สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลอดภาษีที่ดิน ทำปฏิรูปภาษีถอยหลัง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ในที่สุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้เก็บแทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น

สาระสำคัญของภาษีที่ดินฯ จะเก็บ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด แบ่งการเก็บภาษี 3 กลุ่ม ตามการใช้ประโยชน์จากราคาประเมิน ได้แก่ กรณีที่ 1 ที่ดินเกษตรกรรมเก็บภาษีอัตราไม่เกิน 0.2% ส่วนการเก็บจริงจะยกเว้นภาษีที่ดินส่วนไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินเก็บภาษีตั้งแต่ 0-0.1%

กรณีที่ 2 ที่ดินพักอาศัย อัตราภาษีไม่เกิน 0.5% เก็บจริงยกเว้นบ้านหลังแรกในส่วนราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.05-0.1% ในส่วนบ้านหลังที่สองเสียภาษี 0.03-0.3% ของมูลค่าบ้านทั้งหมดไม่มีการยกเว้น

กรณีที่ 3 การใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เก็บภาษีไม่เกิน 2% แต่อัตราเก็บจริง 0.3-1.5%

สำหรับที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน อัตราภาษีไม่เกิน 5% ส่วนอัตราเก็บจริงให้เก็บเพิ่มทุก 3 ปี ตั้งแต่ 1-3%

การออกกฎหมายภาษีที่ดินฯ ครั้งนี้ได้รับการต่อต้านจากสังคมน้อย เพราะมีการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินในส่วนของการทำเกษตรและที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านบาท ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบเสียภาษีมีจำนวนที่น้อยมาก โดยกระทรวงการคลัง ระบุว่า บ้านที่ราคาเกิน 50 ล้านบาท มีอยู่จำนวน 0.04% ของบ้านทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนหลังมีอยู่เพียง 8,556 หลังเท่านั้น

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง บอกว่า การเก็บภาษีที่ดินฯ มีความเหมาะสมและเป็นธรรม เพราะคนที่มีบ้านราคาแพงเสียมาก คนมีน้อยเสียน้อย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องช่วยเหลือคนทำการเกษตร และต้องการให้คนมีบ้านที่อยู่อาศัย

หากพิจารณาภาษีที่ดินที่ออกมาครั้งนี้ ในแง่ดีต้องถือว่ารัฐบาลทำให้คนที่มีบ้านพักอาศัยเกือบทั้งประเทศไม่ต้องมีภาระภาษีที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แม้แต่คนที่เคยเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายเดิมก็ไม่ต้องจ่ายอีกต่อไปเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีที่ดินฯ ที่ออกมาอาจไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลตั้งไว้ คือ การลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน และการเพิ่มการจัดเก็บรายได้

อันดับแรก ภาษีที่ดินฯ ที่ออกมาไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะคนรวยมีบ้านต้องเสียภาษีมีอยู่หยิบมือ คือเพียง 8,556 หลังเท่านั้น ตามที่ข้อมูลของกระทรวงการคลังระบุไว้ข้างต้น นอกจากนี้ คนรวยที่มีบ้านราคาแพงจำนวนหลายหลังก็ยังคงเลี่ยงการจ่ายภาษี โดยให้เป็นชื่อของสามี ภรรยา ลูกหลาน ซึ่งตามกฎหมายคือบ้านหลังแรกจะได้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเริ่มเสียภาษีในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เป็นต้นไป โครงสร้างนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีที่ดินฯ จากคนรวยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้การลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ผลตามไปด้วย

ลักษณะดังกล่าวยังโยงไปถึงการเก็บภาษีบ้านหลังที่สองจะทำได้ยากทั้งระบบ ทำให้บ้านที่ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ควรจะเป็นบ้านหลังที่สองโดยไม่ต้องเสียภาษี ถูกโอนเปลี่ยนชื่อไปเป็นชื่อคนอื่นให้เป็นเจ้าของบ้านหลังแรกจะได้ไม่ต้องเสียภาษี กฎหมายภาษีที่ดินฯ ที่ออกมาจึงมีช่องโหว่เต็มไปหมด ทำให้คนเลี่ยงเสียภาษีอย่างถูกกฎหมายกันเป็นระบบทั้งประเทศ

สำหรับการคิดจะไปเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าของคนรวยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะกรณีที่เป็นที่ในเมืองแพงเป็นร้อยเป็นพันล้านบาท ก็สามารถนำไปทำการเกษตรไม่ว่าจะปลูกข้าว ปลูกผักกลางเมืองขายหารายได้ ก็จะได้สิทธิเสียภาษีที่ดินทำการเกษตรที่เสียภาษีจริงในอัตราที่ต่ำมาก

เช่นเดียวกับที่ดินรกร้างว่างเปล่าของคนรวยในต่างจังหวัดที่มีอยู่เป็นร้อยเป็นพันล้านบาท ก็สามารถจ้างคนมาทำการเกษตร หรือปล่อยให้เช่าทำการเกษตรก็เสียภาษีต่ำเช่นกัน ถึงแม้จะทำให้เกิดการใช้ที่ดินมากขึ้น แต่ผลประโยชน์ก็ยังตกอยู่กับคนรวยที่ดิน ไม่ได้กระจายไปถึงคนที่ไม่มีที่ดิน คนมีรายได้น้อย การออกกฎหมายที่ดินฯ จึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแทบไม่ได้เลย

อันดับต่อมา การเก็บภาษีที่ดินฯ ที่คลอดออกมาไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่นได้จริง เพราะฐานการเก็บภาษีแคบลง เนื่องจากการยกเว้นภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัยในส่วนไม่เกิน 50 ล้านบาท การเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าทำได้ยาก เก็บจริงได้น้อย มีเหลือแต่ที่ดินเพื่อการพาณิชย์เท่านั้น ดังนั้นการประเมินการเก็บภาษีที่ดินฯ จะทำให้รายได้จากท้องถิ่นที่คิดว่าจะเก็บได้เพิ่มจาก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ อาจจะสูงเกินจริง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่โครงสร้างใหม่ ทำให้เก็บภาษีที่ดินได้เพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่เพิ่มยังทำให้รายได้ท้องถิ่นไม่เพียงพอ ปัจจุบันรัฐบาลเก็บภาษีน้ำมัน สุรา บุหรี่ และภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นแล้ว ยังต้องใช้เงินงบประมาณอุดหนุนรายได้ให้กับท้องถิ่นอีกปีละ 2.5-2.8 แสนล้านบาท ซึ่งแต่เดิมกระทรวงการคลังคาดว่าการเก็บภาษีที่ดินฯ จะทำให้รายได้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมากจนไม่ต้องส่งเงินสนับสนุน เพราะเดิมมีแนวคิดเว้นการเก็บภาษีที่ดินการเกษตรและที่อยู่อาศัยไม่เกิน 2 ล้านบาทเท่านั้น และไม่มีการยกเว้นภาษีให้บ้านหลังแรกหรือหลังที่สอง จะถือครองกี่หลังส่วนที่เกิน 2 ล้านบาท ต้องเสียภาษีทุกหลัง

ภาษีที่ดินฯ ที่ออกมายังส่งผลกระทบสำคัญ คือทำให้คนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศไม่ตระหนักการเสียภาษีจากทรัพย์สินเพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศที่ยังต้องใช้เงินอีกมาก เพราะภาษีที่ดินฯ ที่ออกมาทำให้คนที่มีบ้าน 99% ไม่ต้องเสียภาษี มีคนไม่ถึง 1% ต้องเสียภาษี ทั้งที่ควรจะกลับกันคือคน 99% ต้องเสียภาษี และคนอีก 1% ที่มีรายได้น้อยเป็นคนจน มีบ้านอยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 หรือ 2 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี

ยังไม่รวมถึงภาษีที่ดินฯ ที่ออกมา ยังตัดสิทธิของคนที่อยากเสียภาษีให้กับประเทศ จากที่ก่อนหน้านี้มีการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่สำหรับคนที่มีที่ดินอยู่อาศัยตั้งแต่ 50-100 ตารางวา ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่คนละ 100-200 บาท ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนภูมิใจ แต่กฎหมายที่ออกมาแบบยกเข่งให้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษีอีกต่อไป

สมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินทำลายการปฏิรูปภาษีของประเทศ ทำลายแก่นสำคัญของการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ต่างประทศทั่วโลกใช้กัน คือ การเก็บภาษีจากทุกคนที่มีบ้านอยู่อาศัย เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าหากมีทรัพย์สินบ้านราคาแพงก็ต้องเสียภาษีมาก บ้านราคาถูกก็เสียน้อย เหมือนกับการมีรถยนต์ไม่ว่าคันเล็กคันใหญ่ แม้แต่รถอีโคคาร์ หรือ มอเตอร์ไซค์ ก็ยังต้องเสียภาษีทุกปี ซึ่งการเสียภาษีบ้านก็ควรหลักการเดียวกันคือ ทุกคนต้องเสียภาษี หากจะมีการยกเว้นก็ควรให้สำหรับคนจน ผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เช่น ในสมัยที่สมหมายเป็น รมว.คลัง เห็นว่าควรเว้นให้บ้านไม่เกิน 2 ล้านบาท และภาระภาษีของบ้านราคาที่สูงกว่านั้นก็ไม่ควรแพงกว่าการเสียภาษีรถยนต์หรือจ่ายค่าเพย์ทีวีรายเดือน

ที่ผ่านมารัฐบาลเร่งปฏิรูปภาษีประเทศ เพราะเป็นปัญหาหนึ่งของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่การปฏิรูปภาษีที่ผ่านมาของรัฐบาลก็ได้ทำ แต่ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีมรดกที่ออกมาได้แค่เชิงสัญลักษณ์ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ แต่แก้ไม่ได้จริง เพราะไม่สามารถเก็บภาษีใครได้ การยกเลิกการเว้นภาษีให้คนรวย ที่สุดท้ายก็ไม่ได้ยกเลิก และยังขยายเวลาให้เพิ่มในกรณีของการขยายเวลามาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนหุ้นระยะยาวที่จะสิ้นสุดปี 2559 ออกไปอีก 3 ปี

ล่าสุดการเก็บภาษีที่ดินฯ ไม่แก้เหลื่อมล้ำ ไม่สามารถเพิ่มการเก็บรายได้ และยังทำให้คนไทยไม่รู้จักเสียภาษีจากทรัพย์สินที่เป็นทรัพยากรของประเทศ ทำให้การปฏิรูปภาษีของประเทศถอยหลังทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ยาก


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คลอดภาษีที่ดิน ปฏิรูปภาษี ถอยหลัง

view