สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

20 คำถามที่ต้องรู้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ - กระทรวงการคลังได้จัดทำ 20 คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อตอบคำถามและอธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าทำไมต้องมีการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มิถุนายน มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

1.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีประเภทใหม่ที่รัฐบาลจะนำมาใช้เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้จากภาษีประเภทอื่นไม่เพียงพอกับรายจ่ายของรัฐบาลใช่หรือไม่

คำตอบ : ไม่ใช่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีประเภทใหม่ที่จะนำมาใช้จัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจะเป็นของ อปท. เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินหรือรายได้ของรัฐบาล

2.ทำไมจึงต้องนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้จัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่

คำตอบ : พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 เป็นกฎหมายที่ออกมานาน ทำให้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่มีปัญหาและข้อจำกัดเกี่ยวกับฐานภาษี อัตราภาษี และการลดหย่อนภาษีที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้ อปท.มีรายได้ไม่เพียงพอในการพัฒนาท้องถิ่น รัฐบาลจึงต้องจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนเพิ่มเติม

3.การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคาดว่าจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

คำตอบ : 1.ลดความเหลื่อมล้ำ ผู้มีทรัพย์สินมูลค่าสูงมีภาระต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ เกิดความเป็นธรรม และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 2.เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการประเมินภาษีกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร กระตุ้นให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน 3.อปท.มีรายได้เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการลงทุนและจัดบริการสาธารณะที่มีคุณภาพต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วม กระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่มีการตรวจสอบการดำเนินงานของ อปท.ว่ามีการเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

4.ใครคือผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

คำตอบ : 1.เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2.เจ้าของอาคารชุด และ 3.ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ

5.หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี

คำตอบ : เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

6.ทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ทรัพย์สินประเภทใดบ้าง

คำตอบ : ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษีประกอบด้วยทรัพย์สินต่าง ๆ ดังนี้ 1.ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน 2.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ 3.ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วย งานของรัฐ หรือในกิจการสาธารณะ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์ 4.ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการของสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันให้ยกเว้นภาษีตามสนธิสัญญาหรือความตกลง 5.ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลของต่างประเทศตามหลักถ้อยที ถ้อยปฏิบัติต่อกัน 6.ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย 7.ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใด เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ 8.ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน 9.ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิหรือองค์การที่ประกอบกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์ 10.ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อ สาธารณประโยชน์หรือทรัพย์สินของเอกชนที่ได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ใช้หรือหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น 11.ทรัพย์ส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 12.ทรัพย์สินตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

7.ภาระภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปีจะต้องคำนวณอย่างไร

คำตอบ : ฐานภาษีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินรวมกับสิ่งปลูกสร้าง

วิธีการคำนวณภาระภาษีในแต่ละกรณี

กรณีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง

ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี

ทั้งนี้กำหนดให้ มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน

กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี

ทั้งนี้กำหนดให้ มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน

มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) ? ค่าเสื่อมราคา

กรณีห้องชุด

ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี

ทั้งนี้ กำหนดให้ มูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)

กรมธนารักษ์จะเป็นผู้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด และอัตราค่าเสื่อมราคา

8.สิ่งปลูกสร้างมีการหักค่าเสื่อมราคาอย่างไร

คำตอบ : การหักค่าเสื่อมราคาของสิ่งปลูกสร้างมีรายละเอียด ดังนี้

ประเภทตึก ปีที่ 1-10 หักค่าเสื่อมร้อยละ 1 ต่อปี, ปีที่ 11-42 หักค่าเสื่อมร้อยละ 2 ต่อปี, ปีที่ 43 เป็นต้นไป หักค่าเสื่อมร้อยละ 76 ตลอดอายุการใช้งาน

ประเภทตึกครึ่งไม้ ปี 1-5 หักค่าเสื่อมร้อยละ 2 ต่อปี, ปี 6-15 หักค่าเสื่อมร้อยละ 4 ต่อปี, ปีที่ 16-21 หักค่าเสื่อมร้อยละ 5 ต่อปี, ปีที่ 22 เป็นต้นไป หักค่าเสื่อมร้อยละ 58 ตลอดอายุการใช้งาน

ประเภทไม้ปีที่ 1-5 หักค่าเสื่อมร้อยละ 3 ต่อปี, ปีที่ 6-15 หักค่าเสื่อมร้อยละ 5 ต่อปี, ปีที่ 16-21 หักค่าเสื่อมร้อยละ 7 ต่อปี ปีที่ 19 เป็นต้นไป หักค่าเสื่อมร้อยละ 93 ตลอดอายุการใช้งาน

9.สิ่งปลูกสร้างที่จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไรบ้าง

คำตอบ : สิ่งปลูกสร้างที่จะต้องนำมาคำนวณหามูลค่าเพื่อเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ โรงเรือน อาคาร ตึก หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือที่ใช้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม และให้หมายความรวมถึงห้องชุดหรือแพ ที่บุคคลอาจใช้อยู่อาศัยได้หรือที่มีไว้เพื่อหาผลประโยชน์ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องจักรหรือส่วนควบที่สำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำ เครื่องกำเนิดสินค้า หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

10.ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ว่า อปท.มีการประเมินภาษีที่ถูกต้องแล้ว

คำตอบ : อปท.จะต้องประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ จำนวนภาษีที่ต้องชำระ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษีในแต่ละปี ณ สำนักงานหรือที่ทำการของ อปท. ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของปีภาษีนั้น และหากผู้เสียภาษีเห็นว่าข้อเท็จจริงตามประกาศดังกล่าวไม่ถูกต้อง สามารถอุทธรณ์ให้ผู้บริหารท้องถิ่นพิจารณาทบทวนและแก้ไขให้ถูกต้องได้

11.อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีการกำหนดไว้อย่างไร และใครเป็นผู้กำหนดอัตราภาษี

คำตอบ : อัตราภาษีที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. จะเป็นอัตราเพดานภาษีสูงสุด ไม่ใช่อัตราที่จะใช้จัดเก็บจริง โดยจะแบ่งอัตราตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

1.เกษตรกรรม อัตราเพดานร้อยละ 0.2 2.ที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.5 3.อื่น ๆ (เช่น พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม) ร้อยละ 2 และ 4.ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน ร้อยละ 5

สำหรับอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดโดยรัฐบาล และออกเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยอัตราภาษีที่จัดเก็บจริงจะกำหนดไว้ ดังนี้ 1.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทเกษตรกรรม และบ้านพักอาศัยหลังหลัก เพื่อเป็นการลดภาระให้แก่เกษตรกรและเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง จึงกำหนดอัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทเกษตรกรรม และบ้านพักอาศัยหลังหลัก ดังนี้ หากไม่เกิน 50 ล้านบาท จะยกเว้นภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง, หากเกินกว่า 50 ล้านบาท ไม่เกิน 100 ล้านบาท จะถูกเรียกเก็บร้อยละ 0.05 และหากเกินกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป จะถูกเรียกร้อยละ 0.10

2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทบ้านพักอาศัยหลังที่ 2 ในส่วนของผู้ที่เป็นเจ้าของที่พักอาศัยหลายหลัง จะต้องเสียภาษีสำหรับที่พักอาศัยหลังอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้เป็นบ้านพักอาศัยหลังหลักในอัตราดังนี้ มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.03, เกินกว่า 5 ล้าน ไม่เกิน 10 ล้าน อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.05, เกินกว่า 10 ล้าน ไม่เกิน 20 ล้าน อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.10, เกินกว่า 20 ล้าน ไม่เกิน 30 ล้าน อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง 0.15, เกินกว่า 30 ล้าน ไม่เกิน 50 ล้าน อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.20, เกินกว่า 50 ล้าน ไม่เกิน 100 ล้าน อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.25 และสุดท้าย เกินกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.30

3.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทอื่น ๆ สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือไปจากใช้เพื่อการเกษตรและพักอาศัย กฎหมายกำหนดให้เสียภาษีในอัตรา ดังนี้ มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 20 ล้าน อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.3 มูลค่าทรัพย์สิน 20 ล้าน แต่ไม่เกิน 50 ล้าน อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.5, มูลค่าทรัพย์สินเกิน 50 ล้าน แต่ไม่เกิน 100 ล้าน อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริง ร้อยละ 0.7 หากเป็นมูลค่าทรัพย์สินเกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้าน ถูกเรียกอัตราภาษี ร้อยะ 0.9 หากเป็นมูลค่าทรัพย์สิน 1,000 ล้าน แต่ไม่เกิน 3,000 ล้าน ถูกเรียกเก็บภาษี ร้อยละ 1.2 และเกินกว่า 3,000 ล้านบาทขึ้นไป ถูกเรียกเก็บ ร้อยละ 1.5

12.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

คำตอบ : กรณีที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงและปรับเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

13.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการบรรเทาภาระภาษีหรือไม่ อย่างไร

คำตอบ : กฎหมายให้อำนาจทั้งรัฐบาลและผู้บริหารท้องถิ่นในการบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.การบรรเทาภาระภาษีโดยรัฐบาล รัฐบาลสามารถตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อบรรเทาภาระภาษี มีมาตรการดังนี้ 1.1ลดภาษีให้ไม่เกินร้อยละ 75 ของภาระภาษีที่ต้องเสีย สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เช่น บ้านพักอาศัยหลักซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาจากการรับมรดกก่อนที่พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบังคับใช้ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับกิจการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น 1.2 ลดอัตราภาษีให้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เช่น ลดอัตราภาษีให้กับที่ดินที่เจ้าของ ซื้อมาเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นเวลา 1 ปี และที่ดินที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อมาเพื่อพัฒนาเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขายเป็นเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่เป็นของตนเอง เป็นต้น

2.การลดและยกเว้นภาษีโดยผู้บริหารท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย สามารถทำได้ในกรณีต่อไปนี้ 2.1 กรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายมากหรือถูกทำลายให้เสื่อมสภาพ ด้วยเหตุ อันพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้โดยทั่วไป เช่น ภัยพิบัติ เป็นต้น 2.2 กรณีที่มีเหตุอันทำให้ที่ดินได้รับความเสียหายหรือทำให้สิ่งปลูกสร้างถูก รื้อถอนหรือทำลาย หรือชำรุดเสียหายจนเป็นเหตุให้ต้องทำการซ่อมแซมในส่วนสำคัญ เช่น ไฟไหม้ เป็นต้น

14.การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรและเจ้าของที่พักอาศัยหรือไม่

คำตอบ : ไม่มีผลกระทบ เนื่องจากเกษตรกรและเจ้าของที่พักอาศัยส่วนใหญ่จะได้รับยกเว้นภาษี สำหรับภาคเกษตรกรรมที่ดินเกือบทั้งหมดใช้ทำการเกษตรกรรม หรือคิดเป็นร้อยละ 99.99 ของที่ดินเกษตรทั้งประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2556) มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งอัตราภาษีที่จะใช้จัดเก็บอยู่ที่ร้อยละ 0 ดังนั้น เกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะได้ประโยชน์จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ต่อมาเจ้าของที่พักอาศัย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง ที่พักอาศัยที่เจ้าของใช้เป็นบ้านหลักเกือบทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากที่พักอาศัยที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 99.96 ของที่พักอาศัยทั้งหมด (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2556) ส่วนที่พักอาศัยที่เจ้าของใช้เป็นบ้านหลักที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งทั่วประเทศมีทั้งหมดประมาณ 8,500 หลัง จะต้องเสียภาษีโดยคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท

15.บ้านที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเองกับบ้านที่เจ้าของให้ผู้อื่นเช่าจะเสียภาษีเหมือนกันหรือไม่

คำตอบ : บ้านที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเองกับบ้านที่เจ้าของให้ผู้อื่นเช่าจะต้องเสียภาษีต่างกัน โดยบ้านที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเองจะต้องเสียภาษีในอัตราของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทบ้านพักอาศัย แต่การให้เช่าบ้านเป็นการทำธุรกิจ ซึ่งเจ้าของได้รับผลตอบแทนจากการให้เช่าดังกล่าว จึงต้องเสียภาษีในอัตราของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทอื่น ๆ เช่นเดียวกับห้องชุดที่มีกรรมสิทธิ์และห้องชุดที่มีสิทธิการเช่าระยะยาว

16.เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และ SMEs จะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่

คำตอบ : ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะอัตราภาษีที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายจะใกล้เคียงกับอัตราภาษีที่เสียอยู่ในปัจจุบัน

17.กรณีธุรกิจบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการซื้อที่ดินมาเก็บไว้เพื่อรอการพัฒนาเชิงธุรกิจ รวมถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการขาย จะมีการจัดเก็บภาษีที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาจะเสียภาษีในอัตราของที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ภาระต้นทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น

คำตอบ : เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่เป็นของตนเอง และลดภาระภาษีที่ประชาชนผู้ซื้อที่อยู่อาศัยถูกผู้ประกอบการผลักภาระมาให้ รัฐบาลจึงลดอัตราภาษีสำหรับที่ดินที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ซื้อมาเพื่อพัฒนาเป็นโครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย โดยให้จัดเก็บภาษีในอัตราต่ำที่ร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เจ้าของที่ดินหรือผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำหรับที่ดินประเภทดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป

18.กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทรัพย์ส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรรหรืออาคารชุด จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่

คำตอบ : ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรรหรืออาคารชุดที่ไม่มีการนำไปหาประโยชน์ตอบแทนจากทรัพย์สินดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

19.กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท เช่น กรณีอาคาร 2 ชั้นที่เจ้าของเปิดเป็นร้านค้าชั้นล่าง ส่วนชั้น 2 ใช้เป็นที่พักอาศัยของตนเอง จะเสียภาษีในอัตราเท่าใด

คำตอบ : เสียภาษีตามลักษณะของการใช้ประโยชน์จริง

20.จะเริ่มเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อไหร่

คำตอบ : จะเริ่มเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2560 ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องจัดเตรียมพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และประกาศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดำเนินการในด้านอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ที่มา : มติชนออนไลน์


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 20 คำถามที่ต้องรู้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

view