บวกกับช่วงหลังรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นการบริโภค เช่น รถยนต์คันแรก ซึ่งทำให้การบริโภคเร่งขึ้นในระยะสั้น และมีการดึงการบริโภคล่วงหน้ามาใช้ ส่งผลให้การบริโภคที่แท้จริงลดลง ทำให้ครัวเรือนมีภาระหนี้สูงขึ้น การบริโภคจึงไม่ได้มาจากความเพียงพอของรายได้ของประชาชนอย่างแท้จริง การบริโภคของคนไทยจึงไม่ถึงฝั่ง เพราะบริโภคเพิ่มเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดี และมีมาตรการรัฐมากระตุ้น ซึ่งการบริโภคที่ชะลอลง ทำให้แนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) อาจจะโตต่ำ ไม่ใช่แค่โตชะลอตามบริบทใหม่ (News Normal) แต่อาจจะเป็นต่ำลงมาก (Bad Normal)

“ปัญหาคือ คนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีภาระหนี้สูง ทำให้การออมมีไม่เพียงพอที่จะไว้ใช้ในยามเกษียณ ยิ่งโครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรกว่า 10% มีอายุมากกว่า 60 ปี ขณะที่คนอายุ 10-24 ปี มีเพียง 20% ในปี 2559 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เพราะมีคนสูงอายุ 13 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากร ทำให้โครงสร้างแรงงานมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ผลิตภาพการผลิตของแรงงานต่ำลง และเผชิญปัญหากับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-income Trap) นำไปสู่ปรากฏการณ์ แก่ก่อนที่จะรวย ของสังคมไทย” นครินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ หากอาศัยแนวคิดจากทฤษฎีการบริโภคแบบวงจรชีวิต (Life Cycle Hypothesis, LCH) เพื่อสร้างกรอบวิเคราะห์ความยั่งยืนในการบริโภค จะพบว่า ผู้บริโภคจะบริโภคได้อย่างราบรื่นตลอดชีวิตด้วยการถ่ายโอนกำลังซื้อระหว่างช่วงเวลาที่ทำงานมาสู่การสร้างฐานะและเก็บออมต่อเนื่องไปยังวัยเกษียณได้ แต่กรณีของไทยหากพิจารณาภาพรวมบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Account, NTA) กลับพบว่ามีแต่คนเฉพาะในช่วงอายุ 25-59 ปีเท่านั้นที่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ารายจ่าย ส่วนคนในช่วงอายุ 0-24 ปี และ 60 ปีขึ้นไป มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ารายจ่าย ทำให้ครัวเรือนไทยในแทบทุกกลุ่มตัวอย่างมีรายได้และทรัพย์สินที่หาได้ทั้งชีวิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค แม้ว่ากลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูงจะมีเงินออมเหลืออยู่เพื่อใช้ในยามเกษียณ แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคหลังเกษียณเกิน 15 ปี

สำหรับสาเหตุที่ครัวเรือนไทยไม่สามารถบริโภคได้อย่างยั่งยืนนั้น ผลการศึกษาพบว่า เป็นเพราะ 1) รายได้ไม่โตตามอายุ ส่วนหนึ่งเพราะครัวเรือนไทยอยู่ในภาคเกษตรมาก 2) ออมไม่พอ เกิดจากแรงจูงใจในการออมต่ำ เทคโนโลยีที่กระตุ้นการใช้จ่ายหรือการช็อปปิ้งก็สะดวกเพียงแค่คลิกออนไลน์เท่านั้น มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐต่อเนื่อง มีการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อของครัวเรือนที่ง่ายขึ้น ทำให้การบริโภคและหนี้ครัวเรือนเร่งขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 23% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มเป็น 35% ในช่วงปี 2547-2557 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ และผลิตภัณฑ์การออมที่ไม่จูงใจ การออมของครัวเรือนจึงลดลง ซึ่งผลการสำรวจของ ธปท. พบว่าครัวเรือนที่สามารถออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณได้มีเพียง 25% ของกลุ่มตัวอย่าง และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จำนวน 40% ไม่มีการวางแผนและออมเพื่อการเกษียณ

3) ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio, DSR) อยู่ในระดับสูง แม้ในช่วงท้ายของวัยทำงานก่อนเกษียณ เพราะมีการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อภาระหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 30% ขึ้นไป การบริโภคจะเริ่มลดลง ส่งผลต่อระดับเงินออมและสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มลดลงจากภาระหนี้ และ 4) คนไทยให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายที่ดีไม่มากนัก เช่น การศึกษา ฯลฯ ทำให้บั่นทอนโอกาสในการพัฒนาผลิตภาพและระดับรายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของ ธปท. จึงได้เสนอแนะเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การบริโภคที่ยั่งยืนของครัวเรือนไทย คือ ต้องมีเงินช่วยเหลือจากภาครัฐในบางส่วน เพิ่มการออมภาคบังคับให้ครัวเรือนขั้นต่ำ ยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้น ผ่านการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม ส่งเสริมกระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานสำหรับภาคเกษตร โดยเฉพาะการจัดทำและส่งเสริมมาตรฐานฝีมือตามวิชาชีพ รวมถึงการขยายอายุเกษียณของแรงงาน เพื่อเพิ่มช่วงที่มีรายได้ให้ยาวขึ้น สนับสนุนการจัดการทางการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับวัยเกษียณ ขณะที่ภาครัฐควรหลีกเลี่ยงมาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้จนเกินความจำเป็น


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธปท. แนะรัฐ เพิ่มออมภาคบังคับ ทำรัฐสวัสดิการ แก้คนไทย แก่ก่อนรวย.

view