สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หวั่นภาษีที่ดินซ้ำรอยภาษีมรดก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ เป็นการเสนอครั้งที่ 2 ของกระทรวงการคลัง ในรอบแรกคลังเสนอไปเมื่อปลายเดือน เม.ย. แต่ถูก ครม.ตีกลับมาให้ไปปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายอีกครั้ง โดยในครั้งนั้น ครม.ให้ทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแม่เข้ามาทั้งแผงให้เห็นชอบทั้งหมด เพื่อให้เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็สามารถใช้ได้ทันที หลังจากที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายเพิ่มเติมอีก

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การยกเว้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยที่เป็นบ้านหลังแรก จำเป็นต้องยกเว้นสำหรับบ้านที่มีมูลค่าที่เหมาะสม เพราะหากที่ดินอยู่ในย่านสีลมหรือกลางเมือง ราคาจะสูงกว่าที่ดินในชานเมือง ดังนั้นต้องกำหนดอัตราที่กว้างเพื่อให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย

อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ยังมีข้อถกเถียง เพราะยังมีความเห็นต่างในเรื่องของการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินที่กำหนดเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาท อาจจะสูงเกินไปก็จะทำให้การออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินเหมือนกับการที่รัฐบาลออกกฎหมายเก็บภาษีมรดกที่ทำมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเดิมคลังเสนอให้เก็บภาษีมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ในอัตรา 10% แต่พอในชั้นการพิจารณาของ สนช. มีการแก้ไขให้เก็บภาษีมรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตราที่ลดลงเหลือ 5% เท่านั้น ทำให้การเก็บภาษีมรดกกลายเป็นแค่กฎหมายในเชิงสัญลักษณ์เพื่อความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำได้จริง

“หากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างล้มเหลว ก็เหมือนกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศล่มไปด้วยและการปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งนี้ เป็นการวางรากฐานสำคัญของระบบงบประมาณ เพราะต่อไปนี้จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเอง เมื่อมีรายได้มากเพียงพอก็ไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมาอุดหนุนอีกต่อไป รัฐบาลสามารถนำเงินไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่น” แหล่งข่าวเปิดเผย

ก่อนหน้านี้ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ครม.เห็นชอบ เห็นว่าไม่ควรเก็บภาษีกับบ้านหลังแรกที่ใช้เพื่ออยู่อาศัย เนื่องจากเป็นปัจจัยดำรงชีพขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตามจะมีการกำหนดราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่มูลค่าเกินระดับหนึ่งให้เสียภาษีแต่จะเป็นอัตราที่ไม่สูง ส่วนบ้านที่ไม่ใช้อาศัย ให้คนอื่นเช่าหรือใช้สำหรับพักตากอากาศจะต้องเสียภาษีในอัตราปกติ

อภิศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่เก็บภาษีบ้านเพื่ออยู่อาศัย การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ยังทำให้รัฐบาลเก็บรายได้เพิ่ม 3-4 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่รัฐบาลเสียไปจากการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา 3.2 หมื่นล้านบาท ทำให้การเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ในส่วนของการเก็บภาษีนิติบุคคล คาดว่าจะมีการขยายฐานภาษีได้เพิ่มมากขึ้นจากการออกมาตรการบัญชีเดียว และการทำระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนต์ นอกจากนี้กรมสรรพากรได้ปรับการทำงาน มีการดึงกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบภาษีเข้ามาในระบบภาษีมากขึ้น ที่ผ่านมาได้มีการให้ผู้ประกอบการร้านค้าทองเข้ามาอยู่ในระบบ และจะมีการดำเนินการกับผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆ เข้ามาต่อเนื่อง



สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หวั่นภาษีที่ดิน ซ้ำรอย ภาษีมรดก

view