สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้หนี้ด้วยหนี้ กับดักร้ายเศรษฐกิจไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้าน และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมาตลอด 2 ปีกว่าที่เข้ามาบริหารประเทศ

ล่าสุดนายกฯ ประกาศจะใช้มาตรา 44 ของคำสั่ง คสช.แก้ไขหนี้นอกระบบ เป็นการส่งสัญญาณจริงจังว่าจะเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนที่พอกพูนจนทำให้มีหนี้สินสูงจนทำให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างไรก็ไม่ได้ผล การบริโภคและการลงทุนในประเทศไม่อาจเติบโตขึ้นมาผลักดันเศรษฐกิจทดแทนการส่งออกที่ลดลงได้

ทุกสำนักเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างชี้ไปในทางเดียวกันว่า ประเทศไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเกินไป จนเริ่มจะทำให้ติดกับดักสภาพหนี้ไปแล้ว

จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ระดับมากกว่า 80% แต่นั่นคือหนี้ในระบบของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นันแบงก์) ไม่ได้รวมหนี้นอกระบบที่ชาวบ้านใช้เป็นที่พึ่งเมื่อมีปัญหาสภาพคล่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากนับรวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงอาจจะสูงเกิน 100% ของจีดีพีไทย ที่มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท

จากผลสำรวจของกระทรวงมหาดไทย พบว่ามีประชาชนที่พึ่งพาเงินกู้นอกระบบอยู่ประมาณ 1 ล้านราย ส่วนศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ซึ่งศึกษาจากผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท พบว่าแรงงาน 95.9% มีภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 8 ปี โดย 36.4% กู้เงินเพื่อใช้จ่ายประจำวัน 15.2% ใช้ซื้อยานพาหนะ อีก 16.7% เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และอีก 16.1% กู้เพื่อใช้คืนเงินกู้ โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบ 39.38% มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8.43% ต่อปี และเป็นหนี้นอกระบบ 60.62% นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 8 ปี และอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 12.5% ต่อเดือน

นี่จึงเป็นเหตุให้ทุกรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในกลุ่มรากหญ้า คำถามคือ ทำไมความพยายามแก้ไขไม่ได้ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบลดลง นั่นเพราะทุกมาตรการเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยวิธีการให้สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้ไปใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งส่งผลให้หนี้นอกระบบลดลงชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้ารายได้ครัวเรือนไม่พอใช้หนี้ก็หันกลับไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้หนี้ในระบบ วนเวียน เป็นเช่นนี้มาตลอด

สรุปง่ายๆ คือ การแก้ไขหนี้นอกระบบด้วยวิธีการสร้างหนี้ไม่ได้ผล แต่ทุกรัฐบาลก็ดูเหมือนไม่มีทางออก ต้องใช้วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อ 6 ปีก่อน ตอนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็มีแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการรีไฟแนนซ์ ให้ประชาชนมาขึ้นทะเบียนเพื่อแก้ปัญหาและโอนหนี้ไปยังธนาคารรัฐ ทั้งธนาคารออมสินที่เน้นกลุ่มลูกหนี้ในเมือง และ ธ.ก.ส. เน้นกลุ่มลูกหนี้ชนบท โดยมีประชาชนมาขึ้นทะเบียนกว่า 1 ล้านคน และมีกระบวนการสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ประมาณ 5 แสนราย เฉลี่ยหนี้คนละ 1 แสนบาท รวมเงินทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท

การรีไฟแนนซ์ช่วยให้ลูกหนี้ลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้มาก จากเดิมที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้นอกระบบเดือนละ 5-20% ก็ลดลงเหลือเดือนละ 1% หรือปีละ 12% ซึ่งเพียงพอให้ธนาคารมีรายได้และพบว่ามีอัตราหนี้เสียน้อยมาก

กรณ์ ระบุว่า น่าเสียดายที่ในช่วงรอยต่อเปลี่ยนรัฐบาลไม่มีการสานต่อโครงการนี้ทำให้ทุกอย่างหยุดไป จากจำนวนลูกหนี้นอกระบบ 1 ล้านคน ผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้วเหลือเข้าสู่การรีไฟแนนซ์ 5 แสนราย ถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างมาก เพราะต้องตรวจสอบรายละเอียด เช่น มีรายได้หรือไม่ ถ้ามีรายได้แต่ไม่มีรายได้ประจำก็เข้าโครงการได้ ขอให้มีรายได้ ขณะที่หนี้จากการพนันก็ไม่สามารถเข้าโครงการได้ จะมีรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องตรวจสอบไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ รวมทั้งไม่กระทบไปถึงสภาพคล่องหรือระบบการทำงานของธนาคาร

รูปแบบการแก้ไขปัญหาสำหรับรัฐบาล คสช.ก็เริ่มต้นแก้ไขหนี้นอกระบบด้วยการมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบเป็นแม่งานจัดการเรื่องนี้ ที่ผ่านมา รมว.คลัง ได้ลงนามในคําสั่งกระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการกํากับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนเมื่อต้นปี 2558 และคณะกรรมการกํากับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการดําเนินงานของคณะกรรมการจํานวน 4 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน

ทั้งนี้ อนุกรรมการ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจํากรุงเทพมหานคร คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจําจังหวัด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจํากรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจําจังหวัด

ปัจจุบันสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างจัดทําคู่มือปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ สําหรับใช้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ รวมถึงยกร่างแผนประชาสัมพันธ์แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ช่องทางการขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้นอกระบบ และความรู้พื้นฐานเรื่องการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคลสําหรับประชาชน

ในระยะสั้น คลังใช้มาตรการแก้ไขปัญหาลูกหนี้นอกระบบในรูปแบบเดิมไปก่อน โดยให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้มีเงินไปหารายได้นำมาใช้หนี้นอกระบบ แต่ไม่สามารถแก้หนี้นอกระบบได้ตรงเป้า แม้แต่การแก้ปัญหาหนี้เสียครูของธนาคารออมสินที่มียอดสินเชื่อกว่า 4 แสนล้านบาท และเริ่มเป็นหนี้เสียอย่างรวดเร็ว เพราะส่วนหนี้เป็นการสร้างหนี้เกินตัวและไปเป็นหนี้นอกระบบ ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการลดดอกเบี้ยให้หนี้ครูเหลือ 4% เป็นเวลานานถึง 20 ปี ซึ่งการแก้ไขนี้เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของธนาคารออมสินมากกว่าแก้ไขหนี้นอกระบบของครู

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีแผนออกบัตรพีเพิ่ลการ์ดกดเงินสด สำหรับคนที่รายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ให้กู้วงเงิน 5 เท่า เป็นการช่วยกลุ่มฐานรากโดยเฉพาะเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นการย่ำอยู่กับที่ด้วยวิธีการแก้หนี้โดยให้เป็นหนี้เพิ่ม ทำให้การแก้ไขหนี้นอกระบบวนอยู่ในอ่าง

ล่าสุดกระทรวงการคลังเตรียมเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจะเป็นการคุมเจ้าหนี้ หรือผู้ปล่อยกู้นอกระบบให้สามารถปล่อยกู้ได้ แต่ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี หากเก็บดอกเบี้ยเกินจะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งอาจจะต้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปไล่จับเจ้าหนี้เหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เป็นการกดดันให้เจ้าหนี้นอกระบบจะต้องออกมาจากเงามืดขึ้นมาเปิดธุรกิจให้เป็นทางการ ซึ่งรัฐบาลเตรียมที่จะแยกประเภทเจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้ให้ทำธุรกิจ “พิโค ไฟแนนซ์” เปิดโอกาสให้มาจดทะเบียนตั้งบริษัท ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทวงหนี้ ไม่มีการข่มขู่ลูกหนี้ และให้คิดดอกเบี้ยได้ถึง 36%

อย่างไรก็ดี กรณ์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การที่รัฐบาล คสช.มีแนวคิดจะใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ส่วนตัวมีความกังวลใจว่าอาจจะทำให้เจ้าหนี้หลบหนีไปกบดาน เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาต้องเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่แม้จะมีความผิดเรื่องการปล่อยกู้ แต่รัฐบาลไม่ได้จะเอาเรื่อง เพียงต้องการจะเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ การแก้ปัญหาถึงจะสำเร็จได้ เพราะการรีไฟแนนซ์ยังเป็นการโอนเงินไปยังเจ้าหนี้โดยตรง เพื่อลดการก่อหนี้ซ้ำซ้อน

ดังนั้น หากจะใช้มาตรา 44 ต้องระมัดระวัง และเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดในการดำเนินการทุกขั้นตอน หากเพียงแค่กำหนดเป็นนโยบายแต่ไม่ลงไปติดตามก็อาจไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ เมื่อครั้งประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล การแก้ปัญหาในอดีตตัวเองต้องลงไปตรวจสอบทุกขั้นตอน ทุกระดับที่สำคัญเห็นว่าการแก้ปัญหาควรจะทำแบบระยะยาวยั่งยืนที่จะได้ผลดีกว่า

แม้รัฐบาลจะมีความตั้งใจที่ดี แต่การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้กับลูกหนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องปรับโครงสร้าง การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างความรวยความจนให้ได้ รวมทั้งจะต้องใช้เวลาในการให้ความรู้พื้นฐานด้านการจัดการเงินและปลูกฝังค่านิยมการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้หนี้ด้วยหนี้ กับดักร้าย เศรษฐกิจไทย

view