สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

SMS กินตังค์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"SMS กินตังค์" คำนี้มีความหมายว่า ข้อความสั้น (SMS) ที่ส่งเข้ามาในมือถือของผู้ใช้บริการ แล้วเก็บเงินโดยผู้ใช้บริการไม่ได้สมัคร หรือสมัครโดยไม่รู้ตัว กรณีที่เป็น "SMS กินตังค์" นี้ ปรากฏอยู่ในประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในเรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้บริการในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งในที่นี้จะมุ่งไปที่ประเด็นที่ทำให้ผู้บริโภค "ต้องรับภาระ" ค่าบริการโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ทำให้เกิดความเสียหายจากการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากบริการ SMS ที่ไม่ได้สมัคร ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการจำนวนมาก

ขณะที่ กสทช.อธิบายถึงการส่ง SMS ว่าเป็นหนึ่งในบริการโทรคมนาคมที่ต้องยื่นขออนุญาต โดยผู้ให้บริการทุกเครือข่ายจะต้องขออนุญาตจากทาง กสทช.ก่อน และการจะให้บริการเช่นนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น



การให้บริการ SMS จะมีหลายแบบด้วยกัน คือ แบบไม่คิดค่าบริการ โดยมาในรูปของการโฆษณาประชาสัมพันธ์จากบริษัท เช่น สมัครกับ DTAC ก็จะมีให้เลือกว่าจะรับข้อความจากเครือข่ายหรือไม่ ถ้ารับสิ่งที่ทางผู้ให้บริการจะส่งให้ก็คือ ข้อความประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย

อีกแบบเป็น Content Partner คือบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตกลงกันว่าจะนำข้อความของ Content Partner ส่งให้กับผู้ใช้บริการตามเงื่อนไขและสัญญา อย่างไรก็ตาม Content Provider ยังคงมีปัญหา กล่าวคือมิได้เป็นคู่สัญญากับทางเครือข่าย ทั้งนี้ Content Provider จะมีเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้บริการเอง โดยอาจนำมาจากช่องทางใดก็ได้ที่ทางเครือข่ายไม่รู้ เช่น การให้ข้อมูลส่วนตัวในการสมัครสมาชิก หรือจากธุรกิจที่มีการฝากประชาสัมพันธ์สินค้ารวมไว้แล้วขายเลขหมายของผู้ใช้บริการให้กับ Content Provider ซึ่งในกรณีต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ประกอบการไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ Content Provider ก็ยังเป็นปัญหาในเรื่องของอำนาจการเข้าไปกำกับดูแล กล่าวคือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้นิยามคำว่า ผู้รับใบอนุญาต คือ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ครอบคลุมถึง Content Provider กสทช.จึงไม่มีอำนาจในการเข้าไปกำกับดูแล

ปัญหาของ SMS กินตังค์ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาและมีเรื่องร้องเรียนนั้น ไม่เคยมีกรณีบริษัทผู้รับใบอนุญาตกระทำความผิดเองโดยตรง ส่วนมากจะเป็น Content Provider กระทำผิด


ลักษณะหรือวิธีที่ทำให้เกิด SMS กินตังค์ เกิดขึ้นได้หลายกรณีด้วยกัน สามารถสรุปได้จากข้อมูลของผู้เสียหายจริงที่ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ pantip.com ดังนี้ 1.เพียงเปิดอ่านข้อความที่ได้รับก็เป็นการสมัครและเสียเงินแล้ว รวมถึงการเปิด SMS เพื่อต้องการลบข้อความก็เสียค่าบริการเช่นกัน, เครือข่ายส่ง SMS ถึงผู้เสียหาย โดยการสุ่มหมายเลขและคิดค่าบริการโดยที่ผู้เสียหายไม่ได้สมัคร, Content Provider สมัครบริการ SMS ให้ผู้เสียหายโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าต้องการยกเลิกข้อความกลับต้องส่งข้อความยกเลิกด้วยตัวเอง

2.เพียงแค่รับสายจากสายเรียกเข้าก็เสียเงินแล้วกล่าวคือผู้เสียหายรับสายจากเลขหมายที่โทร.เข้ามา ไม่ว่าจะให้บริการดูดวง การโทร.เข้ามาแจ้งว่าผู้ใช้บริการเป็นผู้โชคดีลุ้นรับโทร.ฟรี 500 บาท 3.มีการส่ง SMS มาให้ทดลองใช้ก่อน แต่เมื่อหมดระยะเวลาแล้วก็สมัครให้อัตโนมัติ หรือตัวอย่างเมื่อผู้เสียหายรับโทรศัพท์ ปลายสายบอกว่ามีบริการโหลดเพลงของค่ายเพลงแห่งหนึ่งโดยไม่เสียค่าบริการเป็นเวลา 7 วัน และจะส่งหมายเลขยกเลิกมาให้ แต่หมายเลขที่ส่งมานั้นไม่สามารถติดต่อได้เลย ผู้เสียหายไม่ได้ดำเนินการสมัคร จึงคิดว่าคงจะปิดไปเอง

แต่พอสิ้นเดือนปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายผิดปกติ สอบถามเครือข่ายได้คำตอบว่า "เป็นค่าใช้บริการ SMS" โดยจะยกเลิกให้ แต่ไม่จ่ายเงินคืน หรือกรณีผู้เสียหายได้รับสิทธิทดลองใช้บริการ SMS ข่าว ฟรี 1 เดือน แต่ SMS ไม่ได้แจ้งว่าหากเลยเวลาจะสมัครให้อัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายโทร.ไปยกเลิกบริการกับ Call Center ก่อนหมดเวลาหนึ่งเดือนแล้วก็ตาม แต่ยังมี SMS ข่าวส่งมาอีก เมื่อผู้เสียหายโทร.ไปสอบถามอีกครั้ง Call Center แจ้งว่า การยกเลิกครั้งแรกไม่สมบูรณ์ ผู้ใช้บริการต้องส่งข้อความไปยกเลิกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครบ 1 เดือน

ความเสียหายเดือดร้อนรำคาญที่ผู้ใช้บริการได้รับนั้นได้มีการ ทำแบบสอบถามจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิทยาเขตรังสิตพบว่ามีผู้ประสบ ปัญหาคิดเป็นร้อยละ 60 ส่วนผู้ที่ไม่เคยประสบปัญหาเลย คิดเป็นร้อยละ 40 ซึ่งกลุ่มของผู้ที่เคยประสบปัญหาร้อยละ 60 นี้ พบว่ามีผู้เสียหายจำนวนร้อยละ 38 และไม่มีการดำเนินการเรียกร้องเงินค่าบริการคืน เพราะส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเงินจำนวนไม่มากจึงไม่คุ้มค่าคุ้มเวลาที่จะไปดำเนิน การเรียกร้องจากผู้ให้บริการ

ผู้ใช้บริการจำนวนมากยอมจ่ายค่าบริการ ไปเพื่อตัดปัญหาความยุ่งยากรำคาญดังนั้นหากเป็นเช่นนี้แล้วจำนวนผู้ที่ต้อง ประสบปัญหาและไม่เรียกร้องเงินคืนนั้น หากเมื่อรวมเป็นจำนวนมากแล้ว ทำให้เงินจำนวนนี้ที่ผู้ใช้บริการต้องจ่ายไปเป็นจำนวนมหาศาล ยิ่งไม่มีการร้องเรียนหรือดำเนินการเอาผิด ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้นเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้บริการต่อไป

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า กระบวนการการร้องเรียนเพื่อให้ได้เงินคืนของผู้เสียหายนั้นมีขั้นตอนยุ่งยาก เช่น กรณีผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บค่า SMS ที่ตนไม่ได้สมัครไปเป็นเงิน 50 บาท หากไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ อาจะต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้เสียเวลา ไม่คุ้มค่า และอาจมีค่าใช้จ่ายที่เกินไปจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขเสียที

นอกจากนี้แล้ว กสทช.เองกลับมองว่า สถิติในการร้องเรียนจากผู้เสียหายกรณีเช่นนี้มีน้อยมาก ไม่สามารถชี้วัดอะไรได้ และตั้งแต่มี มาตรการ *137 และการ Reconferm การสมัคร ออกมาให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภค จำนวนผู้เสียหายยิ่งลดน้อยลง อีกทั้ง กสทช.เห็นว่าการร้องเรียนนั้นเป็น สิทธิเฉพาะตัว

อย่างไรก็ดีก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า แม้จะมีผู้ร้องเรียนเพียงแค่คนเดียว กสทช.ก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใช้บริการ เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมได้ เพราะหาก กสทช.ตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และเห็นเป็นหน้าที่รับผิดชอบ ก็สามารถออกระเบียบหรือนโยบายใหม่ที่มีผลต่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคได้

อีกประการหนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า มาตรการ *137 และมาตรการ Reconferm ของ กสทช.มีประสิทธิภาพจริงหรือ ในเมื่อ กสทช.เป็นผู้ระบุเองว่า การที่จำนวนผู้ร้องเรียนน้อย เป็นเพราะผู้เสียหายไม่ใช้สิทธิเอง ดังนั้นที่กล่าวว่ามาตรการของ กสทช.มีประสิทธิภาพจึงไม่น่าจะถูกต้อง

ปัญหาการส่งข้อความ SMS กินตังค์ สำนักงาน กสทช.ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย จัดทำช่องทางในการยกเลิกบริการ ผ่านระบบ IVR หมายเลขเดียวกันทุกเครือข่าย คือ *137 แต่อย่างไรก็ตาม การยกเลิกบริการโดย *137 นั้น มีสิทธิที่จะกลับมาได้รับ SMS อีก เพราะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด

อีกวิธีหนึ่งคือ มูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ ได้ให้คำแนะนำผู้ใช้บริการ ในขั้นตอนการเปิดหมายเลข ระบบในการสมัครตั้งแต่ต้นให้ระบุในข้อตกลงว่า "ไม่ขอให้ส่ง SMS" หรือในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่จะมีข้อสัญญาให้ผู้ใช้บริการเลือก ว่าต้องการรับ SMS ประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ หรือไม่ หากไม่ต้องการ ให้ระบุลงไปในสัญญานั้นเลย นอกจากนี้ มูลนิธิยังแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือกรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ

โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ใช้บริการ 5 ประการได้แก่ 1.สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง เพียงพอ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ปราศจากพิษภัยและเป็นธรรม 2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ปราศจากการจูงใจที่ไม่เป็นธรรม 3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการที่ได้มาตรฐาน เหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่ออันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน 4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ 5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้ใช้บริกา

ส่วนในขั้นตอนการเปิดหมายเลขโทรศัพท์ สัญญาที่ผู้รับบริการต้องลงนามนั้นมักเป็นสัญญาที่มีสัญญาซ้อนกันอยู่หลายสัญญา ซึ่งเป็น "สัญญาสำเร็จรูป" มีช่องให้ผู้รับบริการลงนามเพียงช่องเดียว ไม่สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ อันเป็น สัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ดังนั้น เรื่องของ SMS กินตังค์ นี้ ความจริงแล้วเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่เคยหมดไป ยังคงปรากฏอยู่ในสังคมจนปัจจุบัน แม้ว่าขณะนี้จะมีวิธีการในการยกเลิกได้ง่ายขึ้น โดยผ่านทาง *137 และวิธีป้องกันตั้งแต่เปิดหมายเลขโทรศัพท

แต่มาตรการหรือวิธีการทั้งหมดนี้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการแก้ปัญหา ทั้งนี้เพราะมาตรการ *137 ทำได้แต่เพียงการยกเลิก แต่ก็ไม่มีการคืนเงินที่จ่ายไปแล้วให้แก่ผู้เสียหาย อีกทั้งการยกเลิกมีการจำกัดระยะเวลา ไม่สามารถป้องกันได้ตลอด จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่ครอบคลุม

ส่วนการแจ้งไม่รับ SMS กินตังค์ ตั้งแต่เปิดหมายเลข ก็เป็นการแก้ปัญหาที่คนส่วนมากไม่รับทราบข้อมูลมาก่อนว่าทำได้ ไม่มีการแจ้งสิทธิผู้บริโภคแต่อย่างใด ส่วนมาตรการ Reconferm ทุกค่ายมีมาตรการนี้จริง แต่ก็มีปัญหาว่าต้องใช้กับโทรศัพท์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้

แม้ว่าปัจจุบันท้ายสุดแล้ว ผู้ให้บริการมักออกมารับผิดชอบ โดยการจ่ายคืนเงินค่า SMS เนื่องจากมีส่วนได้เงินผ่านโครงข่ายของผู้ให้บริการ เปรียบเสมือนการจ่ายค่าผ่านทาง อีกทางหนึ่งคือเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ไม่ใช่คืนเพราะเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเอง

แต่สำหรับผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะไม่มีหลักฐานไปยืนยันกับทางเครือข่าย

สิ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ คงได้แต่รอให้ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนตัวประกาศใช้ เพราะกฎหมายนี้ครอบคลุมไปถึง Content Provider และไม่ได้คุ้มครองเฉพาะเรื่องของ SMS แต่รวมไปถึงเรื่อง Spam Mail ด้วย

อย่างไรก็ดี กสทช.ไม่ควรรอกฎหมายนี้เพียงอย่างเดียว แต่ควรออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการไปก่อน โดยไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลา สะดวก และให้ครอบคลุมไปถึงโทรศัพท์ที่ไม่รองรับอินเทอร์เน็ต


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : SMS กินตังค์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

view