สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศักยภาพแข่งขันเอเชียร่วง เผชิญจีนชะลอ-น้ำมันถูก.

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ศักยภาพแข่งขันเอเชียร่วง เผชิญจีนชะลอ-น้ำมันถูก

สถาบันประเมินจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (ไอเอ็มดี) เปิดเผยการจัดอันดับ 61 ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุด พบว่าสหรัฐเสียอันดับ 1 ให้แก่ฮ่องกงเป็นปีแรกในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา และยังร่วงไปอยู่อันดับ 3 ในปี 2016 ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ขึ้นแซงหน้าเป็นอันดับ 2 แม้สหรัฐจะยังครองตำแหน่งประเทศที่มีศักยภาพเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงสร้างพื้นฐานทั่วไปและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี มากที่สุดอันดับ 1

ทั้งนี้ ในรายงานของไอเอ็มดีจะวัดปัจจัย 4 ด้านหลัก ได้แก่ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาล ธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน

อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการไอเอ็มดี เปิดเผยกับนิตยสารฟอร์บส์ ว่า ฮ่องกงเป็นประเทศที่มีระบบการกำกับและควบคุมดูแลที่ดี รวมถึงมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับธุรกิจและมีการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน ขณะที่ยังลงทุนในด้านการศึกษาและมีภาครัฐที่ดี ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของพื้นที่ที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก โดยฮ่องกงคว้าตำแหน่งอันดับ 1 ในด้านศักยภาพของรัฐบาล เมื่อเทียบกับสหรัฐที่อยู่อันดับที่ 25

อย่างไรก็ตาม บริส ระบุว่า ภาพรวมศักยภาพการแข่งขันเอเชียกลับตกลง โดยอันดับการแข่งขันของชาติเอเชียปรับลดลง เช่น ไต้หวัน ที่ตกลงมาจากอันดับที่ 11 ในปี 2015 เป็นอันดับที่ 14 ในปี 2016 ขณะที่มาเลเซียจากอันดับที่ 14 มาอยู่อันดับที่ 19 และเกาหลีใต้ที่ตกลงแรงจากอันดับที่ 25 มาอยู่อันดับที่ 29

ผู้อำนวยการไอเอ็มดี ระบุว่า ประเทศในเอเชียที่อันดับปรับลดลงส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ในขณะที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ค่าเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้น และงบดุลทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐที่เสียสมดุลไป


4 ชาติอาเซียนอันดับร่วง

สำหรับประเทศขนาดไม่ใหญ่เช่นเดียวกับฮ่องกงอย่างสิงคโปร์ อันดับร่วงลงไปจากอันดับ 3 ในปี 2015 เป็นอันดับที่ 4 ในปี 2016 โดย คริสโตส
คาโบลิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มดี ระบุว่า แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ แต่สิงคโปร์ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย คู่ค้าหลักที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันถูก

นอกจากนี้ มานู พาสการาน ผู้ก่อตั้งศูนย์ปรึกษาภูมิภาคเอเชีย เว็บไซต์ที่ติดตามเศรษฐกิจเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ต้นทุนในการทำธุรกิจมีผลต่ออันดับของสิงคโปร์เช่นกัน โดยผู้ตอบผลสำรวจของไอเอ็มดีเพียง 1.5% ที่คิดว่าต้นทุนการทำธุรกิจเป็นปัจจัยใหญ่ในปี 2016 ลดลงจากปี 2015 ที่ 7.3% แต่ต้นทุนสูงกลับเป็นตัวฉุดปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น ความมั่นคงของนโยบายและการสามารถคาดเดาได้ของนโยบาย รวมถึงสิ่งแวดล้อมการทำธุรกิจ

ด้านมาเลเซีย ดาโต๊ะ โมห์ด ราซาอิล ฮุสเซน ผู้อำนวยการกลุ่มศักยภาพการผลิตมาเลเซีย ภายใต้กระทรวงพาณิชย์มาเลเซีย เปิดเผยว่า มาเลเซียได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการแข็งค่าขึ้นของเงินเหรียญสหรัฐที่กดดันความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ เรื่องอื้อฉาวกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย (วันเอ็มดีบี) ยังกระทบต่อมุมมองของมาเลเซียในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถามของไอเอ็มดี

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียตั้งเป้าที่จะขึ้นไปอยู่ใน 10 อันดับแรกให้ได้ภายในปี 2020 เนื่องจากตามรายงานของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ศักยภาพการผลิตและนวัตกรรมของมาเลเซียยังคงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับฟิลิปปินส์ร่วงลงจากอันดับที่ 41 เป็น 42 โดยสถาบันเพื่อการจัดการเอเชียของศูนย์นโยบายเพื่อการแข่งขันอาร์เอสเอ็นในฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า แม้ฟิลิปปินส์จะยังทำได้ดีในด้านศักยภาพรัฐบาล ศักยภาพเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจกลับร่วงลงจากอันดับที่ 34 เป็นอันดับที่ 68 จากทั้งหมด 61 ชาติ

นอกจากนี้ แม้ฟิลิปปินส์จะอยู่อันดับ 2 ในด้านการยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากภายนอกและอันดับ 3 ในการประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็
ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะปัจจัยรองอื่นๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ โดยฟิลิปปินส์อยู่อันดับที่ 57 ของราคาอาหาร หรือการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ที่อันดับ 42

ด้านอินโดนีเซีย อันดับร่วงลงจาก 42 เป็น 48 ในปี 2016 โดยปัจจัยทั้ง 4 ด้าน ทั้งศักยภาพเศรษฐกิจ เอกชน รัฐบาล และโครงสร้างพื้นฐาน ต่างปรับลดลงมา โดยศักยภาพของภาคเอกชนร่วงลงมากที่สุด


แนะเกาหลีใต้ปฏิรูปเอกชน-แรงงาน

อันดับความสามารถในการแข่งขันโลกของเกาหลีใต้ร่วงลงจากอันดับที่ 25 เป็นอันดับที่ 29 ในปี 2016 นี้ โดยเป็นผลมาจากศักยภาพของภาคเอกชนที่ร่วงลงไปถึง 11 อันดับ จากอันดับที่ 37 มาอยู่ที่ 48

“อันดับที่แย่ลงของเราเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ปัญหาการปรับโครงสร้างเอกชน และปัญหาจริยธรรมของภาคเอกชน” กระทรวงการคลังเปิดเผยในแถลงการณ์

ด้านหนังสือพิมพ์โคเรียไทมส์ ระบุว่า เรื่องอื้อฉาวล่าสุดในภาคเอกชนที่เกิดขึ้น คือกรณีของเรกคิทท์ เบนคีเซอร์ ผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ ทำให้ผู้ใช้เกิดเป็นผดขึ้น และทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 220 รายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ยังลดลงจากอันดับที่ 15 มาอยู่อันดับที่ 21 จากบรรดาทั้งหมด 61 ชาติ โดยเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ขยายตัว 2.6% ในปี 2015 ชะลอตัวลงจาก 3.3% ในปี 2014

ด้านไอเอ็มดี แนะนำให้เกาหลีใต้เร่งปฏิรูปภาคเอกชนและตลาดแรงงาน รวมถึงมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในแผนการกระตุ้นแรงซื้อภายในประเทศ และการสร้างงานสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศักยภาพแข่งขันเอเชีย ร่วง จีนชะลอ น้ำมันถูก.

view