สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลมหายใจค้าปลีก ผลพวง Big C (2)

ลมหายใจค้าปลีก ผลพวง Big C (2)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.worldpress.com

ดีลใหญ่กรณีขายกิจการในเครือข่ายค้าปลีก Big C ทั้งไทยและเวียดนาม เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหญ่ไทย และวิวัฒนาการสังคมธุรกิจไทย

ว่าด้วยดีล

สรุปแล้วดีลกลุ่มทีซีซี-BigCมีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านบาทอย่างที่คาดไว้

-- 21 มีนาคม 2559 ลงนามสัญญาซื้อเครือข่าย Big C จาก Casino Group แห่งฝรั่งเศส ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 58% จากนั้นจ่ายเงิน เมื่อ 22 มีนาคม 2559 ประมาณ 123,000 ล้านบาท

-- 28 มีนาคม 2559 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บริษัทในเครือทีซีซี) จัดทำคำเสนอหลักทรัพย์ (Tender offer) ซื้อหุ้น Big C ส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 41% ทั้งนี้เตรียมเงินไว้อีกกว่า 80,000 ล้านบาท จนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2559 เบอร์ลี่ ยุคเกอร์นำส่งรายงานผลการซื้อหลักทรัพย์ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ สรุปว่าซื้อได้ถึง 39% ในที่สุดกลุ่มทีซีซี ถือหุ้นบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนทั้งหมดถึง 98%

ดีลทีซีซี-Big C ถือเป็นกรณีซื้อขายกิจการในธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงที่สุดในระดับภูมิภาคเลยทีเดียว


โดยเปรียบเทียบกับดีลที่เกิดขึ้นก่อนหน้าในช่วง 5 ปี ทั้งกรณีปลายปี 2553 Casino Group แห่งฝรั่งเศสซื้อเครือข่าย Carrefour ในประเทศไทย (สาขา 42 แห่ง) ด้วยมูลค่า 868 ล้านยูโร (เทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโรเท่ากับประมาณ 41 บาทในขณะนั้น คิดเป็นเงินมากกว่า 35,000 ล้านบาท) และในปี 2556 กรณีซีพี ออลล์ซื้อเครือข่าย Makro ในประเทศไทย (สาขา 64 แห่ง และร้านจำหน่ายอาหารแช่แข็งขนาดเล็ก "สยามโฟรเซ่น" อีก 5 แห่ง) ด้วยมูลค่าประมาณ 188,880 ล้านบาท

เฉพาะในปีนี้เพียงปีเดียว ยังเดินทางไปไม่ถึงครึ่งปีเลย ดีลใหญ่ธุรกิจค้าปลีกเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งแล้ว โดยดีลทีซีซี-Big C เป็นกรณีครึกโครมในฐานะดีลที่ใหญ่กว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 กรณี

ต้นปี (7 มกราคม 2559) ทีซีซีเองเปิดฉากเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัวครั้งแรก โดยเข้าซื้อ METRO Vietnam (มีสาขาค้าส่งแบบบริการตนเองที่เรียกว่าCash & Carry ทั้งหมด 19 สาขา) ด้วยมูลค่า655 ล้านยูโร (เทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโรเท่ากับ 39 บาท คิดเป็นเงิน มากกว่า 25,500 ล้านบาท)

ดีลล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อช่วงหลังวันสงกรานต์ของไทย เมื่อ 29 เมษายน 2559 Casino Group ประกาศขายเครือข่าย Big C Vietnamให้กับกลุ่มเซ็นทรัลและพันธมิตรในราคา 920 ล้านยูโร (หรือประมาณ 36,800 ล้านบาท) อีก 3-4 วันต่อมา (3 พฤษภาคม 2559) กลุ่มเซ็นทรัลแถลงข่าวผ่าน Website ตนเอง (http://www.centralgroup.com) "กลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับ กลุ่มเหงียนคิม ประกาศซื้อกิจการบิ๊กซี เวียดนาม อย่างเป็นทางการแล้ว...มีทั้งสิ้น 43 สาขา ในประเทศเวียดนาม ซึ่งแบ่งเป็นดังต่อไปนี้ คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 33 สาขา, คอนวีเนี่ยนสโตร์ 10 สาขา และเป็นศูนย์การค้า 30 แห่ง โดยมียอดขายในปี 2558 ราว 586 ล้านยูโร"

ว่าด้วยแนวทาง

ในภาพกว้าง ๆ คงเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องสังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยธุรกิจใหญ่ขยายพรมแดนธุรกิจเข้าปะทะกัน แข่งขันกันมากยิ่งขึ้น "แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้าง ไม่อาจปรองดองกันได้ เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในสังคมธุรกิจไทย ถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่อันซับซ้อนขึ้น จากเดิมโครงสร้างง่าย ๆ ว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ แบ่งประเภทธุรกิจเป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์ และโอกาสที่ลงตัว ของบรรดาผู้ทรงอิทธิพลซึ่งมีจำนวนไม่มากราย แต่วันนี้ พื้นที่และโอกาสไม่อาจจัดสรรด้วยระบบเดิม เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ต้องซ้อนทับและขัดแย้งกัน จึงตามมาด้วยแรงปะทะสั่นสะเทือนไปทั่ว" ผมเองเคยอรรถาธิบายเมื่อปี 2553 เกี่ยวข้องธุรกิจค้าปลีกโดยตรง

การแข่งขันทางธุรกิจค้าปลีกนับวันจะเข้มข้น ยิ่งขยายเครือข่าย ยิ่งแข่งขันกันมากขึ้น กลายเป็นโมเมนตัมรุนแรง มาถึงจุดหนึ่งธุรกิจค้าปลีก ต้องเผชิญหน้าและแข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ มีแรงปะทะ และหลอมรวมเข้าหากัน ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักตอบสนองวิถีชีวิตปัจเจกสมัยใหม่ ข้ามพรมแดนจากสินค้าคอนซูเมอร์ สู่สินค้าอื่นจินตนาการเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจค้าปลีกปรับเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหม่ ๆ ภาพที่ชัดเจนมาระยะหนึ่ง กลุ่มธุรกิจใหญ่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกกันอย่างเป็นขบวน

ว่าไปแล้ว "แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้าง" เกิดขึ้นจากกรณีเกี่ยวข้องกับ Big C เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2553 เมื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ ทั้งซีพี เซ็นทรัล ทีซีซี และ ปตท.เข้าร่วมวงเสนอซื้อกิจการ Carrefour ซึ่งมีแผนขายกิจการในไทย แรงปะทะรุนแรงมาโฟกัสที่ ปตท. พลังต่อต้านการเข้าร่วมประมูลของ ปตท.สั่นสะเทือนไปทั่ว จนลามมาถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในที่สุด ปตท.ต้องประกาศถอนตัว สุดท้าย Big C โดย Casino Group คว้าดีล Carrefour อย่างพลิกความคาดหมายไปบ้าง

ปรากฏการณ์นั้นสะท้อนอีกมิติหนึ่ง ธุรกิจใหญ่ไทยมีมุมมองเชิงบวก จึงพยายามอย่างเต็มกำลังเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่

โมเดลค้าปลีกขนาดใหญ่ และยืดหยุ่นอย่าง Big C, Makro และ Tesco Lotus เรียกกันกว้าง ๆ ว่า Hypermarket นั้น มีพลังและส่งผลกระทบในมิติทางสังคมในวงกว้าง ภาพนั้นชัดชึ้น เมื่อสังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ตกอยู่ในกำมือกลุ่มธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง ตลอดช่วงกว่าทศวรรษ (2542-2556) จากนั้น เป็นช่วงเวลาการขยายเครือข่ายเชิงรุก

ในบางช่วงใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามกำหนดนโยบายควบคุมธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อจำกัดบทบาท การคุกคาม ทำลายค้าปลีกแบบเก่า โดยเฉพาะร้านโชห่วย หรือตลาดสด แต่ดูเหมือนเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่ววูบ บางคนเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนอิทธิพลเครือข่ายธุรกิจระดับโลก

"ประเทศไทยเป็นหนึ่ง ในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในตลาดอาเซียนด้วยการนำเสนอรูปแบบร้านค้าปลีกที่ทันสมัย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่มาก เนื่องจากการค้าปลีกรูปแบบเดิมยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น" (รายงานประจำปี 2557 บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์) ซึ่งขณะนั้นถือหุ้นใหญ่และบริหารอย่างเบ็ดเสร็จโดย Casino Group มองสังคมไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งให้ภาพอิทธิพลระบบค้าปลีกสมัยใหม่เช่นกัน

จากดีลซีพี-Makro (2556) มาจนถึง ทีซีซี-Big C ถือเป็นความต่อเนื่องสำคัญ ช่วงเวลาใหม่ธุรกิจค้าปลีกไทย โดยเฉพาะโมเดลหลัก-Hypermarket จากอยู่ในกำมือธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง ค่อย ๆ พลิกโฉม ถ่ายโอนมาอยู่ในอำนาจธุรกิจใหญ่ไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ปรากฏการณ์จากผลพวง Big C และกรณีเกี่ยวข้องในปี 2559 ให้ภาพความเคลื่อนไหวธุรกิจค้าปลีกไทย กำลังมุ่งสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง

ความจริง แนวทางและไอเดียข้างต้น ปรากฏร่องรอยมาตั้งแต่ปี 2556 เมื่อกลุ่มซีพีสร้างฐานธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่ เชื่อกันว่ามีความมุ่งหมายเป็นเจ้าของเครือข่ายค้าปลีกระดับภูมิภาค "ซีพี ออลล์" เตรียมพร้อมรับ AEC ซื้อกิจการ "แม็คโคร" หวังใช้เป็นช่องทางนำสินค้า SMEs และสินค้าเกษตรไทยลุยตลาดอาเซียน" ถ้อยแถลงดีลซีพี-Makro ในเวลานั้น (http://www.cpall.co.th-- 23 เมษายน 2556) แม้ได้ผ่านไปจนถึงวันนี้ประมาณ 3 ปี Makro กำลังสาละวนกับการปรับตัว ปรับโมเดล เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ซีพี ดูเหมือนจะแตกต่างจาก Hypermarket มากยิ่งขึ้น (จะนำเสนอในโอกาสต่อไป) "ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน..." สารจากประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสยามแม็คโคร (http://www.siammakro.co.th/investor.php) กล่าวถึงแผนงานในปี 2559 น่าที่จะเกี่ยวกับ AEC ไว้กว้าง ๆ

ขณะที่ทีซีซีกับเซ็นทรัลรุดหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง แม้จะดำเนินไปตามแผนการ โมเดลและยุทธศาสตร์ธุรกิจที่แตกต่างกัน


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลมหายใจค้าปลีก ผลพวง Big C (2)

view