สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก ผลพวง Big C (1)

ลมหายใจค้าปลีก ผลพวง Big C (1)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.worldpress.com

ดีลใหญ่กรณีขายกิจการในเครือข่ายค้าปลีก Big C ไทยและเวียดนาม เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหญ่ไทย ทีซีซี กับเซ็นทรัล ในทำนอง "สองคนยลตามช่อง"

ความจริงแล้ว แบรนด์ Big C กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้สร้างขึ้น ตามแผนการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกโมเดล Hypermarket เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว (ปี 2537) ผู้บริหารเซ็นทรัลคนหนึ่งเคยบอกว่า C เป็นอักษรย่อ มีความหมายได้ทั้ง Central และ Chirathivat (จิราธิวัฒน์) นับเป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัว ในช่วงเซ็นทรัลเผชิญวิกฤต Casino Group แห่งฝรั่งเศส (C เป็นอักษรย่อของ Casino ได้ด้วย) ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เข้ามาบริหาร(ปี 2542) ชื่อจึงไม่เปลี่ยน "Big C เป็นแบรนด์ใหม่ มีลักษณะท้องถิ่น เกิดขึ้นที่เมืองไทยโดยกลุ่มเซ็นทรัล แม้จะขยายเครือข่ายไปเวียดนามก็ยังไม่ใช่แบรนด์หลักของ Casino Group" ผมเคยเสนอไว้ว่า คงเทียบไม่ได้กับ Mono-prix, Casino Supermarches และ Geant Casino ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก


เมื่อ Casino Group ปรับแผนครั้งใหญ่ ประกาศตัดสินใจขายกิจการ Big C ในไทย(14 มกราคม 2559) ชื่อเซ็นทรัลจึงปรากฏขึ้นเป็นตัวเก็งสำคัญทันที กลุ่มเซ็นทรัล เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยแต่ยังไม่มีธุรกิจค้าปลีกในโมเดล Hypermarketโดยตรง เชื่อกันว่ากำลังศึกษาบทเรียน และเตรียมความพร้อม

ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้น Big C อันดับสองรองจาก Casino Group แต่ดูเหมือนกลุ่มเซ็นทรัลและตระกูลจิราธิวัฒน์ตั้งใจไม่เข้าเกี่ยวข้องการบริหารโดยตรง ไม่มีตัวแทนหรือคนในตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นกรรมการ การถือหุ้นอยู่ในลักษณะกระจาย จนไม่มีชื่อใด ๆ เกี่ยวข้องกลุ่มเซ็นทรัล ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับต้น ๆ ปรากฏในข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจาก Big C อยู่ในตลาดหุ้นไทย กลุ่มเซ็นทรัลหรือตระกูลจิราธิวัฒน์ คงซื้อขายหุ้นบ้างในจังหวะต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี เชื่อกันว่ายังคงถือหุ้นอยู่รวม ๆ กันประมาณ 25%

ถือเป็นเรื่องพลิกล็อกอยู่บ้าง เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลไม่สามารถบรรลุดีลสำคัญ โดยเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กิจการในกลุ่มทีซีซี คว้าดีลใหญ่นั้นไปอย่างครึกโครม (การลงนามจะซื้อจะขาย 7 กุมภาพันธ์ ตามเวลาฝรั่งเศส --อ้างจากข่าว Disposal of Casino"s stake in Big C Thailand for 3.1 billion-- http://www.groupe-casino.fr/en) ว่าไปแล้ว เป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัวอีกครั้งก็ได้ เมื่อเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กิจการของเจริญ สิริวัฒนภักดี (ชื่อของเขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Charoen) ซึ่งพออ้างว่า C เป็นอักษรชื่อผู้นำก็ย่อมได้

ในช่วงเวลานั้น ข่าวคราวความเคลื่อนไหวดีล Big C ในเวียดนาม มีการคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งไปที่กลุ่มทีซีซี ซึ่งกำลังดำเนินแผนเชิงรุกอย่างดุเดือดสู่ธุรกิจค้าปลีก นอกจากมีดีล Big C ในเมืองไทยแล้ว ก่อนหน้านั้นเพียงเดือนเดียว (7 มกราคม 2559) ดีลซื้อเครือข่ายค้าปลีก METRO Cash & Carry แห่งเยอรมนี ในเวียดนาม เพิ่งสำเร็จลุล่วง

ดีล Big C ระหว่าง Casino Group กับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ถือเป็นดีลสายฟ้าแลบ กำหนดให้จบภายใน 53 วัน (7 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2559) ในที่สุด (21 มีนาคม 2559 ตามเวลาในปารีสฝรั่งเศส หรือ 22 มีนาคม ในเมืองไทย) เป็นไปตามนั้น Big C เข้าสู่ยุคใหม่ เปลี่ยนเป็นกิจการของคนไทย

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ขอนำเสนอข้อมูลจากต้นแหล่ง เชื่อว่าให้ภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เป็นบทเรียนธุรกิจที่น่าสนใจ (โปรดอ่านจากลำดับเหตุการณ์)

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามแผนการที่กำหนดไว้อย่างดี เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เข้าครอบครองหุ้นข้างมากใน Big C (บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์) ประมาณ 58% รวมกับซื้อกิจการย่อยเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ กลุ่มทีซีซีจ่ายเงินเฉพาะในวันนั้น รวมทั้งสิ้นถึง 123,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โดยกระบวนการแล้วยังไม่จบแค่นั้น

การเปลี่ยนแปลงที่ Big C เกิดทันทีทันใดวันนั้นเช่นกัน เริ่มด้วยการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการบริษัทรวดเดียว 7 คน ส่วนใหญ่เข้ามาแทนชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของ Casino Group แต่ยังคงเหลือผู้บริหารคนสำคัญ ๆ ไว้ กรรมการเข้ามาใหม่จากฝ่ายกลุ่มทีซีซี ตามสูตรสำเร็จ ย่อมมี เจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท (ตามมาด้วย คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี) นอกจากนั้นคือผู้บริหารคนสำคัญของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์

ไม่กี่วันจากนั้น (28 มีนาคม 2559) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ทำหน้าที่อย่างดีในฐานะบริษัทในตลาดหุ้นด้วยกัน จัดทำคำเสนอหลักทรัพย์ (Tender Offer) ซื้อหุ้น Big C ส่วนที่เหลือทั้งหมดอีกประมาณ 41% โดยกำหนดวันให้ผู้ถือหุ้นเสนอขาย ระหว่าง 29 มีนาคม-11 พฤษภาคม 2559 คาดว่าจะใช้เงินอีก 88,000 ล้านบาท (กู้เงินจากธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ กสิกรไทย 27,000 ล้านบาท กรุงไทย 24,000 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 15,000 ล้านบาท กรุงเทพ 19,000 ล้านบาท ทหารไทยกับเกียรตินาคิน แห่งละ 5,000 ล้านบท และทิสโก้ 2,000 ล้านบาท) รวมทั้งสิ้นดีลนี้เป็นดีลธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ มีมูลค่าถึงกว่า 200,000 ล้านบาท

ในช่วงเวลา Tender Offer หุ้น Big C ในไทยดำเนินไปในช่วงท้าย ๆ ดีล Big C เวียดนามได้เกิดขึ้น (อ้างจาก Disposal of Big C Vietnam for a Valuation of 1 billion euros--เมื่อ 29 เมษายน 2559 -- http://www.groupe-casino.fr/en/press/all-press-releases/) ไม่เป็นไปตามที่คาดนัก เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลกับพันธมิตรธุรกิจบรรลุข้อตกลงเบื้องต้น

ขณะเดียวกันช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหาร Big C ในไทยเข้าสู่ขั้นใหม่ ใช้เวลาเพียงเดือนเศษ (22 มีนาคม-3 พฤษภาคม 2559) ถึงเวลาเปลี่ยนชุดคณะกรรมการผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานกรรมการบริหาร จากตัวแทน Casino Group (โรเบิร์ต เจมส์ ซิสเซล) มาเป็น อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารเบอร์ลี่ ยุคเกอร์อยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ในจำนวนสมาชิกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ 11 คน ยังคงเหลือตัวแทนของ Casino Group อยู่อีก 4 คน

ผลพวง Big C ในไทยและเวียดนามเกี่ยวข้องกับกลุ่มทีซีซี กับกลุ่มเซ็นทรัล คงมีมิติซับซ้อนกว่า เรื่องราวแบรนด์ Big C ว่าในที่สุดแล้ว ใครจะได้ครอบครอง หรือลงเอยอย่างไร

เหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ

21 มีนาคม 2559 (เวลาในฝรั่งเศส)

-- Casino Group แถลงข่าวว่า การซื้อขาย Big C ในประเทศไทยสำเร็จลุล่วง (หากสนใจรายละเอียดโปรดอ่าน Completion of the disposal of Big C Thailand--21 mars 2016 (http://www.group-casino.fr/en/communique/completion-of-the-disposal-big-c-thailand)

22 มีนาคม 2559
-- บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อ้างว่าได้รับแจ้งจากกลุ่มคาสิโนว่า "Geant International B.V. ได้ดำเนินการขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัท ..คิดเป็นร้อยละ 58.555 ของจำนวนหุ้น ให้แก้ บริษัท บีเจซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท สัมพันธ์เสมอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีผลทำให้บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยผ่านบริษัทย่อยทั้งสองบริษัทดังกล่าว"

- บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการได้มาซึ่งหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และการได้มาซึ่งบริษัทย่อยเพื่อการเข้าลงทุนในหุ้นของบิ๊กซี

"ในวัน ที่ 21 มีนาคม 2559 (ภายหลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 ของบริษัทมีมติอนุมัติให้เข้าทำรายการได้) ได้มีการชำระราคาและส่งมอบหุ้นตามสัญญาจะทำการขายหุ้นที่ทำขึ้นกับ Geant International B.V. ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 โดยเสร็จสมบูรณ์แล้วในวันดังกล่าว"


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก ผลพวง Big C (1)

view