สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เผยพื้นที่ป่าจังหวัดน่านถูกทำลาย1.6ล้านไร่

จาก โพสต์ทูเดย์

อธิบดีกรมป่าไม้ เผยพื้นที่ป่าจังหวัดน่านถูกทำลายไปแล้ว 1.6 ล้านไร่ คิดเป็น 28%จากพื้นที่ทั้งหมด 6 ล้านไร่ หลายภาคส่วนร่วมสนับสนุนการฟื้นฟู

นายชลธิศ   สุรัสวดี  อธิบดีกรมป่าไม้  เปิดเผยว่า พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านทั้งหมด 6 ล้านไร่ ปัจจุบันถูกทำลายไปแล้ว 28% หรือประมาณ 1,680,000 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 72%  เป็นพื้นที่ไม่ติดต่อกันเป็นผืนใหญ่  ขาดความสมบูรณ์ของผืนป่า ไม่สามารถป้องกันภัยแล้ง อุทกภัย และดินโคลนถล่มได้  โดยพบว่าเป็นพื้นที่ที่สามารถฟื้นฟูได้เพียง 720,000 ไร่  ส่วนทีเหลืออีก 960,000 ไร่  ไม่สามารถฟื้นฟูได้ เนื่องจากหมดสภาพป่าอย่างถาวรไปแล้ว  เนื่องจากมีการก่อสร้างทั้งที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค   

ทั้งนี้ในเดือนมิ.ย.นี้  กรมป่าไม้จะเริ่มปลูกป่าในพื้นที่ที่เปิดยุทธการทวงคืนป่าต้นน้ำมาได้มากกว่า 7,000 ไร่ ในอำเภอสันติสุข  โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งได้เข้าเจรจาทำความเข้าใจกับประชาชน และยอมคืนมาให้ และ อีกส่วนมากจากการยึดคืนจากนายทุน สำหรับการปลูกป่าครั้งนี้ กรมป่าไม้ยินดีดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม โดยเฉพาะภาคเอกชนที่สนใจจะจัดเตรียมพื้นที่ไว้ให้ รวมถึงพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมเพื่อเร่งฟื้นป่าต้นน้ำ  

ด้าน นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน ติดต่อเข้ามาสนับสนุนการปลูกป่ากับทางจังหวัด  จึงมีความยินดีที่จะต้อนรับทุกหน่วยงาน แต่อยากให้ทำความเข้าใจเรื่องการปลูกป่าที่จะให้เกิดผลสำเร็จจริงๆต้องทำในระยะยาว ไม่ใช่เป็นกระแสให้มาปลูกต้นไม้แล้วก็จากไป  โดยพื้นที่ป่า 1.6 ล้านไร่ที่ถูกบุกรุกไปนั้น ยังต้องยึดถือตามคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 เพื่อปราบปราบและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่เป็นการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน   

ทั้งนี้จะต้องแยกแยะพื้นที่ที่ประชาชนทำกินก่อนออก พ.ร.บ.ป่าไม้  ขณะที่การเดินหน้าพิสูจน์จะทำกันอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ที่ถูกบุกรุกจะต้องไม่เพิ่มขึ้นไปจากนี้ พร้อมทั้งเร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งทางจังหวัดจะรวบรวมแนวทางการดูแล บริหารจัดการป่าต้นน้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการดูแลพื้นที่ป่า  เพื่อจัดทำเป็นแผนจังหวัด  คือให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการป่า  โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน  ซึ่งแนวทางหลักๆ คงต้องปรับเปลี่ยนการเกษตรจากการปลูกข้าวโพดไปเป็นการปลูกแบบผสมผสาน  คือปลูกไม้ใหญ่  ประเภท ไม้ป่า ไม้ผล  และปลูกพืชผักและไม้พื้นล่างต่างๆ และให้ชาวบ้านสามารถเก็บหาผลผลิตได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  เพื่อให้สามารถยังชีพได้

ขณะที่ภาครัฐจะต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ด้านการจัดการไฟป่า การจัดการแหล่งน้ำ และจัดการเรื่องการตลาดให้แก่ชาวบ้าน  ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดนี้จะสามารถแก้ปัญหาป่าไม้ และช่วยฟื้นฟูผืนป่าได้อย่างยั่งยืน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พื้นที่ป่าจังหวัดน่าน ถูกทำลาย

view